สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 26 October 2022 00:59
- Hits: 1292
สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอสรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (เดือนเมษายน-มิถุนายน 2565) และแนวทางในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค เพื่อประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความร่วมมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนและการบริหารจัดการเรื่องร้องทุกข์ต่อไป [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (29 พฤศจิกายน 2548) ที่รับทราบแนวทางการจัดระเบียบของระบบกระบวนการแก้ไขปัญหาตามข้อร้องเรียนของประชาชนและมอบหมายให้ทุกกระทรวงดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว โดยให้ สปน. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการติดตามผลการดำเนินการและสรุปรายงานผลความคืบหน้าในการดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบทุก 3 เดือน] สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชนในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (เดือนเมษายน-มิถุนายน 2565)
1.1 สถิติการแจ้งเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นของประชาชน ที่ยื่นเรื่องผ่านช่องทาง การร้องทุกข์ 1111 รวมทั้งสิ้น 16,742 เรื่อง สามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติ 13,891 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 82.97 และรอผลการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2,851 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 17.03
1.2 หน่วยงานที่ได้รับการประสานงานเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นมากที่สุด 5 ลำดับแรก ดังนี้
(1) ส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1,255 เรื่อง กระทรวงการคลัง 538 เรื่อง กระทรวงสาธารณสุข 484 เรื่อง กระทรวงมหาดไทย 443 เรื่อง และกระทรวงแรงงาน 391 เรื่อง
(2) รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 156 เรื่อง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 137 เรื่อง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 115 เรื่อง การประปาส่วนภูมิภาค 103 เรื่อง และการไฟฟ้านครหลวง 101 เรื่อง
(3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 888 เรื่อง จังหวัดนนทบุรี 234 เรื่อง สมุทรปราการ 232 เรื่อง ปทุมธานี 207 เรื่อง และชลบุรี 172 เรื่อง
2. การประมวลผลและวิเคราะห์เรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็น ในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สรุปได้ ดังนี้
2.1 สถิติจำนวนเรื่องร้องทุกข์เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณที่ผ่านมา โดยในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีเรื่องร้องทุกข์ 33,736 เรื่อง ซึ่งน้อยกว่าในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 7,866 เรื่อง (มีเรื่องราวร้องทุกข์ 41,602 เรื่อง)
2.2 ประเด็นเรื่องร้องทุกข์ที่ประชาชนยื่นเรื่องมากที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่
(1) เสียงรบกวน/สั่นสะเทือน เช่น ขอให้แก้ไขปัญหามลภาวะทางเสียงจากสถานบันเทิง สถานประกอบการ ร้านอาหาร บ้านเรือน และวัยรุ่นมั่วสุมรวมกลุ่มแข่งขันรถจักรยานยนต์ส่งเสียงดังรบกวน 1,336 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,277 เรื่อง (ร้อยละ 95.58)
(2) ไฟฟ้า เช่น ขอให้แก้ปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้อง และซ่อมแซมไฟฟ้าส่องสว่างริมทาง หม้อแปลงไฟฟ้า สายไฟฟ้า และเสาไฟฟ้า รวมทั้งขอให้ขยายเขตการให้บริการไฟฟ้า 951 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 902 เรื่อง (ร้อยละ 94.85)
(3) โทรศัพท์ เช่น ขอให้ปรับปรุงระบบการให้บริการทางโทรศัพท์หมายเลขสายด่วน 1422 ของกรมควบคุมโรค หมายเลขสายด่วน 1506 ของสำนักงานประกันสังคม และหมายเลขโทรศัพท์พื้นฐานของหน่วยงานในส่วนภูมิภาค 710 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 617 เรื่อง (ร้อยละ 86.90)
(4) การรักษาพยาบาล เช่น ขอให้มีความเข้มงวดในการปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยเฉพาะระลอกของสายพันธุ์โอไมครอน BA.4 และ BA.5 และขอให้จัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รวมทั้งขอให้พิจารณาการอนุญาตให้ถอดหน้ากากอนามัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วยความปลอดภัยและไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน 692 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 614 เรื่อง (ร้อยละ 88.73)
(5) ประเด็นเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น ขอให้แก้ไขปัญหากลุ่มมิจฉาชีพโทรศัพท์หลอกลวงประชาชน (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) และขอให้แก้ไขปัญหากลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ 516 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 386 เรื่อง (ร้อยละ 74.81)
(6) ถนน เช่น ขอให้ปรับปรุงซ่อมแซม/ก่อสร้างถนน พื้นผิวถนน สะพานกลับรถ บาทวิถี ตีเส้นแบ่งช่องการจราจร ขยายช่องทางจราจร ไฟฟ้าส่องสว่างริมทาง และติดตั้งป้ายสัญลักษณ์จราจร และขอให้ปรับปรุงถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางแอสฟัลต์หรือถนนคอนกรีต 456 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 386 เรื่อง (ร้อยละ 84.65)
(7) น้ำประปา เช่น ขอให้แก้ไขปัญหาน้ำประปาไม่ไหล ไหลอ่อนและไม่มีคุณภาพ และขอให้ขยายเขตการให้บริการน้ำประปา 443 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 409 เรื่อง (ร้อยละ 92.33)
(8) การเมือง เช่น ขอเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และการชุมนุมทางการเมือง และการบริหารงานของรัฐบาล 432 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 424 เรื่อง (ร้อยละ 98.15)
(9) หนี้สินในระบบ เช่น ขอให้ช่วยเหลือเจรจาไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สินกับสถาบันการเงิน และขอเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกมาตรการการปรับลดหนี้และพักชำระหนี้ 429 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 187 เรื่อง (ร้อยละ 43.59)
(10) ประเด็นเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และเสรีภาพ เช่น ขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับการถูกข่มขู่คุกคามและทำร้ายร่างกาย และขอให้เร่งรัดการดำเนินคดีเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกาย 348 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 294 เรื่อง (ร้อยละ 84.48)
2.3 รายงานสรุปการสอบถามข้อมูล แจ้งเหตุ ร้องขอความช่วยเหลือและเสนอข้อคิดเห็น ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ผ่านสายด่วน 1111 (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-30 มิถุนายน 2565) ซึ่งมีประเด็นที่ประชาชนสอบถามข้อมูลและเสนอข้อคิดเห็น 17,412 เรื่อง ซึ่งดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งหมด ส่วนใหญ่เกี่ยวกับแนวทางและข้อปฏิบัติในการป้องกันการติดเชื้อและมาตรการในการช่วยเหลือด้านต่างๆ และประเด็นที่ประชาชนขอความช่วยเหลือและแจ้งเหตุ 1,608 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,278 เรื่อง ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการกำหนดแนวทาง มาตรการดูแล การเยียวยาให้ความช่วยเหลือ และมาตรการป้องกัน
2.4 การแจ้งเบาะแสการกระทำผิดกฎหมายและการร้องเรียนซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านสายด่วน 1111 (ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2564-30 มิถุนายน 2565) โดยมีประชาชนแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดกรณีบ่อนการพนัน 1,380 เรื่อง ซึ่งดำเนินการจนได้ข้อยุติ 840 เรื่อง และ แจ้งเบาะแสการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และแจ้งเบาะแสแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย 712 เรื่อง ซึ่งดำเนินการจนได้ ข้อยุติ 528 เรื่อง
3. ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์
สปน. พบว่า (1) ประเด็นปัญหาเหตุเดือดร้อนรำคาญจากเสียงดังรบกวนดำเนินการแก้ไขได้ยาก เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและกฎหมายหลายฉบับ รวมทั้งไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม (2) สปน. ได้รับทราบข้อเสนอแนะของผู้รับบริการว่า ไม่ได้รับการชี้แจงหรือรายงานผลการดำเนินการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระยะเวลาอันสมควร จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาและแจ้งให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง และ (3) ผู้ร้องใช้สิทธิโต้แย้ง จึงส่งคำร้องขอให้ช่วยเหลือในประเด็นเดิมหลายครั้ง และเมื่อหน่วยงานชี้แจงไม่เป็นไปตามประสงค์ของผู้ร้อง ผู้ร้องจะฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานไปยังหน่วยงาน
4. ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ/การปฏิบัติงาน ดังนี้
4.1 ขอให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลักกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาเสียงดังรบกวนในระดับพื้นที่ โดยอาจตั้งเป็นคณะทำงานหรือบูรณาการการแก้ไขปัญหาร่วมกับทุกภาคส่วน และในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบหลัก
4.2 ขอให้หน่วยงานกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จในการแก้ไขปัญหาและปฏิบัติตามกระบวนการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียน/ร้องทุกข์ให้เป็นไปตามมาตรฐานระยะเวลาการให้บริการอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หากประเด็นปัญหาใดยังไม่สามารถแก้ไขได้แล้วเสร็จ ขอให้แจ้งให้ผู้ร้องทราบความคืบหน้าเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
4.3 ขอให้ใช้กลไกของคณะกรรมการการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. 2552 เป็นผู้พิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติในการระงับ/รวมเรื่องร้องทุกข์ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานเรื่องร้องทุกข์มีความมั่นใจและลดความเครียดจากการปฏิบัติงานหรือ การถูกฟ้องร้องดำเนินคดี
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10886