รายงานประจำครึ่งปี (มกราคม-มิถุนายน 2565) ของธนาคารแห่งประเทศไทย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 01 November 2022 22:21
- Hits: 1096
รายงานประจำครึ่งปี (มกราคม-มิถุนายน 2565) ของธนาคารแห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานประจำครึ่งปี (มกราคม-มิถุนายน 2565) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) (เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ ธปท. พ.ศ. 2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 61 ซึ่งบัญญัติให้ทุกหกเดือนให้ ธปท. จัดทำรายงานสภาพเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงิน นโยบายระบบการชำระเงิน แนวทางการดำเนินงานและประเมินผล เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ภาวะเศรษฐกิจ
1.1 เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งฟื้นตัวจากช่วงครึ่งปีหลังของปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและการส่งออกบริการ โดยการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ดีขึ้น ส่วนการส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้สอดคล้องกับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าและการส่งออกบริการสินค้าปรับตัวดีขึ้นมากตามการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐปรับอ่อนลงตามการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลักจากท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ประกอบกับนักลงทุนปรับลดความเสี่ยงการลงทุน จึงลดการลงทุนในสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่รวมถึงประเทศไทย
1.2 เสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในประเทศโดยรวมปรับดีขึ้น โดยตลาดแรงงานทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจแต่ต้องติดตามพัฒนาการของเงินเฟ้อ ซึ่งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับขึ้นจากราคาพลังงานและราคาอาหารสดที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคากลุ่มอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ
1.3 เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งสะท้อนจากสัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่ต่ำและสัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นที่สูงเมื่อเทียบกับเกณฑ์สากล
2. การดำเนินงานของ ธปท. ประกอบด้วย
2.1 แนวทางการดำเนินงานและประเมินผลนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น โดยใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลางและปี 2565 โดยมีการดำเนินการ ดังนี้
2.1.1 การดำเนินนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ย ในไตรมาสที่ 1 (เดือนมกราคม-มีนาคม) ปี 2565 กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 2 (เดือนเมษายน-มิถุนายน) ปี 2565 กนง. เห็นว่าความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมีการปรับลดลง ขณะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น กนง. จึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี ทั้งนี้ ในระยะต่อไป กนง. จะพิจารณาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป
2.1.2 การดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวผันผวน โดยแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นไตรมาสตามแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและปรับอ่อนค่าลงจากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและยูเครน และการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก ส่วนในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าต่อเนื่องส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาทเทียบกับสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่งค่อนข้างทรงตัวในช่วงแรกของปี 2565 ทั้งนี้ การผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 และการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่เร็วกว่าคาดในเดือนพฤษภาคม 2565 จะช่วยจำกัดการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงหลังของไตรมาสที่ 2 ปี 2565
นอกจากนี้ กนง. ได้ให้ความสำคัญกับการติดตามพัฒนาการและความผันผวนของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเห็นควรผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX Ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น
2.1.3 การรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. ให้ความสำคัญกับการมีมาตรการเฉพาะจุดสำหรับกลุ่มเปราะบาง เนื่องจากในระยะต่อไปแม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องแต่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจบางกลุ่มยังเปราะบางจากรายได้ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง จึงอาจได้รับผลจากค่าครองชีพและต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการเฉพาะสำหรับกลุ่มเปราะบางจะช่วยบรรเทาปัญหาได้อย่างตรงจุด เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ระยะยาวของลูกหนี้
2.2 แนวทางการดำเนินงานและประเมินผลนโยบายสถาบันการเงิน
2.2.1 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และนโยบายการกำกับดูแลสถาบันการเงินในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ธปท. ได้ดำเนินนโยบาย ดังนี้ (1) มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น แนวทางการดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางเพิ่มเติมโดยการต่ออายุมาตรการสินเชื่อรายย่อย การปรับปรุงเงื่อนไขโครงการคลินิกแก้หนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต และการปรับเงื่อนไขสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อรองรับการปรับตัวของผู้ประกอบธุรกิจ และ (2) การปรับเปลี่ยนนโยบายการกำกับดูแลสถาบันการเงินให้กลับสู่ระดับปกติ โดยยกเลิกนโยบายจำกัดอัตราการจ่ายเงินปันผลและการไม่ต่ออายุมาตรการปรับลดอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
2.2.2 นโยบายกำกับสถาบันการเงินและการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม มีความคืบหน้าในการดำเนินงาน ดังนี้
(1) การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจ จะต้องติดตามความเสี่ยงในระยะต่อไป ได้แก่ 1) ผลกระทบของต้นทุนและค่าครองชีพที่สูงขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนที่รายได้น้อยและกลุ่มแรงงานที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ 2) ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ในภาคการผลิต 3) เศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวในระยะข้างหน้า และ 4) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่อาจกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
(2) การดำเนินนโยบายกำกับสถาบันการเงิน เช่น 1) การกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัลและสินทรัพย์ดิจิทัล โดย ธปท. ได้ยกเลิกเพดานการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน แต่ยังไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจด้านสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรง 2) การประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายบริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) โดยอาจต้องปรับปรุงกฎหมายเพิ่มเติมในบางประเด็นเพื่อให้ บบส. สามารถบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของระบบสถาบันการเงินและแก้ไขปัญหาหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจได้ดีขึ้น และ 3) การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology: IT) โดยมีหลักการสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ ธรรมาภิบาลด้าน IT การรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้าน IT และการบริหารจัดการโครงการด้าน IT สำคัญ
2.2.3 การพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยมีข้อเสนอแนะต่อการจัดทำแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทย ดังนี้ (1) กำหนดแนวทางการดำเนินงานให้ชัดเจนทั้งการเปิดให้ผู้เล่นรายเดิมและรายใหม่แข่งขันพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียม (2) พิจารณาแนวทางการดูแลความเสี่ยงและการประเมินผลกระทบอย่างรอบด้านเพื่อดูแลผู้ใช้บริการทางการเงินในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ (3) ผลักดันให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ธปท. จะจัดทำเอกสารทิศทางและนโยบายเพื่อชี้แจงทิศทางและการดำเนินการภายใต้แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
2.2.4 การเป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ไม่มีสถาบันการเงินแห่งใดขอกู้ยืมสภาพคล่องจาก ธปท. โดยมีเพียงการขอกู้ยืมเพื่อทดสอบระบบงานจากสถาบันการเงิน 3 แห่ง ทั้งนี้ สถาบันการเงินทุกแห่งสามารถส่งมอบสินทรัพย์หลักประกันและชำระคืนเงินกู้ยืมได้ตามกำหนด
2.3 แนวทางการดำเนินงานและประเมินผลนโยบายระบบการชำระเงิน สรุปได้ ดังนี้
2.3.1 แนวโน้มการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ การใช้บริการระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนปริมาณธุรกรรมเฉลี่ยต่อคนต่อปีเพิ่มจาก 35 รายการ ในปี 2557 เป็น 368 รายการ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 โดยการโอนเงินและชำระเงินออนไลน์ผ่าน Mobile Banking/Internet Banking ขยายตัวสูงสุด ร้อยละ 50.7 และมีจำนวนบัญชี Mobile Banking/Internet Banking เพิ่มขึ้น 5.9 ล้านบัญชี จากสิ้นปี 2564 รวมมีบัญชีฯ ทั้งสิ้น 129.1 ล้านบัญชี ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565
2.3.2 การดำเนินงานตามกรอบการพัฒนา 5 ด้าน ของแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน ฉบับที่ 4 เช่น (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่เชื่อมโยงกัน โดย ธปท. ได้ผลักดันและส่งเสริมมาตรฐานด้านข้อมูล ISO 20022 ในภาคธุรกิจ ซึ่งเริ่มใช้กับระบบการชำระเงินใหม่ คือ การเชื่อมโยงบริการโอนเงินต่างประเทศและระบบโอนเงินรายย่อยครั้งละหลายรายการสำหรับภาคธุรกิจ (2) การส่งเสริมนวัตกรรมและบริการชำระเงิน โดยได้ผลักดันการเชื่อมระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ได้แก่ บริการชำระเงินผ่าน OR code และบริการโอนเงินราย่อยแบบทันที และ (3) การส่งเสริมการเข้าถึงและการใช้บริการชำระเงิน โดยอยู่ระหว่างดำเนินการโครงการสำรวจพฤติกรรมการชำระเงินของภาคธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อนำไปกำหนดแนวทางส่งเสริมให้ภาคธุรกิจใช้การชำระเงินดิจิทัลเพิ่มขึ้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11128