รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย (Thailand National Digital Trade Platform: NDTP)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 26 October 2022 01:12
- Hits: 1157
รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย (Thailand National Digital Trade Platform: NDTP)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย (Thailand National Digital Trade Platform: NDTP)1 [คณะรัฐมนตรีมีมติ (10 กันยายน 2562) เห็นชอบในหลักการแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)2 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP ให้มีความสอดคล้องกับแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางที่ สพร. กำหนดรวมทั้งสอดคล้องกับระบบบริการดิจิทัลอื่นๆ เช่น ระบบ National Single Window (NSW) ของกระทรวงการคลัง (กค.) (กรมศุลกากร) เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้อย่างเป็นระบบและดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป] ทั้งนี้ ก.พ.ร. ในการประชุมครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 มีมติรับทราบรายงานความก้าวหน้าฯ และให้รายงานคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นข้อมูลนำเสนอในที่ประชุมเอเปคในเดือนพฤศจิกายน 2565
สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การพัฒนาต้นแบบ (Prototype) ของแพลตฟอร์ม NDTP3 ระบบแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศที่สมบูรณ์จะเป็นระบบที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องรวมถึงเชื่อมต่อและรับส่งข้อมูลกับระบบสารสนเทศของหน่วยงานได้จำนวนมาก ดังนั้น การพัฒนาออกแบบระบบสารสนเทศจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างของระบบเพื่อรองรับความซับซ้อนที่จะเกิดขึ้น สรุปผลการดำเนินการได้ ดังนี้
1.1 การศึกษาและพัฒนาต้นแบบ (Prototype) ของแพลตฟอร์ม NDTP สำนักงาน ก.พ ร. ได้พัฒนาต้นแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อใช้เป็นระบบทดสอบความถูกต้องในการเชื่อมต่อรับส่งข้อมูลเมื่อระบบแพลตฟอร์ม NDTP เริ่มปฏิบัติการจริง ให้สามารถเป็นแพลตฟอร์มหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ได้ทำการทดสอบเชื่อมต่อกับระบบ NSW และระบบการค้าดิจิทัลแพลตฟอร์มของต่างประเทศ Taobao ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับขายสินค้า (Market Place Application) ของบริษัท Alibaba Group สาธารณรัฐประชาชนจีน และเป็น e-Commerce แบบ B2B4 ชั้นนำของโลก
1.2 การทดลองเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มการค้าของต่างประเทศ ปัจจุบัน กกร. อยู่ระหว่างการพัฒนาขีดความสามารถและสถาปัตยกรรมของระบบต่อยอดจากต้นแบบ (Prototype) ที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ศึกษาและออกแบบไว้ รวมทั้ง อยู่ระหว่างทดสอบการเชื่อมต่อการใช้งานกับแพลตฟอร์มการค้าระหว่างประเทศ TradeWaltz5 ประเทศญี่ปุ่น และ The Networked Trade Platform (NTP) สาธารณรัฐสิงคโปร์6โดยการดำเนินการในระยะแรกได้กำหนดให้มีการทดสอบการรับส่งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ประกอบการค้าระหว่างประเทศบนแพลตฟอร์มตามมาตรฐานของ The United Nations Centre for Trade Facilitation and Electronic Business (UN/CEFACT)7 จำนวน 3 เอกสาร ได้แก่ (1) ใบสั่งซื้อสินค้า (2) ใบแจ้งหนี้ และ (3) ใบแสดงรายการบรรจุหีบห่อโดยแพลตฟอร์ม NDTP จะกำหนดให้ดำเนินการได้เฉพาะกรณีการชำระเงินระหว่างประเทศที่ผู้นำเข้าชำระเงินให้กับผู้ส่งออกหลังจากที่สินค้าถูกส่งมาถึงผู้นำเข้าเรียบร้อยแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ เป็นการให้บริการผู้นำเข้าและผู้ส่งออกในการจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งผ่านแพลตฟอร์ม NDTP และเชื่อมโยงเอกสารไปยัง TradeWaltz และ NTP ควบคู่กับการตรวจสอบป้องกันการใช้เอกสารซ้ำและเอกสารปลอมสำหรับ ขอสินเชื่อกับธนาคารในประเทศไทยโดยผ่านระบบ Trade Document Registry (TDR) ด้วย ซึ่งหากเอกสารดังกล่าวมีมาตรฐานที่เป็นสากลและสามารถส่งต่อในระบบได้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้ภาคเอกชนสามารถลดค่าใช้จ่ายในการจัดเตรียมเอกสารและลดระยะเวลาในการดำเนินการด้านการนำเข้า-ส่งออกได้ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะสามารถตรวจสอบเอกสารได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ อันจะทำให้สามารถตรวจสอบการดำเนินการด้านการนำเข้า-ส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มทดสอบระบบได้อย่างเต็มรูปแบบในเดือนกันยายน 25658 และในเดือนพฤศจิกายน 2565 กกร. จะนำเสนอในที่ประชุมเอเปคในหัวข้อ APEC Digital Trade Transformation Work Programme โดยจะแสดงระบบทดสอบการรับส่งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการค้าระหว่างประเทศให้กับประเทศคู่ค้าในเวทีการประชุมเอเปค ตลอดจนหารือถึงกรอบความร่วมมือในการพัฒนาเชื่อมโยงระบบระหว่างประเทศ และผลักดันให้เกิดการขยายผลการพัฒนาที่เชื่อมโยงกันทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำของภูมิภาคในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและของโลก
1.3 การสำรวจความคิดเห็นเพื่อศึกษาปัจจัยและเงื่อนไขจูงใจตลอดจนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ผู้ประกอบการสนใจใช้บริการแพลตฟอร์ม NDTP เมื่อเปิดให้บริการ ประกอบด้วยปัจจัย 4 ด้าน ได้แก่
ปัจจัย |
สาระสำคัญ |
|
1. ด้านความต้องการเชิงระบบ |
ความง่ายในการใช้งานแพลตฟอร์ม การพัฒนาฟังก์ชันที่รองรับการให้บริการใหม่อยู่เสมอ รองรับการให้บริการที่หลากหลายภาษาสามารถให้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันในแต่ละอุตสาหกรรมได้ เชื่อมต่อกับผู้ประกอบการในต่างประเทศได้ ระบบสืบค้นข้อมูลที่มีประสิทธิภาพรองรับการให้บริการที่ครอบคลุมในทุกกิจกรรมทางการค้าโดยมีลักษณะเป็นการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จและเชื่อมต่อทั้งกับคู่ค้าในต่างประเทศและบริการจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง |
|
2. ด้านการเงิน |
ช่วยลดต้นทุนที่เป็นค่าใช้จ่ายหรือระยะเวลาการดำเนินงานขององค์กรลงได้กระบวนการทางภาษีเป็นไปด้วยความรวดเร็วมากขึ้น และ การเรียกเก็บค่าบริการในอัตราที่เหมาะสม |
|
3. ด้านความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์มในการเก็บรักษาข้อมูลเอกสาร |
การได้รับการรับรองมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัย หรือการกำกับดูแล เทคโนโลยีดิจิทัลที่ดีตามมาตรฐานสากล และแพลตฟอร์มได้รับ การยอมรับจากผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก |
|
4. ด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง |
รัฐบาลช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายและการประชาสัมพันธ์ให้แพลตฟอร์ม เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับ |
2. การขับเคลื่อนการดำเนินการในรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ช่วยยกระดับการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการทุกขนาด ทุกประเภทธุรกิจ ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลโดยสมบูรณ์โดยให้ภาคเอกชนที่มีความชำนาญในการบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขนาดใหญ่เป็นกลไกหลักในการดำเนินงานเชิงรุกในด้านการให้บริการ มีหน้าที่หลักในการดูแลระบบและชักจูงให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการแพลตฟอร์ม ในขณะที่ภาครัฐจะมีบทบาทเชิงสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการบางส่วนเพื่อให้ค่าบริการอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) การสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบการผ่านมาตรการต่างๆ ให้สิทธิประโยชน์และส่งเสริมด้านภาษี ตลอดจนมีบทบาทในการประสานงาน ผลักดันให้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศเป็นแบบไร้กระดาษ สร้างมาตรฐานของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์รองรับแพลตฟอร์ม NDTP และสนับสนุนการประสานงานเพื่อบูรณาการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นระหว่างแพลตฟอร์ม ซึ่งปัจจุบันโครงการแพลตฟอร์ม NDTP ได้ถูกบรรจุไว้ในแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563-2570 ฉบับปรับปรุงด้วยแล้ว โดยมีสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ ทั้งนี้ คาดว่าจะเปิดให้บริการแพลตฟอร์ม NDTP ในรูปแบบ PPP ได้ภายในเดือนธันวาคม 2567 ระหว่างนี้การพัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP จะได้มีการทดสอบระบบอย่างต่อเนื่อง โดยภาคเอกชนยินดีสนับสนุนข้อมูลและการดำเนินการอย่างเต็มที่
3. การดำเนินการในระยะต่อไป เช่น (1) ศึกษาแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายเพื่อสนับสนุน การขับเคลื่อนแพลตฟอร์ม NDTP (2) พิจารณาประเทศที่มีความพร้อมเพื่อขยายผลการดำเนินการแพลตฟอร์ม NDTP ในอนาคต ซึ่งปัจจุบัน กกร. ได้เริ่มเจรจากับสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเยอรมนี สหราชอาณาจักร เครือรัฐออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์แล้ว (3) สร้างระบบนิเวศของแพลตฟอร์ม NDTP ให้สมบูรณ์ขึ้นพร้อมรองรับการเชื่อมต่อกับระบบการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศในอนาคต และ (4) แลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จ การส่งเสริมจากภาครัฐ รวมถึงปัญหา อุปสรรค และแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มให้ยั่งยืน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อยกระดับการให้บริการภาครัฐด้วยระบบดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง
4. การเตรียมความพร้อมของหน่วยงานในการขับเคลื่อนแพลตฟอร์ม NDTP เช่น
หน่วยงาน |
บทบาทการเตรียมความพร้อม |
สำนักงาน ก.พ.ร. |
เป็นหน่วยงานหลักในการเชื่อมโยงประสานการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนและสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP ให้เกิดผลเชิงรูปธรรม |
กกร. |
เป็นหน่วยงานหลักของภาคเอกชนร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. ในการพัฒนา สนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP รวมถึงการศึกษารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมและรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้เกิดผลเชิงรูปธรรมโดยเร็ว |
สำนักงาน ป.ย.ป. |
ขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศให้เอื้อต่อการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ เพื่อสนับสนุนการให้บริการแพลตฟอร์ม NDTP |
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา |
ศึกษาและพิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องบนหลักการพื้นฐานและหลักเกณฑ์ทางกฎหมายสากล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการค้าระหว่างประเทศและสนับสนุนการให้บริการแพลตฟอร์ม NDTP |
กค. |
สนับสนุนนโยบายและแนวทางการพัฒนาระบบ NSW ให้เอื้อต่อการเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลกับแพลตฟอร์ม NDTP ตลอดจนให้การสนับสนุนนโยบายเพื่อจูงใจผู้ประกอบการใช้แพลตฟอร์ม NDTP |
______________
1มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบบริการดิจิทัลสำหรับการค้าระหว่างประเทศ ในการอำนวยความสะดวกสำหรับการนำเข้าและส่งออกสินค้าให้แก่ภาคเอกชน เชื่อมโยงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาคการประกันภัย ภาคการเงินการธนาคาร ภาคผู้ประกอบการ และภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ ทั้งในและนอกประเทศในรูปแบบของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูง ช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ และจากผลการศึกษาของ กกร. พบว่า การสร้างแพลตฟอร์มฯ จะทำให้เกิดการแปลงเอกสารการค้าจากรูปแบบกระดาษเป็นดิจิทัลที่ส่งผลให้ลดค่าใช้จ่ายได้ถึงร้อยละ 60 ซึ่งประเทศไทยมีเอกสารด้านการส่งออกในแต่ละเดือนมากกว่า 10 ล้านฉบับ ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายต่อเดือนไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท นับเป็นการพัฒนาตามแนวนโยบายการยกระดับด้านดิจิทัลของภาครัฐเพื่อมุ่งการเป็น Thailand 4.0 หากประเทศไทยดำเนินการได้สำเร็จ จะเป็นประเทศอันดับ 3 ของเอเชีย ถัดจากประเทศญี่ปุ่นและสาธารณรัฐสิงคโปร์ และอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียนที่นำระบบแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลมาใช้
2 กกร. ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งเป็นสถาบันหลักภาคเอกชนในการส่งเสริมการค้า การอุตสาหกรรม และการเงินของประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นศูนย์รวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นเอกภาพของภาคธุรกิจเอกชนเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ไขปัญหาทางการค้าและเศรษฐกิจ
3การพัฒนาต้นแบบ (Prototype) ของแพลตฟอร์ม NDTP มุ่งเน้นการให้บริการในเชิงพาณิชย์ที่ต้องคำนึงถึงการขยายขอบเขตการให้บริการเชิงปริมาณ เพื่อให้สามารถรองรับธุรกรรมจำนวนมากได้ ตลอดจนมาตรฐานด้านเอกสารที่ใช้ในการทำธุรกรรมที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศคู่ค้า
4 B2B หรือ Business to Business คือ การทำการค้าระหว่างธุรกิจทำกับธุรกิจด้วยกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจทั้งด้านวัตถุดิบ การผลิตสินค้า หรือการบริการ เพื่อประโยชน์หรือการพัฒนาธุรกิจขององค์กร โดยไม่ใช่การนำไปเพื่ออุปโภคหรือบริโภคเอง
5TradeWaltz เป็นแพลตฟอร์มการแบ่งปันข้อมูลทางการค้าระหว่างประเทศ ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจในการเข้าถึงข้อมูลของบริษัทต่างๆ ที่เข้าร่วมระบบต่างๆ ทั้งประเภทสินค้า เส้นทางการจัดจำหน่าย และข้อมูลธุรกรรม การนำเข้า-ส่งออก รวมถึงเชื่อมโยงข้อมูลกับภาครัฐ ที่ทำให้ธุรกิจสามารถตัดสินใจและคันหาคู่ค้าที่มีศักยภาพสูงสุดได้ดีขึ้น
6NTP เป็นแพลตฟอร์มทางการค้าระหว่างประเทศที่ให้บริการแบบครบวงจรภายใต้การดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งของสาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการค้า การเงิน และห่วงโซ่อุปทานชั้นนำของโลก
7UN/CEFACT ทำหน้าที่เป็นจุดรวมคำแนะนำการอำนวยความสะดวกทางการค้าและมาตรฐานทางธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งครอบคลุมทั้งกระบวนการทางธุรกิจในเชิงพาณิชย์และของรัฐบาล
8จากการประสาน ก.พ.ร. แจ้งว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการทดสอบระบบได้อย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากยังอยู่ระหว่าง กกร. พัฒนาขีดความสามารถของระบบ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10889