การรับรองเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 26 October 2022 00:01
- Hits: 1114
การรับรองเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อผลการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับการดำเนินการตามข้อตกลงยอมรับร่วมกันในคุณสมบัติของบุคลากรวิชาชีพท่องเที่ยวอาเซียน และร่างกรอบการดำเนินงานของอาเซียนด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมทั้ง อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้การรับรองผลการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับการดำเนินการตามข้อตกลงยอมรับร่วมกันในคุณสมบัติของบุคลากรวิชาชีพท่องเที่ยวอาเซียนและร่างกรอบการดำเนินงานของอาเซียนด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยการแจ้งเวียน (ad-referendum) ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. ผลการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับการดำเนินการของข้อตกลงยอมรับร่วมกันในคุณสมบัติของบุคลากรวิชาชีพท่องเที่ยวอาเซียน
1.1 ข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Mutual Recognition Arrangement for Tourism Professional : MRA on TP) มีการลงนามเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานสาขาการท่องเที่ยวภายในภูมิภาคอาเซียน โดย MRA on TP มีวัตถุประสงค์หลัก คือ (1) เพื่อเป็นการกระตุ้นในการยกระดับการสร้างขีดความสามารถด้านการศึกษาและการอบรมของบุคลากรด้านการท่องเที่ยวในอาเซียน และ (2) เพื่อให้บุคลากรด้านการท่องเที่ยวได้มีโอกาสไปทำงานในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นนอกจากประเทศของตน ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนยังคงมีข้อจำกัดด้านความสามารถของตลาดแรงงานเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงานหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยหลายประการ เช่น ค่าแรงต่ำ สภาพการทำงานที่ไม่เอื้ออำนวย และการแข่งขันของแรงงานที่มีทักษะจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เพิ่มความรุนแรงจากการปิดประเทศในช่วงการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สำนักเลขาธิการอาเซียนจึงได้จ้างสถาบันการวิจัยทางเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia : ERIA) เพื่อดำเนินการศึกษาผลกระทบของ MRA on TP ต่ออุตสาหกรรมแรงงานในอาเซียน รวมทั้งระบุปัญหาที่มีผลต่อการเคลื่อนย้ายแรงงาน ตลอดจนให้คำแนะนำเพื่อส่งเสริมให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยว
1.2 วัตถุประสงค์ของการศึกษาฯ
(1) เพื่อทบทวนวัตถุประสงค์ ความมีประสิทธิผล และสถานะการดำเนินการของ MRA on TP ต่อการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มและการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของโลกและภูมิภาค
(2) เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้กำหนดนโยบายและผู้กำกับดูแล (Regulators) ต่ออุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียน และให้คำแนะนำเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายใน Mode 4 “การเปิดให้บุคคลธรรมดาเดินทางเข้ามาให้บริการ” ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA)
(3) เพื่อระบุแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยนวัตกรรมเพื่อให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอาเซียนได้รับประโยชน์สูงสุดจาก MRA on TP
1.3 ผลที่ได้จากการศึกษา
(1) จุดแข็งหลักของ MRA-TP อยู่ที่สมรรถนะและการศึกษาซึ่งได้มีการริเริ่มที่จะเพิ่มมาตรฐานการศึกษา และการฝึกอบรมสำหรับบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียน ซึ่งบทบาทของคณะกรรมการบุคลากรด้านการท่องเที่ยวแห่งชาติ (National Tourism Professional Board : NTPB) และคณะกรรมการรับรองบุคลากรด้านการท่องเที่ยว (Tourism Professional Certification Board : TPCB) เพื่อพัฒนาแนวทางสำหรับการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพของ MRA-TP นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นต่อมาตรฐานสมรรถนะของวิชาชีพในระดับสูง
(2) การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาและการฝึกอบรม อาทิ ผ่านการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและการแบ่งปันความเชี่ยวชาญระหว่างกัน
(3) การฝึกอบรมตามสมรรถนะ (Competency Based Training : CBT) ระดับอาชีวศึกษา (Vocation Education and Training) โดยผู้สอนต้นแบบ (Master Trainer : MT) และผู้ประเมินต้นแบบ (Master Assessor : MA) รวมทั้งการฝึกอบรมที่จัดทำโดยผู้สำเร็จการศึกษาในประเทศสมาชิกอาเซียนจะเป็นกลยุทธ์สำคัญในการจัดการกับความท้าทายของ MRA-TP
(4) การเคลื่อนย้ายบุคลากรด้านการท่องเที่ยวขึ้นอยู่กับมาตรฐานสมรรถนะ การศึกษา และความเชี่ยวชาญ ซึ่งบุคลากรด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างเหมาะสมและเป็นไปตามมาตรฐานจะมีคุณสมบัติที่เหมาะสมและมีโอกาสในการเคลื่อนย้ายไปทำงานในตำแหน่งต่างๆ
(5) บุคลากรด้านการท่องเที่ยวที่มีลักษณะพิเศษจะเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ในระดับพันธกรณีของการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา (Movement of Natural Persons: MNP) ของสมาชิกอาเซียนบางประเทศ เช่น สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และประเทศไทย ซึ่งให้ความสำคัญต่อผู้จัดการและพ่อครัวที่มีคุณสมบัติสูง ดังนั้น MRA-TP สามารถมุ่งส่งเสริมเน้นการเคลื่อนย้ายของบุคลากรด้านการท่องเที่ยวในอาเซียนไปยังผู้เชี่ยวชาญตามความหมายของข้อตกลง MNP โดยทำให้มั่นใจว่าได้นำ MRA-TP ไปปฏิบัติอย่างเหมาะสม ซึ่งผลของแบบสำรวจออนไลน์ที่จัดทำขึ้นเพื่อการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า นายจ้าง เงินเดือน และผลประโยชน์เป็นปัจจัยสำคัญในการจ้างบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ตามลำดับ
(6) การดำเนินการภายใต้ MRA-TP เผชิญกับความท้าทายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเพิ่มความตระหนักเกี่ยวกับความสำคัญของ MRA-TP ให้กับเจ้าหน้าที่และบุคลากรด้านการท่องเที่ยวในอาเซียน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้าย รวมทั้งการกำหนดขอบเขตวิชาชีพ และการดำเนินการตาม MRA-TP ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบภายในประเทศ
2. ร่างกรอบการดำเนินงานของอาเซียนด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
(1) กรอบการดำเนินงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) แสดงวิสัยทัศน์ในระยะยาวและระบุเป้าหมายการดำเนินงานที่ครอบคลุม เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ หลักการพื้นฐาน เสาหลักสำคัญ และแผนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุซึ่งเป้าหมายที่แสดงไว้ในวิสัยทัศน์ และ 2) จัดทำกลไกหรือวิธีการแก้ไขเพื่อรับมือธรรมชาติของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่มีความทับซ้อนของเสาหลักการพัฒนาและส่วนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการทำงานของ NTOs ในอาเซียนและ ASITDC ซึ่งดำเนินงานโดยตรงในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในภูมิภาค
(2) ร่างกรอบการดำเนินงานดังกล่าวส่งเสริมการแสดงวิสัยทัศน์ให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและมีคุณภาพ เพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ สวัสดิภาพและการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น มีการรักษาและพัฒนาธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม และนำเสนอประสบการณ์คุณภาพสูงให้แก่นักท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบและมีแนวคิดในการรักษาความยั่งยืน
(3) เป้าหมายการดำเนินงานของกรอบการดำเนินงานดังกล่าวมุ่งการส่งเสริมความต่อเนื่องในการพัฒนาการท่องเที่ยว ในฐานะปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้และการให้ความสำคัญในเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมของแต่ละกิจกรรมการท่องเที่ยว และการนำเสนอข้อริเริ่มในการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมของแต่ละกิจกรรมการท่องเที่ยว และการนำเสนอข้อริเริ่มในการลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน รวมถึงการส่งเสริมสวัสดิภาพของสิ่งแวดล้อมและชุมชน
(4) เป้าหมายยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) ความพึงพอใจและการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยว 2) ความสามารถในการทำกำไรของอุตสาหกรรม 3) การเจริญเติบโตของชุมชนและการมีส่วนร่วมของชุมชน และ 4) การรักษาสิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม
(5) เสาหลักและยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 5 เสาหลัก ได้แก่ 1) การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน 2) ความครอบคลุมในสังคม การจ้างงาน และการบรรเทาความยากจน 3) การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การรักษาสิ่งแวดล้อม และภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ 4) การรักษาคุณค่าเชิงวัฒนธรรม ความหลากหลาย และมรดก และ 5) ความเข้าใจร่วมกันสันติภาพ ได้แก่ สุขภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10868