ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 14 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) และผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 28 แผนงาน IMT-GT
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 08 November 2022 20:44
- Hits: 909
ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 14 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) และผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 28 แผนงาน IMT-GT
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 28 แผนงาน IMT-GT ในวันที่ 16 กันยายน 2565 ณ โรงแรมทราย ลากูนา ภูเก็ต จ.ภูเก็ต รวมทั้งเห็นชอบเอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 14 แผนงาน IMT-GT (The 14th IMT-GT Summit) ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ได้แก่ (1) ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 14 แผนงาน IMT-GT และ (2) แผนดำเนินงานระยะ 5 ปี พ.ศ. 2565 - 2569 และเห็นชอบให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสามารถปรับปรุงถ้อยคำในแถลงการณ์ร่วมฯ ได้ในกรณีที่มิใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบอีกพร้อมเห็นชอบให้นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกับผู้นำประเทศแผนงาน IMT-GT ให้การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 14 แผนงาน IMT-GT และแผนดำเนินงานระยะ 5 ปี พ.ศ. 2565 - 2569 ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565
สาระสำคัญ
1. สาระสำคัญร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 14 แผนงาน IMT-GT
(1) ตระหนักถึงการเพิ่มขึ้นของระดับภูมิคุ้มกันของชาติในประเทศสมาชิกที่สามารถยับยั้งการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถดำเนินต่อ และสัญญาณของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีความจำเป็นในการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อเร่งการฟื้นตัว รวมทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอนุภูมิภาคที่มีการฟื้นตัว เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวดังกล่าว จึงขอรับรองโครงการ IMT-GT Visit Year 2023-2025 และเป็นการฉลองครบรอบ 3 ปี แผนงาน IMT-GT ในปี 2566 ทั้งนี้ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ความผันผวนของราคาพลังงานและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลกเป็นประเด็นที่ท้าทายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และอาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวในระยะต่อไป
(2) ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร ที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงด้านอาหาร โดยเฉพาะช่วงที่เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก จึงต้องเน้นย้ำความสำคัญของนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของการผลิตอาหาร รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทานในอนุภูมิภาคให้สามารถแข่งขันได้ เช่น น้ำมันปาล์มและยาง เป็นต้น ตลอดจนเน้นย้ำถึงความสำคัญด้นสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนระดับโลกในการสร้างความร่วมมือในการสร้างความยั่งยืนของการพัฒนาระดับอนุภูมิภาคผ่านโครงการสีเขียว และการดำเนินโครงการด้านความยั่งยืนผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งการผลักดันให้เกิดความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของรัฐบาลท้องถิ่นและภาคเอกชนในการดำเนินโครงการกรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน (Sustainable Urban Development Framework: SUDF)
(3) เน้นย้ำความสำคัญของผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล ในความก้าวหน้าโครงการเสริมสร้างศักยภาพที่เกี่ยวข้องกับการรับรองและการลงทะเบียนมาตรฐานผลิตภัณฑ์ฮาลาล เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านฮาลาลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมให้อนุภูมิภาคเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิม ตลอดจนสนับสนุนให้มีการดำเนินโครงการเพิ่มเติม เช่น โครงการสำหรับผู้ประกอบการ MSMEs เพื่อยกระดับศักยภาพให้เป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลระดับโลก
(4) ให้ความสำคัญกับโครงการความเชื่อมโยงทางศักยภาพ (PCPs) ที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงการ จำนวน 36 โครงการ มูลค่า 57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการปรับปรุงความเชื่อมโยงและอำนวยความสะดวกแก่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค เพื่อให้การค้าข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคเป็นไปอย่างราบรื่นและสามารถสร้างอนุภูมิภาคที่เป็นมิตรต่อการลงทุน เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการลงทุน อาทิ การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) โครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง ตลอดจนการแปลงเป็นดิจิทัล (Digitalization) ที่มีความจำเป็นต่อสังคมให้เกิดความคุ้นชินกับนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม MSMEs และกลุ่มเปราะบาง ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนุภูมิภาค โดยสร้างมาตรฐานการรองรับความสามารถทางวิชาชีพ เพื่อสร้างการยอมรับทักษะ สำหรับเตรียมกำลังแรงงานที่มีความสามารถในการแข่งขัน และส่งเสริมความคล่องตัวของตลาดแรงงานในอนุภูมิภาค
(5) เน้นย้ำบทบาทสำคัญของบทบาทของภาคเอกชน ในการเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ IMT-GT และมองหาโอกาสทางธุรกิจร่วมกับคณะทำงานและรัฐบาลท้องถิ่น ตลอดจนการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย IMT-GT (UNINET) เพื่อสร้างความร่วมมือในทุกภาคส่วน รวมทั้งสนับสนุนให้รัฐบาลท้องถิ่นส่งเสริมความร่วมมือภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจของตน เพื่อดึงดูดการลงทุนและดำเนินโครงการตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ
(6) ยืนยันความมุ่งมั่นในการพัฒนาอนุภูมิภาคให้สอดคล้องกับกรอบความตกลงอาเซียน ในการสนับสนุนกรอบการฟื้นฟูที่รอบคลุมของอาเซียน ผ่านการพัฒนาแผนปฏิบัติการภายใต้กรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียนระหว่าง IMT-GT และสำนักเลขาธิการอาเซียนในด้านต่างๆ รวมทั้งเน้นย้ำถึงประโยข์น์ของการเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ที่จะนำประโยชน์มาสู่อนุภูมิภาคและส่งเสริมความร่วมมือกับคู่เจรจาของอาเซียน
(7) ขอบคุณสำหรับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่อาวุโส IMT-GT คณะทำงาน ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ได้ร่วมมือกับศูนย์ประสานงานความร่วมมืออนุภูมิภาคแผนงาน IMT-GT ในการจัดทำแผนดำเนินงานระยะห้าปี พ.ศ. 2565 - 2569 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ADB ที่ช่วยเหลือและบสนุนด้านต่างๆ อาทิ การฟื้นฟูหลังการแพร่ระบาดฯ การศึกษาเรื่องระเบียงเศรษฐกิจและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจพิเศษของ ADB การฟื้นฟูเมืองสีเขียวผ่านเมืองอัจฉริยะและน่าอยู่ การลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการขนส่งคาร์บอนต่ำ การเสริมสร้างขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ของ IMT-GT ในการฟื้นตัวจากโควิด-19 และการกระชับความร่วมมือกับอาเซียนและอนุภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่มีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายในแผนการดำเนินงานระยะห้าปีฯ ตลอดจนขอต้อนรับสาธารณรัฐอินเดียในฐานะประเทศแรกที่เป็นพันธมิตรด้านการพัฒนาของ IMT-GT รวมทั้ง การเฉลิมฉลองความสำเร็จครั้งสำคัญของความร่วมมือภายใต้แผนงาน IMT-GT ที่จะครบรอบ 30 ปี ในปี พ.ศ. 2566 อันเป็นความภาคภูมิใจในความร่วมมือระยะยาวที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาอนุภูมิภาค
2. สาระสำคัญแผนดำเนินงานระยะ 5 ปี พ.ศ. 2565 - 2569 (IB2022 - 2026) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคในอีกห้าปีข้างหน้าและถือเป็นแนวทางในการบรรลุวิสัยทัศน์ ค.ศ. 2036 ประกอบด้วย (1) การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเพื่อการบูรณาการในระดับภูมิภาค (2) การเจริญเติบโตที่ขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน (3) การจัดตั้งกลไกเชิงสถาบันที่มุ่งเน้นการตอบสนอง (4) การเติบโตแบบครอบคลุม และ (5) การนำใช้หลักการเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจสีน้ำเงิน และเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการพัฒนาอนุภูมิภาค
ทั้งนี้ ประโยชน์ของประเทศไทย ในการเข้าร่วมการประชุมฯ มีดังนี้
1) ส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศโดยใช้ประโยชน์จากการพัฒนาความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคภายใต้แผนงาน IMT-GT ในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สอดประสานกันระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านทั้งในระดับส่วนกลางและท้องถิ่นในทุกสาขาความร่วมมือ รวมทั้งสาขาความร่วมมือใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ
2) สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างประเทศเพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เช่น อุตสาหกรรมยางพารา ปาล์มน้ำมัน และฮาลาล รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนไทยในการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านในกิจการที่ไทยมีศักยภาพ เพื่อเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน
3) สร้างความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการรับมือและแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 โดยมีโครงการสำคัญที่จะดำเนินการต่อไป อาทิ การจัดทำแนวทางปฏิบัติร่วมกันสำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมให้ IMT-GT เป็นอนุภูมิภาคการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs)
3. ผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 28 แผนงาน IMT-GT
3.1 องค์ประกอบผู้เข้าร่วมประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 28 แผนงาน IMT-GT เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 ณ โรงแรมทราย ลากูน่า ภูเก็ต จ.ภูเก็ต พร้อมด้วย นายอากุส ภูมิวัง คาตาชาสมิตารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และดาโต๊ะ ซรี มุสตาปา โมฮาเหม็ด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ด้านเศรษฐกิจ) มาเลเซีย เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฐานะฝ่ายเลขานุการระดับประเทศ แผนงาน IMT-T ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และผู้แทนองค์กรหุ้นส่วนการพัฒนา คือ นายอาเหม็ด เอ็ม ซาอีด รองประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และนายลิม ซื่อ เชียนผู้อำนวยการกองความเชื่อมโยงแห่งอาเซียน สำนักงานเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและเอกชน ทั้งจากส่วนกลางและท้องถิ่น จำนวนกว่า 500 คน
3.2 การหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อรายงานการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 29 แผนงาน IMT-GT กล่าวรายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนความร่วมมือแผนงาน IMT-GT ในช่วงที่ผ่านมาโดยเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีข้อคิดเห็นจากรัฐมนตรี สรุปได้ดังนี้
1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีข้อคิดเห็นใน 3 ประเด็น คือ (1) สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนกำหนดหลักเกณฑ์การพัฒนาโครงการให้สอดคล้องกับประเด็นการพัฒนาของโลกเช่น เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจสีน้ำเงิน การเข้าสู่ยุคดิจิทัล มุ่งการลดความยากจน และส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชน โดยขอให้ร่วมหารือกับ ADB และแสวงหากลไกการระดมทุนอื่นๆ เพื่อเร่งพัฒนาโครงการความร่วมมือที่สามารถแปลงสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังเช่นกระทรวงการคลังได้ออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (2) สนับสนุนให้สภาธุรกิจ IMT-GT ของทั้งสามประเทศร่วมหารือแนวทางขจัดปัญหาอุปสรรคขององค์กรเพื่อให้สามารถดำเนินการร่วมคณะทำงานสาขาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ (3) เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนเร่งหารือต่อแนวทางความร่วมมือกับแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาคอื่นๆ เช่น GMS, BIMP-EAGA และ BIMSTEC เพื่อนำหลักการความร่วมมือและบูรณการในภูมิภาค (RCI) สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อินโดนีเซีย แสดงความขอบคุณประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 28 แผนงาน IMT-GT และยินดีต่อผลสำเร็จของการจัดทำ IB 2022-2026 ในการนี้ อินโดนีเซียให้การรับรองต่อร่างแผนการดำเนินการฯ ดังกล่าว เนื่องจาก IB 2022-2026 มีแนวทางยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของโลก นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้ยกประเด็นสำคัญที่อาจเป็นประเด็นปัญหาอุปสรรคอันจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอนุภูมิภาค อาทิ ความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการแปลงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 สู่การปฏิบัติ นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ ยังได้เน้นย้ำความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนใน IMT-GT โดยเฉพาะภาคเอกชนและผู้เล่นในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น สภาธุรกิจ IMT-GT และ UNINET จึงควรหารือร่วมกันในการต่อยอดการดำเนินโครงการให้เกิดผลสำเร็จ
3) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ด้านเศรษฐกิจ) มาเลเซีย ขอขอบคุณประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 28 แผนงาน IMT-GT และได้เน้นย้ำถึงประเด็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนผ่านสภาธุรกิจ IMT-GT ซึ่งภาคเอกชนเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาค โดยเฉพาะบทบาทสำคัญของภาคเอกชนในการเตรียมความพร้อมการเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปีแผนงาน IMT-GT ในปี 2566 นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ มาเลเซียแสดงความขอบคุณ ADB และสำนักเลขาธิการอาเซียนสำหรับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดและการสนับสนุนที่แข็งแกร่งทั้งทางด้านการเงินและความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคแก่แผนงาน IMT-GT
4) รองประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) แสดงความยินดีต่อทุกภาคส่วนของ IMT-GT สำหรับความสำเร็จในการออกมาตรการที่เป็นแนวคิดริเริ่มใหม่ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และได้เน้นย้ำใน 4 ประเด็น ดังนี้ (1) เห็นว่าการดำเนินการของโครงการความเชื่อมโยงทางกายภาพ (PCPs) ตามที่กำหนดไว้ในวิสัยทัศน์ IMT-GT พ.ศ. 2579 และ IB2022 - 2026 มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเนื่องจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการเชื่อมต่อกับห่วงโซ่อุปทาน กอปรกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นมิตรและฐานทรัพยากรมนุษย์ที่แข็งแกร่งซึ่งจำเป็นต่อการพื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างความยืดหยุ่นในระยะยาว (2) ผลการศึกษาของ ADB ในการจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจที่ 6 นำใช้เป็นแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการพัฒนาเครือข่ายการผลิตระดับภูมิภาคและข้ามพรมแดนเพื่ออำนวยความสะดวกการเชื่อมต่อกับห่วงโซ่คุณค่าในระดับโลกและเป็นการดึงดูดการลงทุน ส่งผลให้มีการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน เพิ่มการส่งออก และเพิ่มมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ตั้งอยู่ในระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ในนุภูมิภาค (3) โครงการการเสริมสร้างขีดความสามารถในการวางแผนการศึกษาด้านการท่องเที่ยวสำหรับภาครัฐและการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการแก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจการท่องเที่ยวสำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs) โดย ADB นับเป็นแนวทางสำคัญสนับสนุนการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และ (4) ADB ได้มีส่วนร่วมในวาระการพัฒนาสีเขียวและสีน้ำเงิน โดยเฉพาะศูนย์กลางการเงินทะเลสีน้ำเงิน (Blue Sea Finance Hub) ณ กรุงจาการ์ตา มีบทบาทสำคัญในการระดมทุน ดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพให้กับภาครัฐและเอกชน และส่งเสริมให้ภาครัฐและเอกชนระดมทรัพยากรเพื่อส่งเสริมการลงทุนสีน้ำเงิน โดย ADB ได้จัดทำผลกระทบสีน้ำเงินสำหรับการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการเงินภาคมหาสมุทรที่ให้แก่ MSMEs เพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนที่ทำซ้ำได้ โครงการสำคัญ ได้แก่ การทำฟาร์มสาหร่าย การแปรรูปอาหารทะเล และการนำใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน
5) ผู้แทนสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ได้เน้นย้ำใน 3 ประเด็น ดังนี้ (1) แผนงานโครงการในระยะเริ่มแรกของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียนและแผนงาน PCPs มีส่วนสนับสนุนซึ่งกันและกันได้และเห็นว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนมีความสำคัญต่อการสนับสนุนความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในอนุภูมิภาค (2) สนับสนุนให้แผนงาน IMT-GT นำกรอบแนวคิดและความคิดริเริ่มการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนเป็นตัวอย่างในการจัดทำเส้นทางบูรณาการดิจิทัลของอนุภูมิภาคและเห็นว่านวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และ (3) การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำกลายเป็นสิ่งจำเป็นไม่เพียงแต่เพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเสริมสร้างความยืดหยุ่นของภูมิภาคและความสามารถในการแข่งขันในอนาคตอีกด้วย และเห็นว่าแผนงาน IMT-GT ควรจะต้องมีความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน โดยอาจจะรวมถึงแผนงาน/โครงการที่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและกระตุ้นการเข้าถึงการเงินและการลงทุนด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศสมาชิกแผนงาน IMT-GT
3.3 การหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อรายงานการประชุมเวทีหารือระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด (CMGF) ครั้งที่ 19 แผนงาน IMT-GT กล่าวรายงานโดยผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และฝ่ายเลขานุการ CMGF ประเทศไทย โดยมีข้อคิดเห็นจากรัฐมนตรี สรุปได้ดังนี้
1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีข้อคิดเห็นใน 4 ประเด็น ดังนี้ (1) การเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อถือเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐภิจ โดยสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ไทยและมาเลเซียเร่งดำเนินการก่อสร้างสะพานทั้งสองแห่งใน อ.สุไหงโกลกให้แล้วเสร็จและเริ่มการก่อสร้างเส้นทางถนนจากด่านศุลกากรสะเดา-บูกิตกายูฮิตัมในเร็ววัน ตลอดจนสนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายเริ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างสตูลและปะลิสเพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างผู้คนตามแนวชายแดน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งทางราง เพื่อให้รูปแบบการขนส่งในพื้นที่มีความหลากหลายมากขึ้น (2) เร่งผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกกิจกรรมทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดน โดยสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ไทยและมาเลเซียร่วมกันลดข้อจำกัดและอุปสรรคของข้อตกลงการขนส่งทวิภาคีเพื่ออำนวยความสะดวกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (3) มุ่งสร้างโอกาสการลงทุนเพื่อการพัฒนาเมืองยางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการผลิตร่วมระหว่างสามประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซอุปทานในพื้นที่ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาแผนงาน PCPs และการปรับปรุงมาตรการ กฎระเบียบต่างๆ ที่เอื้อต่อการลงทุน และ (4) เน้นย้ำว่าสามประเด็นสำคัญดังกล่าวข้างต้นสามารถดำเนินการได้พร้อมกัน โดยเสนอให้รัฐบาลทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นจัดทำมาตรการดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมผ่านการกระตุ้นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ADB และคณะทำงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันเพื่อเร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรม
2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อินโดนีเซียมีข้อคิดเห็นใน 5 ประเด็น ดังนี้ (1) เห็นความสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับ CMGF แผนงาน IMT-GT เพื่อเป็นตัวจักรสำคัญในการดำเนินแผนงาน/โครงการภายใต้ IB 2022-2026 (2) เสนอให้ CMGF เร่งเชื่อมโยงโครงการระดับอนุภูมิภาคที่มีความสำคัญเข้ากับโครงการของรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อให้มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแผนงาน IMT-GT (3) มีการพัฒนากลไกการติดตามและประเมินผลโครงการที่มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความมั่นใจในการดำเนินแผนงาน/โครงการ (4) สนับสนุนให้แผนงาน IMT-GT เสริมสร้างขีดความสามารถสำหรับรัฐบาลท้องถิ่น โดยเฉพาะในการจัดทำข้อเสนอโครงการที่แข็งแกร่ง การระดมทรัพยากรเพื่อดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ และ (5) เน้นย้ำถึงความสำคัญของ CMGF ในการส่งเสริมการพัฒนาสีเขียวและวาระการเติบโตสีเขียว โดยใช้ประโยชน์จากการดำเนินการตามกรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน (SUDF) ของ IMT-GT
3) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ด้านเศรษฐกิจ) มาเลเซีย ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินแผนงาน PCPs เพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านกฎระเบียบและมาตรการต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาทุนมนุษย์ นอกจากนี้ สนับสนุนให้ CMGF ดำเนินโครงการให้มีความสอดคล้องกับวาระการพัฒนาของโลก เช่น การพัฒนาสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
4) รองประธานธนาคารพัฒนาเอเชียสนับสนุนให้ CMGF ดำเนินโครงการในลักษณะหลากหลายสาขาความร่วมมือ และสนับสนุนการดำเนินการโครงการเมืองสีเขียว โดยได้เน้นย้ำถึงบทบาทของ ADB ในการสนับสนุนเมืองต่างๆ เพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเมืองสีเขียว ผ่านการให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค สนับสนุนภาครัฐและเอกชนในการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีล้ำสมัย และรูปแบบการจัดหาเงินทุนเพื่อจัดการกับความท้าทายด้านการพัฒนาเมือง นอกจากนี้ ADB ยังได้สนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะใน IMT-GT ผ่านกองทุน ASEAN-Australia Smart Cities Trust Fund ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้เมืองนำร่องคือ ปีนังและปาเล็มบังสามารถการปรับตัวและนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในระบบ
5) ผู้แทนสำนักงานเลขาธิการอาเซียน หยิบยกประเด็นที่ CMGF ควรให้ความสำคัญคือ (1) การจัดการกับการเติบโตในเมืองขนาดเล็กและเมืองขนาดกลางซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเมืองไปสู่การเป็นเมืองที่ยั่งยืนตามแนวทางของอาเซียน (2) อาเซียนกำลังมีความร่วมมือกับ UN-Habitat ในการพัฒนาข้อเสนอทางเทคนิศสำหรับ 8 เมืองในอาเซียนเพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์การทำให้เป็นเมืองที่ยั่งยืนของอาเซียน (ASUS) และแนวคิดริเริ่มเมืองสีเขียวใน IMT-GT ได้เสนอการดำเนินการเชิงดิจิทัลเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยจากอาชญากรรมและการก่อการร้าย (3) เน้นย้ำถึงการพัฒนาชุดเครื่องมือเพื่อการลงทุนในเมืองอัจฉริยะของอาเซียนโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เครือข่ายเมืองอัจฉริยะของอาเซียนและเมืองอื่นๆ มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับทางเลือกต่างๆ เพื่อการระดมทุนและการจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการเมืองอัจฉริยะ รวมทั้งระบุกลยุทธ์ที่จำเป็นต่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และ (4) สนับสนุนให้ IMT-GT ใช้ประโยชน์จากโอกาสในการระดมทุนสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจสีน้ำเงิน และเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านกองทุน ACGF โดย ADB จะได้ร่วมมือกับเมืองต่างๆ ในอนุภูมิภาค IMT-GT ผ่านทาง ASUS
3.4 การหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อรายงานการประชุมระดับรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 8 แผนงาน IMT-GT กล่าวรายงานโดยผู้อำนวยการศูนย์ CIMT โดยมีข้อสั่งการและแนวนโยบายจากรัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT สรุปได้ ดังนี้
1) ประเด็นการพื้นตัวของการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาค IMT-GT รัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT มีข้อสั่งการและแนวนโยบาย ดังนี้ (1) ให้ความเห็นชอบ และสั่งการให้เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายเลขานุการระดับชาติ คณะทำงานด้านการท่องเที่ยว คณะทำงานด้านคมนาคมขนส่งและความเชื่อมโยง และศูนย์ CIMT ทำงานร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกระทรรงคมนาคมของแต่ละประเทศรวบรวมแผนงาน/โครงการด้านการท่องเที่ยวที่ประสบผลสำเร็จเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสวาระครบรอบ 30 ปี แผนงาน IMT-GTและเป็นการส่งเสริมแผนงานปีแห่งการท่องเที่ยวอนุภูมิภาค IMT-GT พ.ศ. 2566 - 2568 ซึ่งจะได้เปิดตัวในโอกาสการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงาน MT-GT ในปี 2566 (2) สั่งการให้ทุกภาคส่วนของแผนงาน IMT-GT ร่วมกันร่างยุทธศาสตร์เพื่อการพลิกฟื้นการท่องเที่ยว และเตรียมแผนการทำงานเพื่อผลักคันโครงการด้านการท่องเที่ยวที่เป็นรูปธรรมและก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญ และ (3) สนับสนุนการทำงานร่วมกับ ADBและหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาต่างๆ ในการเสริมสร้างศักยภาพสำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวขนาดกลางและขนาดย่อมและเจ้าหน้าที่ภาครัฐท้องถิ่นเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลเพื่อสร้างความยืดหยุ่นและความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของ IMT-GT
2) ประเด็นผลักดันกรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2562 – 2579 (SUDF) สู่การปฏิบัติ รัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT มีข้อสั่งการและแนวนโยบาย ดังนี้ (1) เห็นพ้องในการปรับเป้าหมายและแผนปฏิบัติการภายใต้ SUDF ให้สอดคล้องกับนโยบายระดับชาติ (2) ส่งเสริมการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลท้องถิ่น คณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อม UNINET และหุ้นส่วนการพัฒนาคือ ธนาคารพัฒนาเอเชีย และสำนักงานเลขาธิการอาเซียนเพื่อร่วมพัฒนาแผนการทำงานและเพื่อเร่งดำเนินแผนงาน/โครงการภายใต้ SUDF สู่การปฏิบัติ และ (3) ให้ความสำคัญแผนงาน/โครงการภายใต้ SUDF ที่มุ่งเน้นเมืองท่องเที่ยวเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและ (4) ขอให้ประเทศสมาชิกเร่งการดำเนินโครงการภายใต้ SUDF ที่มุ่งเน้นนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้เพื่อดึงดูดการลงทุนสีเขียว
ทั้งนี้ สาระสำคัญของผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 28 แผนงาน IMT-GT ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 ณ ประเทศไทย จะนำไปรายงานต่อผู้นำประเทศสมาชิก IMT-GT ในการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 14 แผนงาน IMT-GT ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11377