มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/2566 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 01 November 2022 22:10
- Hits: 1176
มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/2566 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2566
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/2566 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2566 และมอบหมายหน่วยงานดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว โดยรายงานให้ กนช. ทราบ พร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินงานรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กนช. รายงานว่า
1. ตามปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่หน่วยงานใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติงาน แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงฤดูแล้ง เริ่มวันที่ 1 พฤศจิกายน สิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน ของปีถัดไป และช่วงฤดูฝน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม สิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี (ยกเว้นพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ช่วงฤดูแล้ง เริ่มวันที่ 1 มีนาคม สิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม ของทุกปีและช่วงฤดูฝน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน สิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ของทุกปี) โดยในช่วงฤดูแล้งได้ดำเนินการตามกรอบการวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/2566 ดังนี้ (1) คาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุน1 ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 แผนการจัดสรรน้ำและความต้องการใช้น้ำรายกิจกรรมในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน พร้อมทั้งจัดหาแหล่งน้ำสำรองทั้งแหล่งน้ำผิวดินและใต้ดิน (2) คาดการณ์แผนการใช้น้ำรายเดือนตามกิจกรรม (อุปโภคบริโภค เกษตร รักษาระบบนิเวศ และอุตสาหกรรม) ให้เพียงพอต่อปริมาณน้ำต้นทุน (3) คาดการณ์พื้นที่เพาะปลูกพืชในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำตันทุน (4) ประเมินพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ แบ่งเป็นพื้นที่อุปโภคบริโภค (ในเขต/นอกเขตพื้นที่ให้บริการประปานครหลวง/ภูมิภาค) พื้นที่เกษตรกรรม [นารอบที่ 2 (นาปรัง)/ไม้ผลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ] และพื้นที่เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ และ (5) ส่งเสริมความเข้มแข็งการบริหารจัดการน้ำชุมชน
2. สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/2566 จำนวน 3 ด้าน 10 มาตรการ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะจะเกิดขึ้นได้ทันต่อสถานการณ์ และจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2566 ด้วย ซึ่ง กนช. ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบมาตรการและโครงการดังกล่าวแล้วและให้เสนอคณะรัฐมนตรี โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
2.1 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/2566 จำนวน 3 ด้าน 10 มาตรการ ดังนี้
การดำเนินการ |
หน่วยงานที่รับผิดชอบ |
|
ด้านน้ำต้นทุน (Supply) |
||
มาตรการที่ 1 เร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภท (ภายในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2565) |
||
(1) เร่งเก็บน้ำ/สูบทอยน้ำ2 ส่วนเกินในช่วงปลายฤดูฝนไว้ใช้ในฤดูแล้ง (2) บริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ/แหล่งน้ำตามเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ หรือเต็มศักยภาพเก็บกัก |
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงพลังงาน (พน.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) |
|
มาตรการที่ 2 เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ในพื้นที่ เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง) |
||
(1) คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคการเกษตรและคุณภาพน้ำ (ช่วงก่อนและระหว่างฤดูแล้ง) พร้อมทั้งติดตามเฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์ตลอดฤดูแล้ง (2) สำรวจ ตรวจสอบ พื้นที่แหล่งเก็บกักน้ำสำรอง และจัดทำแผนปฏิบัติการสำรองน้ำในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตร (3) เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและเข้าช่วยเหลือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำได้ทันสถานการณ์ |
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กษ. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทส. มท. และ สนทช. |
|
มาตรการที่ 3 ปฏิบัติการเติมน้ำ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง) |
||
(1) จัดทำแผนปฏิบัติการฝนหลวงรองรับพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ และปฏิบัติการเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำ พื้นที่เกษตรและพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยง ขาดแคลนน้ำตามสภาพอากาศที่เหมาะสม (2) จัดทำเผนปฏิบัติการและปฏิบัติการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ที่มีศักยภาพ (ดำเนินการช่วงปลายฤดูฝนถึงต้นฤดูแล้ง) |
กษ. และ ทส. |
|
ด้านความต้องการใช้น้ำ (Demand) |
||
มาตรการที่ 4 กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง) |
||
(1) กำหนดแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนและแจ้งแผนให้ มท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด (2) กำหนดแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้งและขึ้นทะเบียนเกษตรกรโดยระบุพื้นที่คาดการณ์เพาะปลูก และแหล่งน้ำที่นำมาใช้ให้ชัดเจนในรูปแบบ แผนที่ เพื่อให้การเพาะปลูกสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนพร้อมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขการเพาะปลูกพืชพื้นที่นอกแผนและพื้นที่ที่ไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกได้ (3) ควบคุมการใช้น้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนให้เป็นไปตามแผนและ มีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบการขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภคของพื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่างและมอบหมาย มท. ร่วมกับ กษ. และ ทส. สร้างการรับรู้กับประชาชนในพื้นที่เพื่อควบคุม การส่งน้ำให้ตรงตามวัตถุประสงค์ (4) สำรวจ ตรวจสอบ คันคลอง เขื่อนป้องกันตลิ่ง ถนนที่เชื่อมต่อกับทางน้ำในพื้นที่ที่อาจจะเกิดการทรุดตัวเนื่องจากระดับน้ำในทางน้ำที่อาจจะลดต่ำกว่าปกติ |
อว. กษ. กระทรวงคมนาคม ทส. พน. และ มท. |
|
มาตรการที่ 5 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคการเกษตร (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง) |
||
(1) สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ ถ่ายทอด เผยแพร่ผลการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคการเกษตร (2) ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชเพื่อลดการใช้น้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่นำร่อง เช่น ปลูกพืชใช้น้ำน้อย และปรับปรุงระบบการให้น้ำพืช นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการน้ำพร้อมจัดทำแผนการปรับเปลี่ยนปลูกพืชใช้น้ำน้อยภายในเดือนตุลาคม 2565 |
อว. กษ. และ สทนช. |
|
มาตรการที่ 6 เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง (ระหว่างฤดูแล้ง) |
||
(1) เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง โดยการสนับสนุนจัดสรรน้ำเตรียมแปลงเพาะปลูกนารอบที่ 1 (นาปี) (2) จัดทำแผนการรับน้ำเข้า-ออกพื้นที่ลุ่มต่ำในการเพาะปลูกพืชและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ |
กษ. และ มท. |
|
มาตรการที่ ๗ เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ (ตลอดฤดูแล้ง) |
||
เฝ้าระวัง ตรวจวัด และควบคุมคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำ สายรอง รวมถึงแหล่งน้ำที่รับน้ำจากภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และชุมชนรวมทั้งเตรียมแผนปฏิบัติการรองรับกรณีเกิดปัญหาและแจ้งเตือนพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ |
กษ. ทส. มท. และกระทรวงอุตสาหกรรม |
|
ด้านการบริหารจัดการ (Management) |
||
มาตรการที่ 8 เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน (ตลอดฤดูแล้ง) |
||
เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชนที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยสร้างความรู้ ความเข้าใจในการวางแผนการใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่มีอยู่ การเตรียมจัดหาน้ำสำรองและการกักเก็บให้มีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค/หรือการเกษตรตลอดฤดูแล้ง รวมทั้งพัฒนา/เพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำชุมชน |
อว. กษ. ทส. มท. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) (มูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ) และ สนทช. |
|
มาตรการที่ 9 สร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง) |
||
สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์สถานการณ์และแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนที่กำหนด |
มท. สปน. (กรมประชาสัมพันธ์) สนทช. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
|
มาตรการที่ 10 ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน (ตลอดและหลังจากสิ้นสุดฤดูแล้ง) |
||
(1) ติดตามผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผน รายงานผลการให้ความช่วยเหลือ และหากพบการขาดแคลนน้ำหรือภัยแล้งให้รายงานมายัง กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และ กนช. (2) ประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรการ พร้อมสรุปบทเรียน |
มท. สทนช.และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
2.2 การจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2566
หัวข้อ |
รายละเอียด |
||||||||||||||||||
วัตถุประสงค์ |
(1) เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ขาดแคลนน้ำหรือเสี่ยงภัยแล้ง (2) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ รายได้ และการจ้างแรงงานให้กับประชาชนหรือ ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง (3) เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ |
||||||||||||||||||
พื้นที่เป้าหมาย |
พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ หรือพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดในพื้นที่ทั่วประเทศ หรือจำเป็นต้องเร่งรัดดำเนินการเพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาโดยเร่งด่วน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดทำแผนปฏิบัติการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/2566 เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ |
||||||||||||||||||
ระยะเวลาดำเนินการ |
120 วัน นับตั้งแต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ |
||||||||||||||||||
กิจกรรมและ ประเภทโครงการ |
แบ่งเป็น 5 ประเภท เพื่อรวบรวม จำแนก วิเคราะห์ กลั่นกรองแผนงาน/โครงการให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานในแต่ละประเภท ดังนี้
|
หมายเหตุ : สนทช. จะไม่พิจารณาแผนงานโครงการที่ไม่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เช่น งานด้านซ่อม/ปรับปรุงถนน สะพาน หรืออาคารสิ่งปลูกสร้างบ้านที่พักอาศัย/สำนักงานและงานปรับปรุงภูมิทัศน์
___________________
1น้ำต้นทุน ถือเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตของคนทั้งประเทศ ซึ่งเป็นน้ำที่นำมาจัดสรรใช้ในกิจกรรมต่างๆ ทั้งอุปโภคบริโภค การทำเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศ ทั้งนี้ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการกักเก็บน้ำและบริหารจัดการต้นทุนให้เกิดประสิทธิภาพและเพียงพอต่อความต้องการในแต่ละกิจกรรม โดยการวางแผนการบริหารน้ำต้นทุนในช่วงฤดูฝน และสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งเป็นประจำในทุกๆ ปี เพื่อให้เกิคความสมดุล
2 สูบทอยน้ำเป็นการสูบน้ำเป็นทอดๆ จากแหล่งน้ำไปสู่พื้นที่เป้าหมาย เช่น แหล่งน้ำอยู่ห่างจากพื้นที่เป้าหมายประมาณ 10 กิโลเมตร ทำให้ต้องสูบน้ำมาไว้ที่แหล่งน้ำแห่งหนึ่งที่ระยะทาง 5 กิโลเมตร ก่อนสูบน้ำต่อจากแหล่งน้ำนั้นไปพื้นที่เป้าหมายได้ ซึ่งการดำเนินการสูบทอยน้ำเกิดจากอุปสรรค 2 ส่วน คือ (1) ประสิทธิภาพของเครื่องสูบน้ำ และ (2) ระยะทางของแหล่งน้ำไปสู่พื้นที่เป้าหมายที่มีระยะทางไกล
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11125