โครงการสินเชื่อแก้หนี้เพิ่มทุน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 01 November 2022 21:57
- Hits: 1118
โครงการสินเชื่อแก้หนี้เพิ่มทุน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการสินเชื่อแก้หนี้เพิ่มทุน และอนุมัติงบประมาณวงเงินรวม 600 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อดำเนินโครงการสินเชื่อแก้หนี้เพิ่มทุน พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (โรคโควิด 19) แม้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะคลี่คลายลงส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาทยอยฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวยังคงเป็นไปแบบไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับปัญหาค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน เพื่อลดภาระหนี้สินและดูแลให้ประชาชนมีชีวิตที่มีคุณภาพ ด้วยการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในกลุ่มของลูกหนี้ที่เป็นประชาชนรายย่อย กค. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ร่วมกันจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ (กค. แจ้งว่า จะจัดงานมหกรรมครั้งแรกระหว่างวันที่ 4 - 6 พฤศจิกายน 2565 ที่กรุงเทพมหานคร) เพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนผู้เข้าร่วมงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้มีสภาพคล่องทางการเงินที่เพียงพอในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพต่อไป โดยผ่อนปรนภาระหนี้สินให้สอดคล้องกับรายได้ รวมถึงเพิ่มทุนใหม่เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นและเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม กค. จึงขอเสนอโครงการสินเชื่อแก้หนี้เพิ่มทุน โดยมีกรอบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการสรุปได้ ดังนี้
หลักเกณฑ์และเงื่อนไข |
รายละเอียด |
|
1. วัตถุประสงค์ |
ประชาชนผู้เข้าร่วมงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ได้รับความช่วยเหลือให้มีสภาพคล่องทางการเงินในการดำรงชีวิตและลงทุนประกอบอาชีพได้ไม่น้อยกว่า 100,000 ราย |
|
2. วงเงินรวม |
2,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินจะจัดสรรวงเงินการให้ความช่วยเหลือให้เหมาะสมกับระยะเวลางานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ |
|
3. วงเงินสินเชื่อ/ราย |
ไม่เกินรายละ 20,000 บาท |
|
4. กลุ่มเป้าหมาย |
4.1 เป็นผู้มีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ 4.1.1 ผู้มีรายได้ประจำ 4.1.2 ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่แผงลอย เป็นต้น 4.2 เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป 4.3 เป็นผู้ที่เข้าร่วมงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ 4.4 ต้องไม่เป็นลูกจ้าง พนักงาน ผู้บริหาร หรือกรรมการของธนาคารออมสิน |
|
5. ระยะเวลาการยื่นขอสินเชื่อ |
ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 หรือจนกว่าจะครบวงเงินโครงการ |
|
6. ระยะเวลาการกู้ยืม |
6.1 ปลอดชำระหนี้เงินต้น 6 งวดแรก ชำระดอกเบี้ยปกติ หรือเป็นไปตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด 6.2 ระยะเวลาชำระคืนเงินงวดสูงสุดไม่เกิน 2 ปี |
|
7. อัตราดอกเบี้ย |
อัตราดอกเบี้ยคงที่ ร้อยละ 0.35 ต่อเดือน (Flat Rate) |
|
8. หลักประกัน |
ไม่มีหลักประกัน (Clean Loan) |
|
9. ช่องทางการให้บริการ |
ให้บริการผ่านช่องทางที่ธนาคารกำหนด |
|
10. เงื่อนไขการพิจารณาสินเชื่อ |
พิจารณาการให้สินเชื่อที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติของธนาคารและเป็นไปตามเงื่อนไขที่ธนาคารออมสินกำหนดเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้เข้าร่วมงานมหกรรมร่วมใจแก้ไขหนี้มีสภาพคล่องในการดำรงชีพหรือประกอบอาชีพ |
|
11. เงื่อนไขการชดเชยจากรัฐบาล |
11.1 รัฐบาลชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPLs) ร้อยละ 100 สำหรับ NPLs ไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด รวมทั้งสิ้น ไม่เกิน 600 ล้านบาท (2,000 ล้านบาท*ร้อยละ 30*ร้อยละ100) โดยธนาคารออมสินจะทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปีตามความเหมาะสมและความจำเป็นต่อไป 11.2 แยกบัญชีโครงการเป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายภาครัฐ (Public Service Account : PSA) 11.3 ไม่นับรวม NPLs ที่เกิดจากการดำเนินงานของโครงการไปกำหนดเป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของธนาคารออมสิน 11.4 ขอนำผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจากโครงการนับรวมเป็นผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดการให้สินเชื่อบุคคลรายย่อยวงเงินไม่เกิน 200,000 บาท |
2. กค. ได้ จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติในมาตรา 27 และ 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เรียบร้อยแล้ว โดยในส่วนของการดำเนินการตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กค. แจ้งว่า ณ สิ้นวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มียอดคงค้างจำนวน 970,710.435 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 30.48 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท) ดังนั้น หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ธนาคารออมสินดำเนินโครงการสินเชื่อแก้หนี้เพิ่มทุน จำนวน 600 ล้านบาท จะส่งผลให้ภาระที่รัฐต้องรับชดเชย ซึ่งเมื่อรวมโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีด้วยแล้ว จะมียอดคงค้างเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 985,760.524 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 30.95 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งยังคงไม่เกินอัตราร้อยละ 32 ที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐได้ประกาศกำหนดไว้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11124