WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 29 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

GOV 13

ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 29 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 29 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และแถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 29 ทั้งนี้กระทรวงการคลัง (กค.) ได้จัดทำวีดิทัศน์รายงานผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 29 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

          สาระสำคัญของการประชุม APEC FMM ครั้งที่ 29 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

          1. ผลการประชุม APEC FMM ครั้งที่ 29

                 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานการประชุม APEC FMM ครั้งที่ 29 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้แทนจาก 21 เขตเศรษฐกิจ และผู้บริหารองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) กลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group: WBG) องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development: OECD) และหน่วยงานสนับสนุนนโยบายของเอเปค (APEC Policy Support Unit: APEC PSU) เพื่อร่วมหารือในประเด็นด้านเศรษฐกิจ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digitalization for Digital Economy) ภายใต้แนวคิดขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งสู่การเงินการคลังยั่งยืนโดยมีการหารือที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้

                 1.1 ผลการหารือประเด็นด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นด้านเศรษฐกิจ โดยผู้แทนจาก IMF ได้รายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2565 ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 ต่อปี ซึ่งชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.0 ต่อปี และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ชะลอตัวลงจากปี 2565 ในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ต่อปีที่ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อปี และคาดการณ์ว่าในปี 2566 เศรษฐกิจของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 เร่งขึ้นเล็กน้อยจากปี 2565 โดยเศรษฐกิจโลกยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์ความขัดแย้งที่ส่งผลต่อราคาพลังงานที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ผลการคาดการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของ ADB และ APEC PSU นอกจากนี้ ADB ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าความร่วมมือของภูมิภาคเอเปคในด้านการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการเงินจะช่วยส่งผลให้เศรษฐกิจของเอเปคสามารถฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ

                 ในการนี้ ผู้แทนไทยได้นำเสนอสถานการณ์และทิศทางเศรษฐกิจไทยโดยคาดว่าในปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 – 3.5 ต่อปี เป็นการขยายตัวเร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัว การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และนโยบายการคลังในลักษณะที่มุ่งเป้า เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงานและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในระดับประเทศและระดับภูมิภาค

 

EXIM One 720x90 C J

 

                 1.2 ผลการหารือในประเด็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ADB และ OECD ได้นำเสนอประสบการณ์ด้านการสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ องค์การระหว่างประเทศข้างต้นได้กล่าวถึงกลไกที่จะสามารถส่งเสริมให้แต่ละเขตเศรษฐกิจสามารถบรรลุสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ เช่น การพิจารณาใช้กลไกของกองทุนสีเขียวของอาเซียน (ASEAN Catalytic Green Finance Facility: ACGF) เพื่อช่วยในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว การมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับการออกพันธบัตรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่างๆ ได้แก่ พ้นธบัตรสีเขียว (Green bond) พันธบัตรเพื่อสังคม (Social bond) พันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability bond) พันธบัตรสีฟ้า (Blue bond) หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น นอกจากนี้ OECD ได้เน้นด้านการส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนและการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงการพัฒนาเครื่องมือและมาตรฐานที่สอดคล้องและดำเนินการร่วมกันได้

                 ในการนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลการสัมมนาเรื่อง Developing the Ecosystem for Sustainable Finance in the Capital Market เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 จังหวัดขอนแก่น และการจัดทำเอกสารข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะสามารถนำไปปรับใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดทำนิยามด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน การพัฒนาตลาดซื้อขายคาร์บอน การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในช่วงของการเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เป็นต้น

                 1.3 ผลการหารือในประเด็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ประชุมได้รับทราบผลของการจัดทำรายงานเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลและนโยบายด้านภาษีในภูมิภาคเอเปค (Digitalization and Tax Policy in Asia and the Pacific) ของ ADB ซึ่งมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายด้านภาษี เช่น การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในการให้ความช่วยเหลือต่อกลุ่มเป้าหมายโดยตรง การเพิ่มความรวดเร็วและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน การอำนวยความสะดวกโดยการเชื่อมโยงข้อมูลบุคคลหรือธุรกิจเข้ากับเลขประจำตัว การนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้ในการวิเคราะห์และคาดการณ์ผลต่างๆ เป็นต้น

                 ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการสัมมนาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เรื่อง Digital Technology for Efficient Tax Collection ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 โดยเป็นการหารือเกี่ยวกับการใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในการบริหารจัดการด้านข้อมูลภาษี รวมถึงแนวทางปฏิบัติด้านภาษีที่เป็นสากลยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการจัดทำเอกสารข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่อง Digitalization of Fiscal Measures and Policy Innovations during the COVID-19 Pandemic ที่กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินนโยบายช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งได้แก่ การอำนวยความสะดวกด้านภาษี การเงิน การบริการของภาครัฐ การศึกษา และสาธารณสุข ทั้งนี้ เอกสารข้อเสนอดังกล่าว ได้ระบุถึงกรณีศึกษาของไทยในการดำเนินนโยบายผ่านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล อาทิ ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National E-Payment) การเพิ่มการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Capture: EDC) ระบบภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และระบบอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ (Government e-Payment System)

                 นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลการจัดทำเอกสารการพิจารณาเชิงนโยบายการเชื่อมโยงการชำระเงินและการโอนเงินข้ามพรมแดน (APEC Policy Considerations for Developing Cross-border Payments and Remittances) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับเขตเศรษฐกิจในเอเปคที่ต้องการเชื่อมโยงการโอนเงินและการชำระเงินระหว่างกัน ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ด้วยต้นทุนที่ถูกลง รวมทั้งสนับสนุนการค้าและการท่องเที่ยวในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในช่วงหลังโควิด-19

                 1.4 ผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเซบู ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าของผลลัพธ์ภายใต้การประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อประสบการณ์และวิธีการสำหรับการลงทุนด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Experiences and Available Tools for Financing a Just Energy Transition) จากผู้แทนสหรัฐอเมริกา ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวทำให้ทราบถึงแนวทางในการจัดหาเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Just Energy Transition) ซึ่งสมาชิกเขตเศรษฐกิจสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับรูปแบบของแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละเขตเศรษฐกิจในอนาคตต่อไป

                 1.5 เรื่องอื่น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศในฐานะประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค (APEC Senior Officials’ Meeting: SOM) ได้รายงานความคืบหน้าของกรอบการประชุม SOM เพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ประจำปี 2565 ที่มีกำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2565 ภายใต้หัวข้อหลักเปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล (Open. Connect. Balance.) ซึ่งสอดคล้องตามแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน ซึ่งมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการจัดทำเขตการค้าเสรี-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP) (2) การฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยว และ (3) การส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยมุ่งเน้นการสร้างสมดุลในด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงานและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทุกระดับ

                 นอกจากนี้ ผู้แทนสหรัฐอเมริกาได้ใช้โอกาสนี้ใน การขอบคุณกระทรวงการคลังไทยในการทำหน้าที่ประธานเอเปคในปีนี้ซึ่งสามารถสานต่อความร่วมมือภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers’ Process: APEC FMP) ได้อย่างต่อเนื่อง และสหรัฐอเมริกายินดีที่จะสานต่อประเด็นสำคัญของไทย โดยกรอบ APEC FMP ในปีหน้าจะให้ความสำคัญกับ (1) ปัญหาสภาพภูมิอากาศและการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Climate and Sustainable Finance) (2) สินทรัพย์ดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Assets and Digital Economy) และ (3) เศรษฐศาสตร์อุปทานสมัยใหม่ (Modern Supply Side Economics) 

                 1.6 ผลการพิจารณาแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 29 (Joint Ministerial Statement of the 29th APEC Finance Ministers’ Meeting) ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาร่างแถลงการณ์ร่วมฯ โดยสามารถบรรลุฉันทามติได้ในเนื้อหาส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมไม่สามารถบรรลุฉันทามติในบางประเด็น ในการนี้ จึงจำเป็นต้องออกแถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 29 (Chair’s Statement of the 29th APEC Finance Ministers’ Meeting) (แถลงการณ์ประธานฯ) เพื่อเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม APEC FMM ครั้งที่ 29 ซึ่งในช่วงระหว่างการประชุมได้มีการปรับปรุงแถลงการณ์ประธานฯ โดยมีบางถ้อยคำแตกต่างจากฉบับร่างที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 ทั้งนี้ ไม่กระทบสาระสำคัญ หรือขัดต่อผลประโยชน์ของไทย และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนต์รีได้ให้ความเห็นชอบไว้ เช่น การเพิ่มข้อความเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040 (APEC Putrajaya Vision 2040) เป็นต้น

 

วิริยะ 720x100

 

          2. การประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย

                 2.1 การประชุม APEC FMM อย่างไม่เป็นทางการ (APEC Finance Ministers’ Retreat) เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจากสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคหรือผู้แทนได้หารือในประเด็นด้านเศรษฐกิจที่มีความสนใจร่วมกัน อาทิ ประเด็นสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันและแนวโน้มเศรษฐกิจ เช่น แรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ภาวะตึงตัวของตลาดแรงงาน ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจากเขตเศรษฐกิจเอเปคได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต พร้อมกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและวินัยการเงินการคลัง

                 2.2 ผลการหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council) ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางในการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการให้บริการทางการเงินดิจิทัลที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนมากยิ่งขึ้น ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) การพัฒนาระบบข้อมูลเปิดที่เชื่อมโยงกัน (Inter-operable Open Data) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตลาดดิจิทัลสำหรับสินเชื่อหมุนเวียน (Supply Chain Finance) เพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และ (3) การส่งเสริมการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางที่เชื่อมโยงกัน (Inter-Operable Central Bank Digital Currencies (CBDCs) เพื่อสนับสนุนให้มีสกุลเงินในรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับการทำธุรกรรมด้านการเงินและด้านธุรกิจ

                 2.3 ผลการหารือทวิภาคี

                          ในช่วงการประชุมดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้หารือทวิภาคีกับหัวหน้าคณะผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจต่างๆ และองค์การระหว่างประเทศ ดังนี้

                          (1) Mr. Wally Adeyemo รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา หัวหน้าคณะผู้แทนสหรัฐอเมริกา โดยได้หารือถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและสหรัฐอเมริกา ข้อกังวลเกี่ยวกับราคาพลังงานที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ รวมถึงประเด็นการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนในการดำเนินนโยบายการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเปค

                          (2) Mr. Mathias Cormann เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยได้หารือถึงประเด็นการแข่งขันอย่างเป็นธรรมของรัฐวิสาหกิจผ่านการปฏิรูปกฎระเบียบภายในประเทศตามแนวปฏิบัติว่าด้วยการกำกับดูแลกิจการรัฐวิสาหกิจของ OECD และรวมทั้งหารือเกี่ยวกับสถานะการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไรไปต่างประเทศ (Base Erosion and Profit Shifting: BEPS) ของไทย

                          (3) Mr. Christopher Hui Ching-yu, Secretary for Financial Services and the Treasury หัวหน้าคณะผู้แทนเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้หารือในประเด็นหลักเกี่ยวกับมุมมองเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปค รวมถึงการสนับสนุนในด้านการเชื่อมโยงระบบการชำระเงิน และการดำเนินงานด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการระดมทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านพันธบัตรสีเขียว และตราสารทางการเงินเพื่อการพัฒนาอื่นๆ รวมทั้ง เห็นพ้องร่วมกันในการพัฒนาความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การเงินและการคลังระหว่างกัน และยกระดับความร่วมมือดังกล่าวให้เข้มแข็งและสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้

                          (4) Mr. Suahasil Nazara รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังอินโดนีเซีย โดยได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งฝ่ายอินโดนีเซียได้ชี้แจงถึงประเด็นด้านการเงิน (ASEAN Finance Priorities) ที่ต้องการผลักดันในช่วงที่สาธารณรัฐอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพกรอบการประชุมอาเซียนในปี 2566 ได้แก่ 1) การฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 2) เศรษฐกิจดิจิทัล และ (3) ความยั่งยืน

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 พฤศจิกายน 2565

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A11110

Click Donate Support Web  

AXA 720 x100

aia 720 x100

PTG 720x100TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

ธกส 720x100

ใจฟู720x100px

ais 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!