การจัดทำร่างสัญญา IUCN Advisory Mission to the World Heritage property : Kaeng Krachan Forest Complex (THAILAND)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 26 October 2022 00:15
- Hits: 1122
การจัดทำร่างสัญญา IUCN Advisory Mission to the World Heritage property : Kaeng Krachan Forest Complex (THAILAND)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดทำร่างสัญญา IUCN Advisory Mission to the World Heritage property : Kaeng Krachan Forest Complex (THAILAND) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไข ปรับปรุง ถ้อยคำในร่างสัญญาฯ ที่ไม่ใช่มีสาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งเห็นชอบให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามในสัญญา IUCN Advisory Mission to the World Heritage property : Kaeng Krachan Forest Complex (THAILAND) ร่วมกับผู้ประสานงานศูนย์มรดกโลกองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญ
ร่างสัญญา IUCN Advisory Mission to the World Heritage property : Kaeng Krachan Forest Complex (THAILAND) ระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ร่างขึ้นตามแนวทางการดำเนินงานอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ (Operational Guidelines for the Implementation of the World Heritage Convention) โดยที่รัฐภาคีผู้รับคำปรึกษาจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด เว้นแต่ในกรณีที่รัฐภาคีเป็นรัฐที่มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือ (relevant International Assistance) หรือได้รับงบประมาณสำหรับภารกิจการให้คำปรึกษาตามมติที่ประชุม 38 COM 12 มีสาระสำคัญสรุป ดังนี้
1. ตามสัญญาฉบับนี้ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) จะต้องมาปฏิบัติภารกิจให้คำปรึกษาในการเตรียมการทบทวนสถานภาพทั่วไปในการอนุรักษ์ของแหล่งมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน โดยมีกำหนดการลงนามในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2565 หลังจากลงนามภายใน 2 สัปดาห์ผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน จำนวน 8 วัน และผู้เชี่ยวชาญจะต้องจัดทำรายงานข้อเสนอแนะให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภายใน 6 สัปดาห์หลังจากลงพื้นที่ โดยภารกิจการประเมินสภาพการอนุรักษ์พื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน มีประเด็นดังนี้
1.1 ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับขอบเขตพื้นที่มรดกโลกเพื่อเพิ่มโอกาสการเชื่อมต่อของพื้นที่และโอกาสของการผนวกพื้นที่อนุรักษ์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น
1.2 ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับขอบเขตและการจัดการเขตกันชนของพื้นที่มรดกโลก
1.3 การประเมินผลจากการแก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ในส่วนที่เกี่ยวกับเขตการจัดการพื้นที่ การใช้ประโยชน์ที่ดินและการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นกฎหมายอื่นๆ ที่อาจส่งเสริมการจัดการแบบมีส่วนร่วม
1.4 การประเมินการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ ในการจัดการพื้นที่มรดกโลกเพื่อสนับสนุนการดำรงชีวิตที่ยั่งยืนและการมีส่วนร่วมโดยไม่แบ่งแยกเพศในการจัดการเพื่อรักษาคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV) ของพื้นที่มรดกโลก
1.5 แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดแนวพื้นที่และหาทางเลือกต่างๆ สำหรับการดำเนินการในอนาคตในการรักษาความเชื่อมโยงทางชีววิทยาในพื้นที่ข้ามพรมแดนที่ติดกับพื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน
1.6 การประเมินสถานะประชากรชนิดพันธุ์ที่สำคัญของพืชป่าและสัตว์ป่าที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลของพื้นที่ (OUV) โดยใช้กลไกการติดตามที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมเพื่อการรักษาความเชื่อมโยงทางระบบนิเวศและรักษาคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV)
1.7 การประเมินผลกระทบของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่และที่วางแผนไว้ รวมถึงเขื่อนและถนน
2. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ควรจัดให้มีการหารือกับเจ้าหน้าที่ของประเทศไทยทั้งในระดับชาติ อำเภอ และระดับท้องถิ่น รวมทั้งผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ กรมการพัฒนาชุมชน กรมป่าไม้ กรมชลประทาน และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน/กองทัพบก นอกจากนี้ ควรจัดให้มีการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง เช่น (1) ผู้แทนของชุมชนท้องถิ่นและชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ภายในและติดกับพื้นที่มรดกโลก (2) ผู้แทนจากคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่อนุรักษ์ (3) องค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้อง (NGOs) องค์กรภาคประชาสังคม (CSO) มหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ รวมทั้ง UNESCO และ (4) ตัวแทนจากภาคเอกชนและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผู้เชี่ยวชาญควรปรึกษาหารือร่วมกับ IUCN’s Asia Regional Office and Thailand Country Programme ด้วย
3. หลังจากการลงพื้นที่ การประเมินข้อมูลและการปรึกษาหารือกับตัวแทนของรัฐภาคีและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว ผู้เชี่ยวชาญจะต้องจัดทำรายงานข้อเสนอแนะส่งให้รัฐภาคีภายใน 6 สัปดาห์
4. การเตรียมความพร้อมสำหรับภารกิจการให้คำปรึกษาฯ รัฐภาคีโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะต้องมีการจัดเตรียมข้อมูลพื้นฐาน อุปกรณ์ และแผนที่ที่เกี่ยวข้อง ให้แก่ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาสถานะการอนุรักษ์ปัจจุบันของพื้นที่มรดกโลก โดยเอกสารทั้งหมดจะต้องจัดเตรียมเป็นภาษาอังกฤษ ในกรณีของเอกสารสำคัญ อย่างน้อยต้องมีบทสรุปเป็นภาษาอังกฤษ รวมถึงจะต้องจัดเตรียมกำหนดการเดินทางให้ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างสมบูรณ์ตามภารกิจดังกล่าวข้างต้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10873