ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนบ้านโคก – ม่วงเจ็ดต้น จังหวัดอุตรดิตถ์ พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 26 October 2022 01:37
- Hits: 1486
ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนบ้านโคก – ม่วงเจ็ดต้น จังหวัดอุตรดิตถ์ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนบ้านโคก – ม่วงเจ็ดต้น จังหวัดอุตรดิตถ์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้ มท. รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ที่ มท. เสนอ เป็นการกำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่ตำบลม่วงเจ็ดต้น และตำบลบ้านโคก อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยเป็นผังพื้นที่เปิดใหม่ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์ การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีนโยบายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาชุมชนบ้านโคก – ม่วงเจ็ดต้น ให้เป็นศูนย์กลางการบริหารการปกครอง การค้าตามแนวชายแดน ส่งเสริมและพัฒนาการบริการทางสังคม การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการให้เพียงพอและได้มาตรฐาน ส่งเสริมการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมให้สอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชนและระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้มีการกำหนดแผนผังและการใช้ประโยชน์ที่ดินภายในเขตผังเมืองรวมจำแนกออกเป็น 10 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทจะกำหนดลักษณะกิจการที่ให้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภทนั้นๆ รวมทั้งกำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ให้ดำเนินการในที่ดินแต่ละประเภท ตลอดจนกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนผังโครงการคมนาคมและขนส่ง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 และคณะกรรมการผังเมืองได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างประกาศ
กำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่ตำบลม่วงเจ็ดต้น และตำบลบ้านโคก อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์ การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
1. กำหนดให้ผังเมืองรวมชุมชนบ้านโคก – ม่วงเจ็ดต้น จังหวัดอุตรดิตถ์ มีนโยบายและมาตรการเพื่อจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงข่ายคมนาคมขนส่งและบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับและสอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชนในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
1.1 ส่งเสริมและพัฒนาชุมชนบ้านโคก – ม่วงเจ็ดต้น ให้เป็นศูนย์กลางการบริหารการปกครอง และการค้าขายตามแนวชายแดนของอำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์
1.2 ส่งเสริมการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมให้สอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชนและระบบเศรษฐกิจ
1.3 ส่งเสริมและพัฒนาการบริการทางสังคม การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการให้เพียงพอและได้มาตรฐาน
1.4 อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2. กำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็น 10 ประเภท ดังนี้
ประเภทและวัตถุประสงค์ |
การใช้ประโยชน์ |
|
1) ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) - เป็นพื้นที่ชุมชนเดิมและพื้นที่รอบนอกชุมชนเมืองต่อจากพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง - มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยที่เบาบางและรองรับการขยายตัวของชุมชนสำหรับการอยู่อาศัยในอนาคต |
- ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยได้ทุกประเภท เช่น บ้านเดี่ยว ห้องแถว หอพัก อาคารอยู่อาศัยรวม - มีข้อจำกัดเรื่องขนาดของพื้นที่อาคารซึ่งต้องไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่ และห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อบริเวณที่พักอาศัยและชุมชน เช่น คลังน้ำมันเพื่อการจำหน่าย สุสานและฌาปนสถาน โรงฆ่าสัตว์ - โรงงานที่กำหนดให้ดำเนินการได้ เช่น การทำขนมปัง การทำน้ำดื่ม โรงงานซ่อมรองเท้าหรือเครื่องหนัง |
|
2) ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) - เป็นพื้นที่บริเวณล้อมรอบพื้นที่พาณิชยกรรมและ ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก - มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางในการรองรับการอยู่อาศัยบริเวณที่ต่อเนื่องจากศูนย์กลางพาณิชยกรรม |
- ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยได้ทุกประเภท เช่น บ้านเดี่ยว ห้องแถว หอพัก อาคารอยู่อาศัยรวม - มีข้อจำกัดเรื่องขนาดของพื้นที่อาคารซึ่งต้องไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่พิเศษ และห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อบริเวณที่พักอาศัยและชุมชน เช่น คลังน้ำมัน เพื่อการจำหน่าย สุสานและฌาปนสถาน โรงฆ่าสัตว์ - โรงงานที่กำหนดให้ดำเนินการได้ เช่น การทำน้ำแข็ง การทำน้ำดื่ม การบรรจุสินค้าทั่วไป |
|
3) ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) - เป็นพื้นที่ศูนย์กลางด้านพาณิชยกรรมของชุมชน - มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมหลักของชุมชน |
- ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นเพื่อรองรับกิจการ เช่น ตลาด ร้านค้า โรงแรม - มีข้อจำกัดเรื่องขนาดของพื้นที่อาคารซึ่งต้องไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่พิเศษ และห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อบริเวณพาณิชยกรรมและชุมชน เช่น คลังน้ำมัน เพื่อการจำหน่าย สุสานและฌาปนสถาน โรงฆ่าสัตว์ - โรงงานที่กำหนดให้ดำเนินการได้ เช่น การทำน้ำแข็ง การทำน้ำดื่ม การซ่อมจักรยานยนต์ |
|
4) ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) - เป็นพื้นที่กันชนโดยรอบพื้นที่ชุมชนให้คงสภาพชนบทและประกอบอาชีพเกษตรกรรม - มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่เกษตรกรรม |
- ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เช่น การทำไร่ ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ - ห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ ได้แก่ การจัดสรรที่ดินเพื่อประกอบอุตสาหกรรมการจัดสรรที่ดินเพื่อประกอบพาณิชยกรรม การจัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม - โรงงานที่กำหนดให้ดำเนินการได้ เช่น การอบพืชหรือเมล็ดพืช การสีข้าว การถนอมผัก พืช หรือผลไม้ |
|
5) ที่ดินประเภทปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (สีเขียว มีกรอบและเส้นทแยงสีน้ำตาล) - เป็นพื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม - มีวัตถุประสงค์ให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อ การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม |
- ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม |
|
6) ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สีเขียวอ่อน) - เป็นพื้นที่โล่ง - มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ชุมชนมีสภาพแวดล้อมที่ดี มีอากาศบริสุทธิ์ มีที่พักผ่อน หย่อนใจ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่สมบูรณ์ มีคุณภาพชีวิตที่ดี |
- ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่สมบูรณ์ มีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น สนามกีฬา - ที่ดินที่เอกชนเป็นเจ้าของหรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อนันทนาการ หรือเกี่ยวกับนันทนาการ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การอยู่อาศัย เกษตรกรรม หรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น - ห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่โล่ง ได้แก่ การจัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย การอยู่อาศัยประเภทห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว |
|
7) ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ (สีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีขาว) - เป็นพื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ และพื้นที่ของเอกชนที่อยู่บริเวณดังกล่าว - กรณีที่ดินของป่าไม้มีวัตถุประสงค์ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการสงวนและคุ้มครองดูแลรักษาหรือบำรุง ป่าไม้ สัตว์ป่า ต้นน้ำ ลำธาร และทรัพยากรธรรมชาติ อื่นๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีและกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าและการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ |
- ที่ดินซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย กำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การอยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวและบ้านแฝดที่มิใช่ การจัดสรร หรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น - ห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ ได้แก่ การกำจัดขยะมูลฝอย |
|
8) ที่ดินประเภทสถาบันการศึกษา (สีเขียวมะกอก) - มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดพื้นที่ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเป็นสถาบันการศึกษาในบริเวณที่เป็นโรงเรียนตามสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน |
- การใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน |
|
9) ที่ดินประเภทสถาบันศาสนา (สีเทาอ่อน) - มีวัตถุประสงค์ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการศาสนาหรือเกี่ยวข้องกับการศาสนาตามสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน |
- การใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน ได้แก่ วัด |
|
10) ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ (สีน้ำเงิน) - มีวัตถุประสงค์ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อสถาบันราชการ การสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะของรัฐ - กำหนดไว้ในบริเวณที่มีหลักฐานตามกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เป็นที่สาธารณะ ที่ราชพัสดุ และบริเวณพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์เป็นสถานที่ราชการในปัจจุบัน |
- การใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน ได้แก่ สถานบริการสาธารณสุข หมวดการทาง ที่ว่าการอำเภอ |
3. กำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ให้ดำเนินการได้ในที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) และที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้ที่ดินแต่ละประเภท
4. กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่ง โดยในบริเวณ แนวถนนสาย ก ตามแผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่งท้ายประกาศนี้ ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้
4.1 การสร้างถนนหรือเกี่ยวข้องกับถนน และสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ
4.2 การสร้างรั้วหรือกำแพง
4.3 เกษตรกรรมหรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมที่มีความสูงของอาคารไม่เกิน 9 เมตร หรือไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10894