ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 26 October 2022 01:40
- Hits: 1569
ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้ มท. รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ตามที่ มท. เสนอ เป็นการกำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่ตำบลข่วงเปา ตำบลบ้านหลวง ตำบลจอมทอง ตำบลดอยแก้ว และตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นผังพื้นที่เปิดใหม่ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและการดำรงรักษาเมือง และบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะและสภาพแวดล้อม ให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของผังเมืองรวมชุมชนจอมทอง ซึ่งกำหนดให้เป็น “แหล่งโบราณพุทธศาสนา ล้ำค่าประเพณี สิ่งแวดล้อมดี สาธารณูปโภคพร้อม” โดยเป็นศูนย์กลางด้านการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมและ การบริการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม มีการกำหนดแผนผังและการใช้ประโยชน์ที่ดินภายในเขตผังเมืองรวมจำแนกออกเป็น 13 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทจะกำหนดลักษณะกิจการที่ให้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภทนั้นๆ รวมทั้งกำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ให้ดำเนินการในที่ดินแต่ละประเภท ตลอดจนกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนผังโครงการคมนาคมและขนส่ง อันจะทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม และเป็นการดำรงรักษาพื้นที่เมืองเก่าและย่านที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของประเทศ ซึ่ง มท. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 แล้ว และคณะกรรมการ ผังเมืองได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างประกาศ
กำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ในท้องที่ตำบลข่วงเปา ตำบลบ้านหลวง ตำบลจอมทอง ตำบลดอยแก้ว และตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา และการดำรงรักษาเมือง และบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อม ให้สอดคล้องกับ การพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
1. กำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มีนโยบายและมาตรการเพื่อจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงข่ายคมนาคมขนส่งและบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับและสอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชนในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
1.1 ส่งเสริมและพัฒนาชุมชนเมืองให้เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจและการคมนาคมขนส่งทางตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่
1.2 ส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา
1.3 พัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการให้เพียงพอและได้มาตรฐาน
1.4 อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2. กำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็น 13 ประเภท ดังนี้
ประเภท |
วัตถุประสงค์ |
|
1. ที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อการอยู่อาศัย (สีเหลืองและเส้นทแยงสีขาว) |
- เป็นพื้นที่บริเวณชุมชนที่ยังคงเอกลักษณ์การตั้งถิ่นฐานและ สิ่งปลูกสร้างแบบพื้นถิ่นที่หนาแน่นและชัดเจน รวมทั้งบริเวณที่มีภูมิทัศน์ตามธรรมชาติที่สวยงามควรแก่การรักษา ได้แก่ ชุมชนย่านพระธาตุศรีจอมทองวรมหาวิหาร มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินไปเป็นอย่างอื่น หรืออยู่ในบริเวณโดยรอบกับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ศาสนสถาน ที่สมควรจะใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัยเท่านั้น โดยกำหนดความสูงของอาคารไม่เกิน 2 ชั้น |
|
2. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) |
- เป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ภายในชุมชนดั้งเดิมและบริเวณต่อเนื่องซึ่งมีการตั้งถิ่นฐานหนาแน่นน้อย ในกลุ่มบ้านย่อยๆ บริเวณบ้านข่วงเปา บ้านอังครักษ์ บ้านสบเตี๊ยะ และพื้นที่ชุมชนต่อเนื่องจากที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางบริเวณเขตเทศบาลตำบลจอมทอง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยที่เบาบาง ส่งเสริมการก่อสร้างอาคารประเภท บ้านเดี่ยว บ้านแฝด เป็นส่วนใหญ่ ไม่อนุญาตให้มีโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภท ควบคุมความสูงของกิจการอื่น (กิจการรอง) ให้ดำเนินการหรือประกอบกิจการได้ในอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 12 เมตร |
|
3. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) |
- เป็นพื้นที่บริเวณต่อเนื่องหรือล้อมรอบพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก บริเวณพื้นที่เทศบาลตำบลจอมทอง และบริเวณที่มีการอยู่อาศัยหนาแน่น บริเวณบ้านข่วงเปา บ้านอังครักษ์ บ้านสบเตี๊ยะ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางที่มีการสร้างที่อยู่อาศัยได้ทุกประเภท เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว อาคารชุด หอพัก อาคารอยู่อาศัยรวม โดยมีข้อจำกัดเรื่องความสูงของอาคารริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 บริเวณพระธาตุศรีจอมทองวรมหาวิหาร ให้ดำเนินการหรือประกอบกิจการได้ในอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 9 เมตร เพื่อเปิดมุมมองไปยังพระธาตุฯ และควบคุมความสูงของกิจการอื่น (กิจการรอง) ให้ดำเนินการหรือประกอบกิจการได้ในอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 15 เมตร |
|
4. ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) |
- เป็นพื้นที่ย่านการค้าของชุมชนจอมทอง สามารถขยายตัวได้ในอนาคต ได้แก่ ที่ราบบริเวณริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ทางตอนกลางของผัง ซึ่งเป็นบริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึงโดย อยู่ห่างจากแม่น้ำปิง ทั้งนี้ เพื่อให้ปลอดภัยจากอุทกภัยและ เพื่อรักษาคุณภาพของแหล่งน้ำธรรมชาติ มีวัตถุประสงค์ให้มีลักษณะการใช้ที่ดินแบบผสม (Mixed-use) ในบริเวณศูนย์กลางเมือง (City Core) หรือที่เรียกว่า CBD (Central Business District) ประกอบด้วยอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า ร้านค้า โรงแรม อาคารชุด ห้องแถว เรือนแถว และควบคุมความสูงของกิจการอื่น (กิจการรอง) ให้ดำเนินการหรือประกอบกิจการได้ในอาคารที่ไม่ใช่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ |
|
5. ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) |
- เป็นพื้นที่ฉนวน (Buffer Zone) ของชุมชนเมืองให้คงสภาพชนบทและประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีวัตถุประสงค์ให้เป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม ประกอบด้วยการประกอบเกษตรกรรม เช่น ทำไร่ ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ควบคุมความสูงของกิจการอื่น (กิจการรอง) ให้ดำเนินการหรือประกอบกิจการได้ในอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 12 เมตร |
|
6. ที่ดินประเภทปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สีเขียวมีกรอบและเส้นทแยงสีน้ำตาล) |
- เป็นพื้นที่เขตดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม |
|
7. ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สีเขียวอ่อน) |
- เป็นพื้นที่โล่งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ชุมชนมีสภาพแวดล้อมที่ดี มีอากาศบริสุทธิ์ มีที่พักผ่อนหย่อนใจเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่สมบูรณ์ มีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น สวนป่าสาธารณประโยชน์ นอกจากนี้พื้นที่ที่ควรกำหนดให้เป็นที่โล่งฯ ของชุมชนที่สำคัญ คือ พื้นที่ริมแม่น้ำปิง เพื่อใช้เป็นพื้นที่รับน้ำในฤดูน้ำหลาก ซึ่งจำเป็นต้องมีการป้องกันการรุกล้ำของสิ่งปลูกสร้างในแนวทางน้ำ |
|
8. ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ (สีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีขาว) |
- เป็นพื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ และพื้นที่ของเอกชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว กรณีที่ดินของป่าไม้มีวัตถุประสงค์ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการสงวนและคุ้มครองดูแลรักษาหรือบำรุงป่าไม้ สัตว์ป่า ต้นน้ำ ลำธาร และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีและกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เอกชนเป็นเจ้าของหรือผู้ครองครองโดยชอบด้วยกฎหมาย กำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อให้สอดคล้องกับป่าไม้ โดยมีการผ่อนปรนให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการดำรงอยู่ได้ เช่น การอยู่อาศัย เกษตรกรรม โดยมีข้อจำกัดเรื่องขนาดและ ความสูงของอาคาร |
|
9. ที่ดินประเภทสถาบันการศึกษา (สีเขียวมะกอก) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดพื้นที่ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาตามการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน เช่น โรงเรียน |
|
10. ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สีฟ้า) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตรและทำการประมง และต้องการอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชนเมือง |
|
11. ที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย (สีน้ำตาลอ่อน) |
- เป็นพื้นที่สำคัญทางศาสนาและประวัติศาสตร์ ได้แก่ บริเวณวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหารมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมประเภทกิจกรรมไม่ให้รบกวนต่อพื้นที่ประวัติศาสตร์และศาสนสถานที่สำคัญ ส่งเสริมให้พื้นที่ประวัติศาสตร์เกิดความสง่างามโดยการกำหนดมาตรการสำหรับสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ให้มีความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมและศิลปกรรมท้องถิ่นและควบคุมความหนาแน่นของประชากรและสิ่งปลูกสร้างไม่ให้มีมากจนเกินไป |
|
12. ที่ดินประเภทสถาบันศาสนา (สีเทาอ่อน) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่สถาบันศาสนาตามการใช้ที่ดินในปัจจุบัน เช่น วัด มูลนิธิจิตเมตตาธรรม สำนักสงฆ์ |
|
13. ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ (สีน้ำเงิน) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้ประโยชน์ที่ดินเกี่ยวกับกิจกรรม ต่างๆ ของรัฐบาล เพื่อการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เช่น โรงพยาบาล สำนักงานเทศบาล ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง |
3. กำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ให้ดำเนินการได้ในที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) และที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท
4. กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณแนวถนนสาย ก 1 ถนนสาย ก 2 ถนนสาย ก 3 ถนนสาย ก 4 ถนนสาย ก 5 ถนนสาย ก 6 ถนนสาย ก 7 ถนนสาย ข 1 ถนนสาย ข 2 ถนนสาย ค 1 และถนนสาย ค 2 ตามแผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่งท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยให้ใช้ประโยชน์เพื่อกิจการตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้
4.1 การสร้างถนนหรือเกี่ยวข้องกับถนน และการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ
4.2 การสร้างรั้วหรือกำแพง
4.3 เกษตรกรรมหรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมที่มีความสูงของอาคารไม่เกิน 9 เมตร หรือไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10895