ผลการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 01 November 2022 20:22
- Hits: 964
ผลการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52 รวมทั้งมอบหมายกระทรวงการต่างประเทศซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่ออำนวยความสะดวกและรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกับคณะทำงานด้านต่างๆ ของเอเปคอย่างต่อเนื่องตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
คค. รายงานว่า คค. ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค (APEC Transportation Working Group Meeting : TPTWG) ครั้งที่ 52 ระหว่างวันที่ 14 - 16 กันยายน 2565 ณ กรุงเทพมหานคร โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมฯ ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และมีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วยผู้แทนจาก 18 เขตเศรษฐกิจ เช่น เครือรัฐออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สหพันธรัฐรัสเซีย สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มีประธานคณะทำงาน TPTWG (Mr.Jason Hill) เป็นประธานการประชุมฯ ทั้งนี้ ได้มีการหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าของแผนการดำเนินการด้านการขนส่งในสาขาต่างๆ การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาเศรษฐกิจ และการเสริมสร้างความเชื่อมโยงและความร่วมมือระหว่างเขตเศรษฐกิจ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้กล่าวเปิดการประชุมฯ โดยกล่าวถึง เป้าหมายหลักของการประชุม คือ “การขนส่งที่ไร้รอยต่อ อัจฉริยะ และยั่งยืน” ซึ่งสอดคล้องกับหัวข้อหลักของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน และการฟื้นฟูความเชื่อมโยงด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวในเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในทุกมิติและมีความพร้อมในการตอบสนองต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ ทั้งนี้ ไทยได้พัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพและมีการเชื่อมโยงไร้รอยต่อผ่านการขนส่งหลายรูปแบบ เช่น การพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง การพัฒนาท่าเรือบก การพัฒนาสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองคู่ขนานไปกับโครงข่ายรถไฟทางคู่ (MR-MAP) และโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน
2. การประชุมเต็มคณะ
2.1 ที่ประชุมรับทราบรายงานผลการประชุมเฉพาะสำหรับการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญรายสาขา จำนวน 4 สาขา เมื่อวันที่ 12 - 21 เมษายน 2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกล และให้การรับรองหัวข้อนโยบายหลัก ปี 2565 ได้แก่ (1) การขนส่งทางอากาศ : อากาศยานไร้คนขับ-เส้นทางการบินสู่อนาคต (2) การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและระบบขนส่งอัจฉริยะ : การปรับปรุงการเข้าถึงและความครอบคลุมในการใช้เทคโนโลยีการขนส่งที่เกิดขึ้นใหม่ (3) การขนส่งทางบก : มุ่งสู่การขนส่งอัจฉริยะ ยืดหยุ่น และปล่อยมลพิษต่ำ/เป็นศูนย์ในภูมิภาคเอเปค และ (4) การขนส่งทางน้ำ : การสนับสนุนการบูรณาการเทคโนโลยีและการบริการทางทะเลที่เกิดขึ้นใหม่ อัจฉริยะ และยั่งยืน ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยและเขตเศรษฐกิจเจ้าภาพ ได้กล่าวถึงภาพรวมของารประชุมฯ และประเด็นสำคัญที่ไทยต้องการผลักดัน โดยเห็นว่าการประชุมด้านการขนส่งของเอเปคเป็นเวทีสำคัญในการหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 สาขา เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งในมิติบก น้ำ ราง และอากาศ และเสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน โอกาสในการเติบโต และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในยุคหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยเน้นการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว และการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาค
2.2 ที่ประชุมรับรองแผนปฏิบัติการด้านยุทธศาสตร์ของ TPTWG ปี 2565 - 2568 ซึ่งเป็นการกำหนดกลยุทธ์เพื่อพัฒนาแผนงานประจำปีและกิจกรรมของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มสมาชิกภายใต้ TPTWG รวมถึงการนำเสนอโครงการของ TPTWG ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากเอเปคและเขตเศรษฐกิจเอเปค และการพัฒนาหัวข้อนโยบายหลักของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 สาขา ทั้งนี้ การดำเนินงานของ TPTWG จะนำไปสู่ระบบคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ไร้รอยต่อ มั่นคง ปลอดภัย และยั่งยืน เพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 20401 และแผนปฏิบัติการเอาทีอารอ2 ในการสร้างภูมิภาคเอเปคที่เปิดกว้าง มีพลวัต ยืดหยุ่น และสงบสุข
2.3 ปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยและเขตเศรษฐกิจเจ้าภาพ กล่าวถึงผลการประชุมและการหารือเกี่ยวกับการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในกลุ่มสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค ได้แก่ การฟื้นตัวด้านการบินภายหลังการหยุดชะงักของการบินทั่วโลกที่ต้องตระหนักถึงการอยู่ร่วมกับโรคระบาด เทคโนโลยีใหม่ๆ ในภาคการบินเพื่อเป็นแนวทางและบทเรียนสำหรับวิกฤตในอนาคต และการให้ความสำคัญต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนสำหรับการขนส่งทางบก นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แบ่งปันประสบการณ์และมุมมองในการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความคิดริเริ่มในการสนับสนุนพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนในภาคการขนส่ง เช่น เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า การสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับการบริการเดินเรือบนพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน และการปรับปรุงการเชื่อมโยงการขนส่งผ่านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่เพื่อลดข้อจำกัดของการขนส่งหลายรูปแบบ ซึ่งสัมพันธ์กับการเติบโตทางเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และในอนาคต
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้นำเสนอวีดิทัศน์โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน ซึ่งจะเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ของโลกและเป็นจุดเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางทะเลที่เป็นจุดถ่ายลำของภูมิภาค โดยสามารถเชื่อมโยงกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและรถไฟทางคู่ตามแผนบูรณาการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ (MR-MAP) เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจในเอเปคอย่างไร้รอยต่อ
4. คค. มีความเห็น/ข้อสังเกตว่า เอเปคจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่ออำนวยความสะดวกและรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ (Safe Passage Taskforce : SPTF) เพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยได้ร่วมกันติดตามความคืบหน้าของมาตรการการเดินทางข้ามแดนจากองค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ องค์การอนามัยโลก และอาเซียน เพื่ออำนวยความสะดวกด้านหลักฐานสำหรับการเดินทาง การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยและยั่งยืน และการขยายขอบเขตการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของนักธุรกิจ โดยเอเปคให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคเอเปคอย่างปลอดภัยทั้งทางบก ทางอากาศ และทางทะเล ซึ่ง TPTWG ได้แสดงความพร้อมในการสนับสนุนภารกิจของ SPTF เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนั้น จึงเห็นควรแจ้งให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ SPTF รับทราบและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
________________________________________
1 วิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 เป็นการกำหนดทิศทางความร่วมมือของเอเปคเพื่อนำไปสู่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลวัต พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและมีสันติภาพ ภายในปี ค.ศ. 2040
2 แผนปฏิบัติการเอาทีอารอ (Aotearoa Plan of Action) เป็นแผนการกำหนดทิศทางความร่วมมือของเอเปคภายใต้วิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11111