การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ สมัยที่ 14 (Ramsar COP 14)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 01 November 2022 20:13
- Hits: 879
การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ สมัยที่ 14 (Ramsar COP 14)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำสมัยที่ 14 (Ramsar COP 14) ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส รวมทั้งให้การรับรองปฏิญญาอู่ฮั่น (ฉบับแก้ไข) (Wuhan Declaration (The revised version)) และมอบหมายหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเป็นผู้รับรองในการประชุมระดับสูง ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขท่าทีไทยฯ และปฏิญญาอู่ฮั่น (ฉบับแก้ไข) (Wuhan Declaration (The revised version)) ที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้เป็นดุลพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเป็นผู้พิจารณาดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก พร้อมรับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการเข้าร่วมการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ สมัยที่ 14 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. ท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ สมัยที่ 14 มีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) ท่าทีไทยสำหรับการประชุมระดับสูง
ประเทศไทยมุ่งหวังให้เกิดการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่ในทะเบียนของอนุสัญญา พื้นที่ชุ่มน้ำ และพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วไป รวมทั้งลดภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ ประเทศไทยจึงขอแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการที่จะร่วมดำเนินการกับประชาคมโลก โดยให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด ตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ และ Wuhan Declaration โดยไม่ขัดกับยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของรัฐบาล
(2) ท่าทีไทยระดับเจ้าหน้าที่ เช่น
1) ประเทศไทยตระหนักว่าการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ฉบับที่ 4 (ค.ศ. 2016 - 2024) เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด จึงเห็นควรให้การสนับสนุนการปรับปรุงแผนกลยุทธ์ฯ ฉบับที่ 4 ให้มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก หลังปี ค.ศ. 2020
2) ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญต่อการเสริมสร้างความร่วมมือในการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ความตกลงระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงอนุสัญญาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
3) ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของการสื่อสาร การเสริมสร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด
2. Wuhan Declaration (The revised version) มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาดเป็นหลักการสำคัญที่สนับสนุนอนุสัญญาเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศของสหประชาชาติ การแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐานหรือแนวทางการแก้ปัญหาโดยอาศัยระบบนิเวศเพื่อบรรเทาและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและเก็บกักคาร์บอน การตระหนักถึงความสำคัญของภาคประชาคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ รวมถึง สตรี เยาวชน และเด็ก ในการดำเนินการตามอนุสัญญา และเน้นว่าการลงมือปฏิบัติ พร้อมทั้งการร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้ทางเทคนิคและการสร้างความตระหนักแก่สาธารณชน ของความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องสำคัญ เร่งด่วน เพื่อลดการสูญเสียของพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลก
3. องค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการเข้าร่วมประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 14 ระหว่างวันที่ 5 - 13 พฤศจิกายน 2565 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และเมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ประกอบด้วย นายธีระชุณ บุญสิทธิ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ผู้แทนกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการต่างประเทศ และจังหวัดนครพนม รวมทั้งสิ้น 15 คน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11109