สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 16 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 กรกฎาคม 2565)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 01 November 2022 22:28
- Hits: 1098
สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 16 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 กรกฎาคม 2565)
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (กตน.) เสนอ สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 16 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 กรกฎาคม 2565) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. นโยบายหลัก 9 ด้าน ประกอบด้วย
นโยบายหลัก |
มาตรการ/ผลการดำเนินงานที่สำคัญ |
|
1) การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ |
จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 28กรกฎาคม 2565 เช่น พิธีทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน และกิจกรรมวัฒนธรรมอาสาทำความดีทั้งแผ่นดิน |
|
2) การสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยของประเทศและความสงบสุขของประเทศ |
ยกระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทยขึ้นสู่ระดับ Tier 2 โดยได้ดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในแรงงานกลุ่มเสี่ยงให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานและได้รับสภาพการจ้างตามหลักสากล เช่น (1) การตรวจแรงงานที่ศูนย์ควบคุม การแจ้งเรือเข้าออก (Port In and Port Out Control Center: PIPO) ในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล (2) การตรวจแรงงานเชิงคุณภาพในสถานประกอบการทั่วไปและการตรวจสถานประกอบกิจการที่เสี่ยงต่อการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และ (3) การผ่อนผันแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติให้อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานได้ชั่วคราวในช่วงการแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) |
|
3) การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม |
3.1) จัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2565 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 โดยมีกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้ความสำคัญของวันภาษาไทยแห่งชาติ และ การมอบโล่รางวัลนายกรัฐมนตรี เช่น รางวัลปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย รางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นชาวต่างประเทศและรางวัล พูด อ่าน เขียน ภาษาไทยดีเด่น 3.2) ยกระดับเทศกาลประเพณีไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ เพื่อขับเคลื่อนการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและนโยบายรัฐบาลโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (Bio-Circular-Green Economy: BCG) รวมทั้งผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างรายได้ และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศอย่างยั่งยืน โดยได้คัดเลือกงานเทศกาล/ประเพณีที่มีความโดดเด่นในจังหวัดต่างๆ เพื่อส่งเสริมและยกระดับไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ เช่น ประเพณีเวียนเทียนทางน้ำกลางกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา และประเพณีบูชาพระธาตุ ย้อนรอยประวัติศาสตร์เมืองคนดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี 3.3) จัดงาน “โนราห์ใต้ ศาสตร์ศิลป์ ถิ่นมรดกโลก” เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมไทย และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2565 ณ ลานวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 17-18 กรกฎาคม 2565 |
|
4) การสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก |
ถ้อยแถลงในพิธีเปิดงาน China International Consumer Products Expo (Hainan Expo) ประจำปี ค.ศ. 2022 และ Global Consumption Forum ครั้งที่ 1เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงการณ์ถึงการจัดงานมีส่วนเพิ่มพูนการค้าและการลงทุนระหว่างจีนกับประเทศในภูมิภาครวมทั้งได้ขยายโอกาสสำหรับนักธุรกิจไทยและจีนในการเข้าถึงวัตถุดิบระหว่างกันสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือกับมณฑลต่างๆ ของจีน ในทุกมิติ และได้กล่าวแสดงความยินดีกับพัฒนาการของท่าเรือการค้าเสรีของมณฑลไห่หนานที่มีบทบาทสำคัญเป็น “สะพานการค้าและการลงทุน” ที่เชื่อมระหว่างจีนกับประเทศในอาเซียนและภูมิภาคอื่นๆ ภายใต้ข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative รวมทั้งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการค้าเสรีที่สอดคล้องกับเป้าหมายการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้กรอบเอเปคที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในปี 2565 |
|
5) การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย |
5.1) พัฒนาภาคอุตสาหกรรม เช่น พัฒนาอุตสาหกรรมกัญชงยกระดับสู่พืชเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพืชกัญชงเชิงอุตสาหกรรมแห่งอาเชียน (Industrial Hemp Hub of ASEAN) ภายใน 5 ปี สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 40,000 ล้านบาท และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อไร่ 5.2) พัฒนาภาคเกษตร เช่น ดำเนินโครงการ Pig Sandbox นำร่องที่จังหวัดราชบุรีตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายเพื่อเพิ่มช่องทางรายได้สร้างความยั่งยืนให้อาชีพเกษตรกร ผู้เลี้ยงสัตว์ควบคู่กับการทำเกษตร และโครงการ “มหกรรมผลไม้และของดีป่าละอู” ประจำปี 2565 จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะทุเรียนป่าละอู ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งขี้ทางภูมิศาสตร์ ทั้งนี้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีพื้นที่ปลูกทุเรียน และให้ผลแล้ว 8,109 ไร่ ปริมาณผลผลิต 7,118.44 ตัน 5.3) พัฒนาภาคการท่องเที่ยว โดยในเดือนกรกฏาคม 2565 ได้ดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินระยะทางรวม 6.3 กิโลมตร ในพื้นที่โครงการนนทรี ทั้งนี้ โครงการดำเนินการแล้วเสร็จระยะทางรวม 62 กิโลเมตร 5.4) พัฒนาการค้าการลงทุนเพื่อมุ่งสู่การเป็นชาติการค้าการบริการและการลงทุนในภูมิภาค เช่น กระทรวงพาณิชย์จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ “ไทย-ซาอุดีอาระเบีย” (Thai Saudi Business Matching) จำนวน 70 บริษัท มีการเจรจาจับคู่กับนักธุรกิจไทยกว่า 352 คู่ สร้างมูลค่าการซื้อขายประมาณ 130 ล้านบาท และมูลค่าคาดการณ์ภายในหนึ่งปีมากกว่า 11,500 ล้านบาท 5.5) พัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาแพลตฟอร์มควบคุมและระบบจัดการจราจรทางอากาศโดยกระทรวงคมนาคม (บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด) ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท AI and Robotics Ventures จำกัด (ARV) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการนำร่องด้านการจัดการจราจรทางอากาศสำหรับอากาศยานไร้คนขับ โดยใช้โครงการวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง เป็นพื้นที่นำร่องและจะขยายผลการใช้งานไปยังพื้นที่อื่นทั้งในและต่างประเทศเพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน 5.6) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพ/ผลิตภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่ผู้ประกอบกิจการ SME กลุ่ม OTOP และกลุ่มวิสาหกิจหรือสหกรณ์ผ่านกระบวนการเพิ่มผลิตภาพแรงงานโดยได้ประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อรองรับการพัฒนาสู่ SME 4.0 มีผู้เข้าฝึกอบรม 7,683 คน |
|
6) การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งของฐานราก |
6.1) โครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในตามแผนบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก โดยประชาสัมพันธ์และจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม Coopshopth.net และ Coop-mart.net และแพลตฟอร์ม Thaitrade.com (ตลาดต่างประเทศ) และ Phenixbox.com (ตลาดภายในประเทศ) เกิดการจับคู่เจรจาธุรกิจกับกลุ่มผู้ประกอบการ 14 แห่ง มีคู่เจรจาธุรกิจ 41 คู่ มูลค่าซื้อขายประมาณ 3 ล้านบาท 6.2) โครงการขยายโอกาสการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ เช่น โครงการส่งเสริมการประกอบอาชีพให้ผู้สูงอายุ 1,371 คน และโครงการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุในอาชีพที่เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ 10,503 คน 6.3) บูรณาการให้ความช่วยเหลือผ่านกลไกศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอ โดยได้ดำเนินการช่วยเหลือครัวเรือนเป้าหมายแล้ว 645,525 ครัวเรือน |
|
7) การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย |
7.1) ปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวตามความจำเป็นพื้นฐาน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้เรียน และเพิ่มศักยภาพสถานศึกษาในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทั้งสถานศึกษาของรัฐและเอกชน ครอบคลุมการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาทางเลือกโดยปรับเพิ่มแบบขั้นบันไดต่อเนื่อง 4 ปีงบประมาณ ตั้งแต่ปี 2566-2569 7.2) ดำเนินโครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) โดยการพัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงาน แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง เพื่อเป็นต้นแบบการดำเนินงานโรงเรียนอีโคสคูลในประเทศไทย มีโรงเรียนอีโคสคูล ระดับต้น 254 โรงเรียน |
|
8) การพัฒนาระบบสาธารณสุขและหลักประกันทางสังคม |
8.1) ลงนามความร่วมมือสร้างต้นแบบองค์กรสุขสภาพดีนำไทยสู่เมืองหลวงสุขภาพโลก โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสถาบันการสร้างชาติได้ลงนามความร่วมมือ “การพัฒนาสุขสภาพองค์กรเพื่อการสร้างชาติ” เพื่อนำประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองหลวงของการส่งเสริมสุขภาพของโลก 8.2) รณรงค์วันป้องกันการจมน้ำโลก “ก้าวผ่านโควิด ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ปลอดภัยและไม่จมน้ำ” โดยสมัชชาสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 25 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น “วันป้องกันการจมน้ำโลก” (World Drowning Prevention Day) เพื่อให้ประชาชนและทุกภาคส่วนทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญและร่วมมือกันแก้ปัญหาการจมน้ำ |
|
9) การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน |
9.1) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ริมแม่น้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อให้สามารถรองรับผลกระทบจากภัยแล้งได้ โดยได้ดำเนินการเจาะพัฒนาบ่อน้ำบาดาล 2 บ่อ และก่อสร้างระบบประปาฯ 1 ระบบ ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 0.4380 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ประชาชนได้รับประโยชน์ 2,000 ครัวเรือน 9.2) โครงการอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Park) โดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการบริหารจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการใช้พลังงานและทรัพยากร ลดการเกิดของเสีย เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีมาตรฐาน ปัจจุบันมีอุทยานแห่งชาติผ่านการรับรองมาตรฐานอุทยานแห่งชาติสีเขียวแล้ว 102 แห่ง 9.3) ผลักดันไม้กลายเป็นหินตากสู่อุทยานธรณีระดับโลก โดยได้รับการบันทึกสถิติโลก “ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก” จาก Guinness World Records ซึ่งค้นพบในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน (เตรียมการ) จังหวัดตาก มีความยาวถึง 69.70 เมตร และนับเป็นมรดกทางธรรมชาติที่มีความโดดเด่น ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ศึกษาและเรียนรู้ และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านชากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยาและธรรมชาติวิทยาต่อไป |
2. นโยบายเร่งด่วน 9 เรื่อง ประกอบด้วย
นโยบายเร่งด่วน |
มาตรการ/ผลการดำเนินงานที่สำคัญ |
|
1) การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน |
1.1) พาณิชย์ลดราคา ช่วยประชาชน (ข้าวถุงราคาประหยัด) LOT 19 “ช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้ประชาชน ลดราคาสูงสุด ร้อยละ 48” โดยจัดจุดจำหน่ายข้าวถุงราคาถูกทั่วประเทศ 703 จุด สามารถช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชนไม่น้อยกว่า 13 ล้านบาท 1.2) แก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนของประชาชน โดยผ่านศูนย์ดำรงธรรมอำเภอตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน-21 กรกฎาคม 2565 รวม 296 ราย มูลหนี้รวม 36.27 ล้านบาท 1.3) ขยายเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ลิตรละ 5 บาท ออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม- 20 กันยายน 2565 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจ 1.4) ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ด้อยโอกาส ได้แก่ โครงการช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้ได้รับการลดภาระดอกเบี้ย 353,267 ราย และโครงการบริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน 21,312 ราย 1.5) โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยได้โอนเงินให้แก่ผู้มีสิทธิผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564-31 กรกฎาคม 2565 รวม 40,765.87 ล้านบาท |
|
2) การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน |
โครงการสถาบันการเงินประชาชน โดยส่งเสริมการออมทรัพย์และให้บริการทางการเงิน แก่สมาชิก และสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้คุณภาพชีวิต และสวัสดิการของสมาชิกและประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ มีองค์กรการเงินชุมชนที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นสถาบันการเงินประชาชนภายใต้พระราชบัญญัติสถาบันการเงินประชาชน พ.ศ. 2562 แล้ว 7 แห่ง |
|
3) การให้ความช่วยเหลือ เกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม |
3.1) โครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) เช่น พัฒนาที่ดินเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมตาม Agri-Map จำนวน 67,164 ไร่ และส่งเสริมเกษตรเชิงรุกด้านการประมง 1,000 ราย 3.2) สร้างหลักประกันทางรายได้ให้แก่เกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตข้าวและยางพารา เช่น ผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อจำหน่าย 48,724.31 ตัน และประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง (ระยะที่ 3) ให้แก่เจ้าของสวนยาง 1.329 ล้านราย |
|
4) การยกระดับศักยภาพของแรงงาน |
ยกระดับศักยภาพของแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน เช่น (1) โครงการฝึกอบรมความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 6 กลุ่มเป้าหมาย (ดิจิทัล ระบบอัตโนมัติ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ชีวภาพ ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์) มีผู้เข้าร่วม 5,671 คน (2) โครงการพัฒนาผู้ประกอบกิจการสมัยใหม่เพิ่มมูลค่าสินค้าหรือบริการในชุมชน มีผู้เข้าร่วม 1,330 คน และ (3) โครงการเพิ่มทักษะกำลังแรงงานในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มีผู้เข้าร่วม 7,007 คน |
|
5) การวางรากฐานระบบ เศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต |
5.1) ส่งเสริมการลงทุน โดยมีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2565 ในพื้นที่ “เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” (Eastern Economic Corridor: EEC) (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) 758 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 394,012 ล้านบาท และในพื้นที่ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ)” (Special Economic Zone: SEZ) 1 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 553 ล้านบาท 5.2) จัดกิจกรรมชักจูงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ (โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน อิตาลี และสิงคโปร์) ให้มาลงทุนในพื้นที่ EEC โดยมีอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจ เช่น อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ และอุตสาหกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว |
|
6) การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 |
โครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชนในศตวรรษที่ 21 โดยได้โอนเงินสนับสนุนงบประมาณให้แก่สภาเด็กและเยาวชน องค์กรเอกชน/ชุมชน ในการทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ทุกระดับ 36.240 ล้านบาท มีเด็กและเยาวชนเข้าร่วมโครงการ 64,085 คน | |
7) การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่ ชายแดนภาคใต้ |
7.1) เผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง ครั้งที่ 53 เมื่อวันที่ 5-6 กรกฎาคม 2565 จำนวน 40.7 ตัน จาก 185 คดี มูลค่ารวม 34,688 ล้านบาท และได้นำผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัด รวม 74,671 คน 7.2) ผลการปราบปรามยาเสพติด โดยจับกุมคดียาเสพติด 22,490 คดี มีผู้ต้องหา 22,254 คน และได้ยึดของกลาง เช่น ยาบ้า 43.911 ล้านเม็ด ไอซ์ 1,063.78 กิโลกรัม และเฮโรอีน 3,198.08 กิโลกรัม 7.3) โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยปรับปรุงพื้นที่ปลูกข้าวให้มีความเหมาะสม 2,219 ไร่ และส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์สำหรับการใช้เลี้ยงโค-กระบือ 510 ราย |
|
8) การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน |
8.1) อำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจให้แก่บุคลากรทักษะสูง/ผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุน ผู้บริหาร และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานหรือลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศผ่านวีซ่าประเภทพิเศษ (SMART Visa ตั้งแต่ดือนมกราคม-กรกฎาคม 2565 มีผู้ผ่านการรับรองคุณสมบัติทั้งสิ้น 234 คำขอ 8.2) โครงการ Automation Networking Development for You เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการให้ได้รับการอนุมัติหนังสืออนุญาตรวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลให้ระยะเวลาการรอพิจารณาคำขอโดยเฉลี่ยจากมากกว่า 90 นาที เหลือเพียง 43 นาที |
|
9) การจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย |
ดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เช่น (1) โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) จังหวัดสงขลา (งานปรับปรุงสะพานรถไฟ ความยาว 110 เมตร) มีผลการดำเนินงานในภาพรวม ร้อยละ 92.10 (2) โครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ขุดคลองระบายน้ำหลาก พร้อมอาคารประกอบ) มีผลการดำเนินงานในภาพรวม ร้อยละ 26.16 และ (3) โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร (ก่อสร้างประตูระบายน้ำและอาคารชลประทาน) มีผลการดำเนินงานในภาพรวม ร้อยละ 31.04 |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11129