ขอความเห็นชอบร่างจรรยาบรรณสำหรับกระบวนการระงับข้อพิพาทตามบทที่ 14 ของความตกลงการค้าเสรีระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐชิลีและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 26 October 2022 00:38
- Hits: 1138
ขอความเห็นชอบร่างจรรยาบรรณสำหรับกระบวนการระงับข้อพิพาทตามบทที่ 14 ของความตกลงการค้าเสรีระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐชิลีและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อ (1) ร่างจรรยาบรรณสำหรับกระบวนการระงับข้อพิพาทตามบทที่ 14 ของความ ตกลงการค้าเสรีระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐชิลีและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย (ความตกลงการค้าเสรีไทย - ชิลี) (2) ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนเพื่อผนวกจรรยาบรรณฯ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงการค้าเสรีไทย - ชิลี
ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้ พณ. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนเพื่อผนวกจรรยาบรรณฯ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงการค้าเสรีไทย - ชิลี
3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนเพื่อผนวกจรรยาบรรณฯ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงการค้าเสรีไทย - ชิลี
สาระสำคัญของเรื่อง
1) ข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์เป็นการขอความเห็นชอบการดำเนินการเพื่อให้ร่างจรรยาบรรณสำหรับกระบวนการระงับข้อพิพาท (Code of Conduct: CoC) ตามบทที่ 14 (บทการระงับข้อพิพาท) ของความตกลงการค้าเสรีระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐชิลีและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย (ความตกลงการค้าเสรีไทย – ชิลี) มีผลใช้บังคับ ผ่านการจัดทำร่างหนังสือแลกเปลี่ยน (Exchange of Notes) เพื่อผนวกจรรยาบรรณฯ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงการค้าเสรีไทย - ชิลี โดยร่างจรรยาบรรณดังกล่าวเป็นการกำหนดมาตรฐานและกฎเกณฑ์ทางจริยธรรมที่ผู้พิจารณา (Panelists) ในคณะอนุญาโตตุลาการ (Arbitral Panels) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อระงับข้อพิพาทตามความตกลงการค้าเสรีไทย - ชิลี จะต้องประพฤติปฏิบัติในการทำหน้าที่ของตน เพื่อให้กระบวนการพิจารณาเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการระงับข้อพิพาทในการเป็นกลไกที่คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของคู่ภาคีทั้งสองฝ่ายภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย – ชิลี ทั้งนี้ การระงับข้อพิพาทนี้เป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามการตีความ หรือการใช้ความตกลงฯ รวมถึงกรณีที่มาตรการของภาคีไม่สอดคล้องกับพันธกรณีหรือภาคีไม่กระทำการตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงฯ เป็นทางเลือกนอกเหนือจากการระงับข้อพิพาทภายใต้ความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) หรือความตกลงการค้าเสรีอื่นที่ไทยและชิลีเป็นภาคีไม่ใช่การระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนต่างชาติกับรัฐ
2.) สาระสำคัญของร่างจรรยาบรรณสำหรับกระบวนการระงับข้อพิพาท เป็นการกำหนดมาตรฐานและกฎเกณฑ์ทางจริยธรรมที่ผู้พิจารณา (Panelists) ในคณะอนุญาโตตุลาการ (Arbitral Panels) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อระงับข้อพิพาทตามบทที่ 14 ของความตกลงการค้าเสรีไทย – ชิลี จะต้องประพฤติปฏิบัติในการทำหน้าที่ของตน โดยมีเนื้อหาสรุปได้ ดังนี้
2.1 หลักการสำคัญ ได้แก่ การวางตนเป็นอิสระและเป็นกลาง การหลีกเลี่ยงการขัดกันของผลประโยชน์ และการรักษาความลับของข้อมูลที่ได้มาในระหว่างกระบวนการระงับข้อพิพาท โดยผู้พิจารณามีหน้าที่ในการเปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลประโยชน์ ความสัมพันธ์หรือเรื่องอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความเป็นอิสระและความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ หรือก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่เหมาะสมในความบริสุทธิ์ยุติธรรมของกระบวนการระงับข้อพิพาท
2.2 ขอบเขตการใช้บังคับ นอกจากผู้พิจารณา (Panelists) แล้ว ครอบคลุมไปถึงผู้ที่ได้รับทาบทามเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้พิจารณา (Candidates) และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในกระบวนการระงับข้อพิพาท อาทิ ผู้ช่วยของผู้พิจารณา และบุคคลภายนอก (อาจเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในข้อพิพาท) ที่ให้ข้อมูลแก่คณะอนุญาโตตุลาการ
2.3 การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่ได้รับทาบทามเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้พิจารณาและผู้พิจารณา โดยผู้พิจารณาต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่และรวดเร็วเพื่อให้ระงับข้อพิพาทได้อย่างฉับไว ไม่กีดกันการมีส่วนร่วมของผู้พิจารณาคนอื่น พิจารณาเฉพาะประเด็นที่ถูกยกในกระบวนพิจารณาและที่จำเป็นต่อการตัดสิน ไม่มอบหมายหน้าที่ในการตัดสินให้แก่บุคคลอื่น ไม่ติดต่อกับภาคีผู้พิพาทฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแต่เพียงฝ่ายเดียว เป็นต้น
3.) การมีผลใช้บังคับ คู่ภาคีตกลงที่จะจัดทำหนังสือแลกเปลี่ยน (Exchange of Notes) เพื่อผนวกจรรยาบรรณสำหรับกระบวนการระงับข้อพิพาท เข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงการค้าเสรีไทย - ชิลี ซึ่งจะประกอบเป็นความตกลงระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศ โดยจะมีผลใช้บังคับนับตั้งแต่วัน เดือน ปี ที่ปรากฎในหนังสือแลกเปลี่ยนที่ได้รับจากคู่ภาคี
4.) การจัดทำจรรยาบรรณสำหรับกระบวนการระงับข้อพิพาทระหว่างคู่ภาคีภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย - ชิลี เป็นการเฉพาะ จะเป็นการกำหนดหลักความประพฤติและหน้าที่ให้บุคคลใดก็ตามที่เข้ามารับตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการระงับข้อพิพาทต้องเคารพและถือปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะช่วยเป็นหลักประกันความเป็นอิสระและความเป็นกลาง ไม่ให้มีอิทธิพล หรืออำนาจใดๆ มาแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับอรรถคดีโดยเฉพาะของผู้พิจารณา เพื่อให้กระบวนการพิจารณาเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการระงับข้อพิพาทในการเป็นกลไกที่คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของคู่ภาคีทั้งสองฝ่ายภายใต้ความตกลงฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10882