ผลการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 11
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 26 October 2022 00:26
- Hits: 1310
ผลการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 11
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอผลการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ณ กรุงเทพมหานคร และประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมฯ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธาน [คณะรัฐมนตรีมีมติ (16 สิงหาคม 2565) เห็นชอบในหลักการต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ (1) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเปคให้มีอนาคตที่ดีกว่าเดิม : การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน (2) คู่มือเอเปคสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการท่องเที่ยว ฉบับปรับปรุง (3) แถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 11 และ (4) แถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 11 และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์ฯ (1)-(3) และออกประกาศแถลงการณ์ประธานฯ (เฉพาะกรณีเขตเศรษฐกิจไม่สามารถมีฉันทามติให้ออกแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 11 ได้)] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ผลการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 11 สรุปได้ ดังนี้
1.1 ที่ประชุมฯ แสดงเจตนารมณ์ที่จะร่วมมือกันฟื้นฟูและส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวในภูมิภาคอย่างครอบคลุมและยั่งยืน ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คลี่คลายลง ผ่านการดำเนินการตาม “วิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040” และแผนปฏิบัติการ “เอาทีอารอ” รวมถึงการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG และการส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และระหว่างกรอบการประชุมต่างๆ เพื่อให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นภูมิภาคที่เปิดกว้าง มีพลวัต และพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง ภายในปี พ.ศ. 2583 โดยอาศัยการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
1.2 รับทราบผลการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวเอเปค พ.ศ. 2563 -2567 เป็นการหารือแนวทางความร่วมมือของเอเปคเพื่อเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวในช่วงหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 และบทบาทของภาคการท่องเที่ยวต่อการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในภูมิภาค แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการส่งเสริมการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในแต่ละเขตเศรษฐกิจ รวมถึงหารือถึงวิธีการรักษาสถานะของการท่องเที่ยวในฐานะภาคส่วนที่สร้างประโยชน์และความอยู่ดีกินดีให้แก่ประชาชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
1.3 เอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ
1) รับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ 2 ฉบับ
(1) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเปคให้มีอนาคตที่ดีกว่าเดิม : การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการนำเสนอหลักการ แนวทาง ในการจัดลำดับความสำคัญของนโยบาย เพื่อให้การท่องเที่ยวมีส่วนทำให้เกิดความอยู่ดีมีสุขของท้องถิ่นในทุกมิติ โดยสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG และหัวข้อหลักของการประชุมเอเปคในปี 2565 “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” เช่น การพัฒนาบนพื้นฐานของความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นพร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การบริหารจัดการแบบองค์รวม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างครอบคลุมและทั่วถึง และการให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวอย่างรับผิดขอบและการท่องเที่ยวที่มีความหมาย รวมถึงการพัฒนาฐานข้อมูลและรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อประกอบการจัดทำนโยบายและพัฒนาตัวชี้วัดความสำเร็จของการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
(2) คู่มือเอเปคสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการท่องเที่ยวฉบับปรับปรุง ซึ่งมีเนื้อหามุ่งเน้นการกำหนดขอบเขต หลักการ และแนวทางสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคการท่องเที่ยวและการฟื้นสร้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคแบบองค์รวม โดยครอบคลุมการลงทุน การสร้างโอกาสในการจ้างงาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มาตรฐานวิชาชีพ รวมถึงการอบรมและการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของภูมิภาคเอเปค
ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวจะถูกผนวกอยู่ใน “เป้าหมายกรุงเทพ (Bangkok Goals)” ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ที่จะเสนอขอการรับรองในที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในเดือนพฤศจิกายน 2565
2) แถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 11 มีสาระสำคัญ เช่น (1) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภูมิภาคผ่านการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน และการประยุกต์ใช้โมเดล BCG โดยจะเน้นย้ำความสำคัญของการดำเนินการภายใต้ APEC Connectivity Blue Print ปี 2558 - 2568 ที่มุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและลดความเสี่ยงในภาคการท่องเที่ยว (2) ร่วมกันส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย เข้าถึงได้ และครอบคลุมสำหรับทุกคน (3) สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศและบทบาทของผู้หญิงที่เป็นหัวใจสำคัญในการฟื้นตัวจากโควิด-19 อย่างครอบคลุมและยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลาเซเรนาเพื่อสตรีและการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม และ (4) รักษาความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ รวมถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความรู้ของคนในชุมชนท้องถิ่น โดยจะส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวได้ ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นเอกสารที่ใช้แทนแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 11เนื่องจากมีความเห็นที่หลากหลายและความขัดแย้งกันของเขตเศรษฐกิจเกี่ยวกับประเด็นรัสเชีย-ยูเครนทำให้ในที่ประชุมไม่สามารถมีฉันทามติรับรองแถลงการณ์ร่วมฯ ได้ (เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565) โดยประเทศไทยได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบประโยคให้เป็นลักษณะของข้อเท็จจริง โดยปราศจากความเห็นหรือมุมมองส่วนตัว
2. ผลลัพธ์ที่ประเทศไทยคาดหวังว่าจะได้รับจากการนำเสนอแนวคิด “การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน” คือ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดนโยบายด้านการท่องเที่ยวที่ต่อยอดมาจากแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) เพื่อจะช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดูแลรักษาทรัพยากรในแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทยให้คงอยู่อย่างยั่งยืน และให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมเกิดการกระจายรายได้สู่คนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง สร้างระบบให้ชาวบ้านมีอาชีพสามารถพึ่งพาตนเอง สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนท้องถิ่นที่มีฐานะเป็น “เจ้าบ้าน” ในทุกแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งสามารถทำให้คนในชุมชนมีความสุขกับการเติบโตของการท่องเที่ยว โดยคนในชุมชนจะรับประโยชน์ในแบบที่ตนเองต้องการ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่ที่เพิ่มขึ้น สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และการได้ฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิม
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10878