ข้อเสนอเพื่อกำหนดมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติดที่เป็นรูปธรรม
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 18 October 2022 23:16
- Hits: 1369
ข้อเสนอเพื่อกำหนดมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติดที่เป็นรูปธรรม
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการของมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยา เสพติดที่เป็นรูปธรรม ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ โดยให้ ยธ. รับความเห็นของที่ประชุมไปปรับมาตรการและหน่วยงานรับผิดชอบ และให้รายงานผลการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 3 เดือน
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
ในการประชุมเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 เพื่อพิจารณามาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติด มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติด โดยมีปลัดกระทรวงยุติธรรมทำหน้าที่เลขานุการ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบมาตรการสำคัญ 4 ประเด็นหลักที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประซาชนในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติดอย่างจริงจัง รวมทั้งเห็นควรกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการดำเนินการในแต่ละประเด็น สรุปได้ดังนี้
1. มาตรการเกี่ยวกับอาวุธปืน
เนื่องจากการครอบครองอาวุธปืนในปัจจุบันมีปัญหาด้านอาวุธปืนเถื่อนซึ่งมีการซื้อขายกันอย่างเสรีและมีราคาถูก บนแพลตฟอร์มดิจิทัลและกลุ่มปิดในเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ควบคุมได้ยาก ส่งผลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอาวุธปืนได้มากขึ้นโดยไม่มีการตรวจสอบหรือคัดกรองที่เพียงพอ จึงเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งในการก่ออาชญากรรม ประกอบกับหน่วยงานของรัฐยังขาดการเชื่อมโยงฐานข้อมูล (แบบ ป.3 ป.4 และ ป.12) ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครอง ดังนั้น เพื่อให้การควบคุม ตรวจสอบ และพิสูจน์ทราบตัวบุคคลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการวางแผนป้องกันเหตุ และสามารถทำการสืบสวนหลังเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว จึงมีข้อเสนอมาตรการดังนี้
(1) การอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน
หน่วยงานรับผิดชอบหลัก กระทรวงมหาดไทย
(1.1) การเพิ่มเติมเอกสารใบรับรองแพทย์ ผู้ยื่นคำขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืนต้องมีเอกสารใบรับรองแพทย์ประกอบคำขอซึ่งรับรองว่าผู้ยื่นคำขออนุญาตไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน หรือเป็นผู้มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่เหมาะสม
(1.2) การออกหนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัดหรือนายจ้าง ผู้ยื่นคำขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืนต้องมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัดหรือนายจ้างว่าเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องตรงตามกฎหมาย รวมทั้งไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อสังคม ไม่เป็นผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จิตประสาทหลอน คลุ้มคลั่ง และควรมีมาตรการตรวจสอบทบทวนคุณสมบัติและประเมินสมรรถนะของผู้รับใบอนุญาตในทุกห้วงระยะเวลา 5 ปี หรือตามระยะเวลาที่เหมาะสม
(1.3) การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขออนุญาต ให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ยื่นคำขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน เช่น การตรวจสอบอาชีพ รายได้ พฤติกรรม ความเหมาะสมในด้าน อื่นๆ เพิ่มเติมจากการตรวจสอบประวัติการต้องโทษ เป็นต้น
(1.4) การเพิกถอนใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ในกรณีที่ตรวจสอบพบว่าผู้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต มีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม หรือพกพาอาวุธปืนขณะเมาสุราหรือใช้ยาเสพติด จะต้องดำเนินการพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าวโดยไม่ชักช้า
(1.5) การเชื่อมโยงฐานข้อมูล ควรมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลแบบ ป.3 ป.4และ ป.12 ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองเพื่อให้การควบคุม ตรวจสอบ พิสูจน์ทราบตัวบุคคลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถวางแผนป้องกันเหตุและสามารถทำการสืบสวนหลังเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการตรวจสอบเพื่อดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตของบุคคลที่พบว่าขาดคุณสมบัติภายหลังจากที่ได้รับใบอนุญาต
(2) การจัดการอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาตหน่วยงานรับผิดชอบหลัก กระทรวงมหาดไทย
ให้พิจารณาเสนอแนวทางการกำหนดระยะเวลาผ่อนผันให้ผู้ครอบครองนำอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาตมาส่งมอบให้แก่ภาครัฐ หรือนำมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย และเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวควรมีการกำหนดโทษให้หนักขึ้นสำหรับผู้กระทำผิดฐานครอบครองอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต หรือนำอาวุธปืนนั้นไปกระทำผิดกฎหมาย
(3) การป้องกันและปราบปรามในเชิงรุก
หน่วยงานรับผิดชอบหลัก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
(3.1) การตรวจจับการค้าอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต ตัดวงจรการซื้อขายอาวุธปืนบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและเครือข่ายสังคมออนไลน์หรือในตลาดมืด
(3.2) การวางแผนเฝ้าระวัง ตรวจสอบประวัติบุคคลเฝ้าระวังที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล มือปืน และมีพฤติการณ์ใช้อาวุธ รวมถึงข้อมูลเครือข่ายค้ายาเสพติดในพื้นที่และเครือข่ายข้างต้นเพื่อวางแผนปิดล้อมตรวจค้น สืบสวนจับกุมดำเนินคดี
(3.3) การทำลายเครือข่ายค้าอาวุธปืน ให้เร่งรัดการสืบสวน ติดตาม เก็บข้อมูลกลุ่มขบวนการทั้งหมดเพื่อวางแผนทำลายเครือข่าย
(3.4) การติดตามบุคคลที่มีพฤติการณ์เสี่ยง ประสานงานกับกรมสุขภาพจิตและโรงพยาบาลเกี่ยวกับบุคคลเฝ้าระวังและมีพฤติกรรมก่อความรุนแรง มีอาการป่วยทางจิต เพื่อดำเนินการให้มีการเพิกถอนใบอนุญาต
(3.5) การตั้งด่านตรวจ ให้มีการตั้งด่านตรวจค้นอาวุธปืนและยาเสพติด เพื่อเป็นการป้องปรามอย่างเข้มงวด
(4) มาตรการทางดิจิทัล
หน่วยงานรับผิดชอบหลัก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
(4.1) การป้องกันการค้าอาวุธปืนบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและเครือข่ายสังคมออนไลน์ ให้มีการปิดกั้นช่องทางขายอาวุธปืนทุกช่องทางทันทีที่ตรวจพบ และให้เรียกมาชี้แจงข้อมูลภายหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหนังสือแจ้ง
(4.2) การป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสม ให้พิจารณาสกัดกั้นเว็บไซต์ ข่าว หรือคลิปที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมาย เพื่อป้องกันประชาชนไม่ให้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีพฤติกรรมเลียนแบบ
2. มาตรการด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
หน่วยงานรับผิดชอบหลัก กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม
(1) การควบคุมสารเคมีที่นำไปใช้ผลิตยาเสพติด ควรมีการควบคุมการนำเข้าส่งออกวัตถุอันตรายหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดที่เข้มงวดขึ้น อาทิ โซเดียมไซยาไนด์ (sodium cyanide) ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 โดยสารดังกล่าวปริมาณ 1 กิโลกรัม สามารถใช้ผลิตยาบ้าได้ 22,000 เม็ด หรือยาไอซ์ 0.44 กิโลกรัม ในปัจจุบันมีราคาซื้อขาย 100 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2565 มีการขออนุญาตเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออกโซเดียมไซยาไนด์ จำนวน 1,156.80 ตัน และส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 810 ตัน ซึ่งปริมาณดังกล่าว หากใช้ผลิตยาบ้าจะได้จำนวน 16,060 ล้านเม็ด และหากผลิตไอซ์จะได้จำนวน 359,640 กิโลกรัม
(2) การทำลายเครือข่ายนักค้ายาเสพติด และยึดอายัดทรัพย์สิน ให้สำนักงาน ป.ป.ส. ดำเนินการสืบสวนขยายผล ทำลายเครือข่ายนักค้ายาเสพติด และยึดอายัดทรัพย์สินตาม “ประมวลกฎหมายยาเสพติด” โดยมีประเด็นสำคัญ 2 ประเด็น ได้แก่ 1) แยกคดีอาญาออกจากคดีทรัพย์ เดิมใช้เวลาประมาณ 5 ปี ทรัพย์ถึงจะตกเป็นของกองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด แต่ปัจจุบันลดระยะเวลาเหลือประมาณ 2 ปี และ 2) การยึดอายัดทรัพย์สินคิดตามมูลค่าเพิ่ม (Value Base) และยึดทรัพย์สินทดแทน (Substitute Assets) นอกจากนี้ ให้ขับเคลื่อนงานดังกล่าวผ่านคณะทำงานปราบปรามยึดทรัพย์สินคดียาเสพติดภายใต้ปฏิบัติการ “พาลีปราบยา” โดยบูรณาการร่วมกันระหว่าง สำนักงาน ปปง. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน ป.ป.ส. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ
(3) การติดตามจับกุมผู้มีหมายจับคดียาเสพติด ให้เร่งรัดการติดตามจับกุมผู้มีหมายจับคดียาเสพติด โดยในปี พ.ศ. 2544 - 2565 มีจำนวน 8,040 หมายจับ และในปีที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ใช้เงินกองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ไปเป็นเงินรางวัลนำจับให้กับผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้จับกุมผู้มีหมายจับ จำนวน 130 หมายจับ ซึ่งดำเนินการไปแล้ว จำนวน 9 หมายจับ
(4) การทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นเพื่อค้นหาผู้เสพยาเสพติดทั่วประเทศ ให้สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการนำข้อมูลผู้เสพเข้าระบบศูนย์ข้อมูลที่ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงาน ป.ป.ส. รวมทั้งการประสานส่งข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการบำบัดฟื้นฟูตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
(5) การตรวจสอบและติดตามข้อร้องเรียนของประชาชน โดยในปี พ.ศ. 2565 มีประชาชนร้องเรียนผ่านสายด่วน จำนวน 16,570 เรื่อง ดำเนินการแล้ว จำนวน 14,037 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 84.71 และอยู่ระหว่างการสืบสวนทางลับ จำนวน 2,533 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 15.29
(6) การศึกษาและทบทวนกรณีผู้เสพเป็นผู้ป่วย โดยเฉพาะประเด็นการกำหนดปริมาณการครอบครองยาเสพติดเพื่อพิจารณาความเหมาะสมของผู้เสพที่จะต้องเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
(7) การกำหนดมาตรการติดตามการบำบัดฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดเกิดประสิทธิผล รวมทั้งร่วมกับชุมชนติดตามเฝ้าระวังไม่ให้ผู้ติดยาเสพติดกลับมาใช้ยาเสพติดอีก
(8) การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) เห็นควรให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาเสนอแนวทางการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวมาสนับสนุนการติดตามหรือคุมประพฤติผู้เสพหรือครอบครองยาเสพติดเพื่อประสิทธิภาพในการปรับพฤตินิสัยหรือการป้องกันอาชญากรรม
3. มาตรการด้านการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข มีผู้ป่วยยาเสพติดที่อยู่ในศูนย์คัดกรอง จำนวน 1.9 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ติดยาเสพติด จำนวน 35,000 คน คิดเป็นร้อยละ 2 ผู้เสพยาเสพติด จำนวน 4.56 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 24 และผู้ใช้ยาเสพติด จำนวน 1.46 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 75 โดยกระทรวงสาธารณสุขมีแผนพัฒนาระบบบำบัดพื้นฟูผู้ติดยาเสพติดตามประมาลกฎหมายยาเสพติดต่อเนื้องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 – 2568 ซึ่งสามารถวิเคราะห์สาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาได้ ดังนี้
ปัญหา |
สาเหตุ |
แนวทางแก้ไข |
||
พฤติกรรมของผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชน |
● ลักษณะเฉพาะของผู้ป่วยและ ครอบครัวไม่สามารถควบคุมหรือช่วยผู้ป่วยให้ไปบำบัดได้ ● ขาดการบูรณาการ ป้องกัน ปราบปราม บำบัดในชุมชน ● ทัศนคติความเข้าใจของ ประชาชน |
● จัดทำยุทธศาสตร์รณรงค์ สื่อสาร มาตรการชุมชนครอบครัวที่พึงประสงค์และแนวทางการจัดการกับผู้ป่วยยาเสพติดแบบวงกว้างและแบบเฉพาะกลุ่มให้เป็นรูปธรรม วัดผลได้ |
||
การปรับมาตรการ และข้อกฎหมาย |
● ขาดการสื่อสารที่มีประสิทธิ ภาพแก่เจ้าหน้าที่ ● การลดงบประมาณนำส่งผู้ป่วย |
● จัดทำการสื่อสารประชุมเชิงปฏิบัติการ ● จัดทำศูนย์รับเรื่องการประสานงานเพื่อจัดการอุบัติการณ์ ● เพิ่มขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน |
||
ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ (ปกครอง/ตร./สธ.) |
● ขาดความเข้าใจที่เชื่อมโยงและสอดคล้องกันในแต่ละบทบาทเจ้าหน้าที่ |
● ขอความร่วมมือหน่วยงานภาคีในการลงข้อมูลในระบบ ● เพิ่มผู้ใช้งานระบบข้อมูล “ระบบข้อมูลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด (บสต.)” ของภาคีเครือข่าย ● สนับสนุนงบประมาณในการลงข้อมูล |
||
ระบบข้อมูล |
● ขาดข้อมูลผู้ป่วยยาเสพติดในบางระบบ ● ผู้ใช้งานระบบข้อมูลใหม่ตามประมวลฯ ยังไม่ได้เริ่มใช้งาน ● ขาดงบประมาณในการชี้แจงสื่อสาร ● การลงข้อมูลในระบบ |
|||
การกำกับติดตามและตัวชี้วัด |
● ตัวชี้วัดยังเป็นตามข้อกฎหมายเดิม ● ขาดการเชื่อมโยงติดตามกับผู้ป่วยในบางกลุ่ม |
● ปรับตัวชี้วัดให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงาน ● ชี้แจงซักซ้อมทำความเข้าใจในพื้นที่ |
||
งบประมาณ |
● งบประมาณในกลุ่มผู้ป่วยแบบสมัครใจลดลง ● การบำบัดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community Based Treatment and Rehabilitation : CBTx) ● ขาดงบประมาณในการดำเนินงาน ● ขาดงบประมาณในการนำส่งผู้ป่วย ● ขาดงบประมาณในการลงข้อมูลในระบบ |
สนับสนุนงบประมาณ ● การสื่อสาร ● การบำบัดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community Based Treatment and Rehabilitation CBTx) ● การนำส่งผู้ป่วยเพื่อเข้าบำบัด ● การลงข้อมูลในระบบ |
โดยมีข้อเสนอมาตรการในการบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
(1) ระยะเร่งด่วน
(1.1) ค้นหาและคัดกรองผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูง ต่อการก่อความรุนแรง (Serious Mental Illness with High Risk to Violence: SMI-V) ให้เข้าสู่สถานฟื้นฟูฯ ภาคีเครือข่าย
(1.2) เร่งรัดการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อจัดตั้งศูนย์คัดกรองให้ครอบคลุมทุกตำบล
(1.3) บูรณาการการบำบัดฟื้นฟูโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community Based Treatment) ให้ครอบคลุมทุกตำบล
(2) ระยะกลาง
(2.1) เร่งรัดจัดตั้งสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของภาคีเครือข่าย และศูนย์ฟื้นฟูสภาพสังคม
(2.2) สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์บำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดที่มีมาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้มีรายได้ซึ่งติดยาเสพติด
(3) ระยะต่อเนื่อง ควบคุมกำกับ ติดตาม ศูนย์คัดกรอง สถานพยาบาลยาเสพติดสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม และการใช้ชุมชนเป็นฐานการบำบัดยาเสพติด (Community Based Treatment) ให้เป็นไปตามมาตรฐาน
4. มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต
สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทยในปัจจุบัน มีผู้ป่วยจิตเวชประมาณ4,033,059 คน เข้าถึงบริการร้อยละ 38.75 ผู้ป่วยจิตเวชเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง 26,076 คน (พ.ศ. 2559 - 2565) (แต่มีผู้ป่วยจิตเวชที่เข้าถึงบริการเพียงร้อยละ 43.8) ประชาชนเสี่ยงต่อโรคจิตเวชร้อยละ 6.44 และเยาวชนเสี่ยงร้อยละ 15.61 ผู้ป่วยจิตเวชเข้าถึงบริการต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน ร้อยละ 48.42 และครอบครัวและชุมชนต้องรับดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่เสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงโดยยังไม่เคยได้รับการช่วยเหลือประมาณ 26,000 ราย ดังนั้น จึงเห็นควรเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต ดังนี้
(1) การพัฒนาเครือข่ายนอกระบบสุขภาพ ให้จัดตั้งระบบดูแลสุขภาพจิตใน (ก)โรงเรียนและสถานศึกษาทุกแห่ง (ข) สถานประกอบกิจการที่มีพนักงานมากกว่า 100 คน และ (ค) หน่วยงานที่เก็บรักษาหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธร้ายแรง
(2) การพัฒนาเครือข่ายในระบบสุขภาพ
(2.1) จัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดให้ครบทุกอำเภอ
(2.2) จัดตั้งหน่วยบูรณาการจิตเวชฉุกเฉินที่บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยแจ้งเหตุ ตำรวจ และทีมสาธารณสุขฉุกเฉิน ในทุกอำเภอ เพื่อร่วมมือกันในการนำตัวผู้ป่วยจิตเวชที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรงและขาดการรักษาเข้าสู่กระบวนการดูแลรักษา
(2.3) จัดทำระบบการดูแลเบื้องต้นทางจิตเวชทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
(3) การพัฒนาเครือข่ายในชุมชน
(3.1) เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการรักษาจิตเวชทางไกล เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถตรวจรักษาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้านได้
(3.2) เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการดูแลต่อเนื่องในชุมชนสำหรับกรณีที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชซึ่งมีแนวโน้มที่จะก่อความรุนแรง เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดได้รับการติดตามต่อเนื่องตลอดชีวิต
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10660