การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 18 October 2022 23:03
- Hits: 1388
การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์คนร้ายใช้อาวุธกระทำความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม 2565 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญข้อเท็จจริง
1. วันที่ 6 ตุลาคม 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข พลอากาศจอม รุ่งสว่าง และนายอําพน กิตติอําพน องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บจากการกรณีคนร้ายใช้อาวุธกระทำความรุนแรงต่อเด็กภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ที่โรงพยาบาลอุดรธานี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่และสั่งการหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปสนับสนุนและช่วยเหลือ เยี่ยมให้กำลังใจครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ
2. วันที่ 6 ตุลาคม 2565 นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มอบหมายให้นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวง ผู้ตรวจราชการกระทรวง 3 ท่าน ประกอบด้วย นางสาวอุไร เล็กน้อย นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ และนางอภิญญา ชมภูมาศ หน่วยงานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดหนองบัวลำภู และ 13 จังหวัดใกล้เคียง ร่วมกับทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลหนองบัวลำภู ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา
3. วันที่ 7 ตุลาคม 2565 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ได้เสด็จเยี่ยมผู้บาดเจ็บและทรงให้กำลังใจแก่ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับผู้บาดเจ็บเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ รับศพผู้ที่เสียชีวิตไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ และพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ
4. วันที่ 7 ตุลาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงจังหวัดหนองบัวลำภู และได้มอบหมายให้ทุกส่วนราชการให้การช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องให้สามารถกลับไปดำเนินชีวิตและมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งการฟื้นฟูเยียวยาชุมชนให้สามารถกลับคืนสู่ภาวะปกติ
5. วันที่ 9 ตุลาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจครอบครัวผู้เสียชีวิตและร่วมพิธีสวดพระอภิธรรม ณ จังหวัดหนองบัวลำภู
6. วันที่ 11 ตุลาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพในพระบรมราชา นุเคราะห์ ณ จังหวัดหนองบัวลำภู
7. วันที่ 14 ตุลาคม 2565 นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ลงพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อติดตามการช่วยเหลือดูแล รับฟังปัญหา อุปสรรคการดำเนินงานในพื้นที่ของทีมปฏิบัติการสังคมสงเคราะห์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงการเยี่ยมให้กำลังใจแก่ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง โดยมอบหมายให้มีการเพิ่มและพัฒนาอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ใช้พื้นที่ตำบล 5 ตำบล ของอำเภอนากลาง เป็นห้องปฏิบัติการ (LAB) เพื่อเป็นพื้นที่ศึกษาให้เกิดความยั่งยืน การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบล เพิ่มทีมดำเนินงานในพื้นที่ จาก 19 ทีม เป็น 40 ทีม เพื่อติดตามเยี่ยมบ้าน 3 วันต่อหนึ่งสัปดาห์ ตั้งทีม CM (Case Manager) 1 ทีม ต่อ 1 ครอบครัว โดยเน้นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ขยายเวลาการให้ความช่วยเหลือระยะวิกฤตและระยะกลางถึงธันวาคม 2565 จัดทำแผนดูแลสภาพจิตใจเจ้าหน้าที่ควบคู่กับการดูแลประชาชน ประสานขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาให้กลุ่มเปราะบางครบทั้ง 5 มิติ และจัดทำแผนเผชิญเหตุสถานการณ์ทางสังคม
8. ผลการดำเนินงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(1) การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของส่วนราชการต่างๆ เช่น กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานประกันสังคม สำนักงานจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กองทัพบก กระทรวงกลาโหม เป็นต้น
(2) การช่วยเหลือของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า มีครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 40 ครอบครัว (รวมครอบครัวผู้ก่อเหตุ) ประกอบด้วย
(2.1) ครอบครัวเปราะบาง ระดับ 1 (ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและมีปัญหาที่อยู่อาศัย) จำนวน 19 ครอบครัว
(2.2) ครอบครัวเปราะบาง ระดับ 2 (ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและมีบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง 1 - 2 คน) จำนวน 10 ครอบครัว
(2.3) ครอบครัวเปราะบาง ระดับ 3 (ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและมีบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง มากกว่า 2 คน) จำนวน 11 ครอบครัว แบ่งเป็น (1) เด็กกำพร้า 9 ครอบครัว (2) ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว 7 ครอบครัว (3) ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ/คนพิการ 23 ครอบครัว
โดยมีแผนการให้ความช่วยเหลือเป็น 3 ระยะ ดังนี้
(1) ระยะวิกฤต (วันที่ 6 ตุลาคม - 15 พฤศจิกายน 2565)
(1.1) การจัดตั้งทีมปฏิบัติการสังคมสงเคราะห์ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 40 ทีม 40 คน (1 คน : 1 ครอบครัว) เป็นผู้จัดการรายกรณี (Case Manager) มีหน้าที่ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน สัปดาห์ละ 3 วัน ทั้ง 40 ครอบครัว 48 ราย เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำการช่วยเหลือดูแลด้านจิตใจครอบครัวและญาติผู้สูญเสีย ผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้อยู่ในเหตุการณ์
(1.2) การสำรวจข้อมูลครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น มีรายได้น้อย มีหนี้สิน ไม่มีอาชีพ สำรวจห้องน้ำผู้สูงอายุ/คนพิการที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เป็นต้น เพื่อเร่งวางแผนช่วยเหลือรายบุคคลและรายครอบครัว
(1.3) มอบเงินบริจาคของศูนย์รับบริจาค กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ (ไม่รวมผู้ก่อเหตุ) จำนวน 47 คนๆ ละ 10,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 470,000 บาท (สี่แสนเจ็ดหมื่นบาทถ้วน)
(1.4) มอบเงินช่วยเหลือจากกองทุนสวัสดิการชุมชน ในกรณีที่เป็นสมาชิก กองทุนฯ จำนวน 3 ครอบครัว รวมเป็นเงิน 40,000 บาท และกรณีที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนฯ จำนวน 34 คนๆ ละ 1,000 บาท รวมเป็นเงิน 34,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 74,000 บาท (เจ็ดหมื่นสี่พันบาทถ้วน)
ซึ่งผลการดำเนินการลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ผู้ได้รับผลกระทบยังมีปัญหาและความต้องการในเรื่องต่างๆ ดังนี้
- การแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่
- การช่วยเหลือทุนการศึกษาของครอบครัวผู้เสียชีวิต
- การประกอบอาชีพของครอบครัวผู้เสียชีวิต
- การสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ประชาชนในชุมชนอำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู
(2) ระยะกลาง (วันที่ 16 พฤศจิกายน – ธันวาคม 2565)
(2.1) จัดทีมผู้จัดการให้ความช่วยเหลือดูแลเป็นรายกรณี (Case Manager : CM) จากหน่วยงานในสังกัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ทีม One Home พม.) 9 จังหวัด ได้แก่ หนองบัวลำภู ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย เลย ชัยภูมิ บึงกาฬ สกลนคร และพิษณุโลก ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจ ให้คำแนะนำ และบรรเทาทุกข์ ผู้ถูกได้รับผลกระทบ พร้อมบันทึกข้อมูลรายครัวเรือนและวางแผนการช่วยเหลือเยียวยา ควบคู่กับทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มีแผนการเยี่ยมให้กำลังใจอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ในช่วง 2 เดือนแรก
(2.2) จัดทำแผนบูรณาการ “ใกล้บ้าน – ใกล้ใจ” โดยใช้ศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลในพื้นที่ 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลอุทัยสวรรค์ ตำบลด่านช้าง ตำบลกุดแห่ ตำบลโนนเมือง และตำบลฝั่งแดง เป็นกลไกในการขับเคลื่อนและเป็นศูนย์กลางการบูรณาการการให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนทั้ง 5 ตำบล ตามสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชน ให้เกิดความเข้มแข็งและมีความยั่งยืน โดยมีอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เป็นผู้จัดการให้ความช่วยเหลือดูแลเป็นรายกรณี (Case Manager) ทั้ง 40 ครอบครัว ลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลลงในสมุดพกครอบครัว ร่วมกันวิเคราะห์วางแผนการช่วยเหลือให้ครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านอาชีพและรายได้ ด้านที่อยู่อาศัย และด้านการเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐ มีการอบรมอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รายใหม่เพิ่มขึ้น ในพื้นที่ตำบลอุทัยสวรรค์ จำนวน 12 หมู่บ้านๆ ละ 10 คน รวม 120 คน และในพื้นที่ตำบลอื่นๆ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู หมู่บ้านละ 5 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 600 คน
(2.3) ใช้พื้นที่ตำบลอุทัยสวรรค์ ตำบลด่านช้าง ตำบลกุดแห่ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นห้องปฏิบัติการ (LAB) กระทรวง พม. เป็นต้นแบบการขับเคลื่อนการบูรณาการความช่วยเหลือประชาชนด้านสังคม และห้องปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการให้เกิดความยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด
(2.4) การเร่งปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยของครอบครัวผู้ประสบเหตุ 39 ครอบครัว
(2.5) การช่วยเหลือทุนการศึกษาของครอบครัวที่เสียชีวิต เพื่อให้สามารถได้รับการศึกษาต่ออย่างต่อเนื่อง
(2.6) การฝึกทักษะด้านอาชีพของผู้ที่ได้รับผลกระทบและครอบครัว โดยให้ความสำคัญกับผู้ที่ยังไม่มีรายได้หรือว่างงาน ประสานกับนายจ้างจนกว่าจะสามารถทำงานได้เป็นปกติ รวมทั้งประสานกระทรวงแรงงานเพื่อพัฒนาทักษะด้านอาชีพอย่างต่อเนื่อง
(2.7) การฝึกทักษะอาชีพเพิ่มเติมให้กับผู้ที่สนใจในชุมชนพื้นที่อำเภอนากลาง 10 ตำบล และการขอโควตาจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล
(2.8) การจัดทำแผนฟื้นฟูเยียวยาและแผนเผชิญสถานการณ์ทางสังคม โดยร่วมกันวิเคราะห์และจัดทำคู่มือจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู จัดกิจกรรมฟื้นฟูเยียวยาชุมชนแบบมีส่วนร่วม โดยความร่วมมือระหว่าง ทีม One Home พม. จังหวัดหนองบัวลำภู องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอนากลาง ผู้นำท้องที่/ท้องถิ่น เครือข่ายขบวนชุมชน วัด อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และภาคีเครือข่ายโดยกำหนดการจัดกิจกรรมสำคัญ ได้แก่
ครั้งที่ 1 ในระหว่างวันที่ 29 - 30 ตุลาคม 2565
- พิธีทำบุญเรียกขวัญประจำหมู่บ้าน
- พิธีผูกเสี่ยว “ครอบครัวกับ CM”
- คลินิกอาชีพยุคใหม่ที่สร้างรายได้มั่นคง
ครั้งที่ 2 ในระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน – 31 ธันวาคม 2565
- กีฬาพื้นบ้านคน 3 รุ่น
- การแข่งขันกีฬาเด็กและเยาวชนสานมิตรพิชิตยาเสพติดชิงถ้วยรางวัล
(3) ระยะยาว (เดือนมกราคม – ธันวาคม 2566)
(3.1) ทีมปฏิบัติการสังคมสงเคราะห์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขคัดกรองแบ่งกลุ่ม ประเมินสุขภาพจิต ประเมินความเข้มแข็งของครอบครัว และวางแผนออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมบูรณาการเครือข่ายในพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตามสภาพปัญหาและความต้องการให้ครอบคลุมทุกมิติ ประเมินผลการพัฒนาคุณภาพชีวิตจากเปราะบางสู่ความเข้มแข็ง เป็นการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ 12 กระทรวง เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน 5 มิติ ทั้งด้านข้อมูล ด้านสังคม ด้านการศึกษา ด้านที่อยู่อาศัย ด้านอาชีพและการมีงานทำ และด้านท่องเที่ยวและชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งการพัฒนาคนทุกช่วงวัยในระดับพื้นที่โดยผ่านศูนย์อำนวยการขจัดความยากคนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) รวมทั้งติดตามประเมินผลและถอดบทเรียนองค์ความรู้ พร้อมทั้งติดตามการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว
(3.2) จัดทำเป็นพื้นที่ต้นแบบระบบสวัสดิการสังคมครบวงจร เป็นพื้นที่นำร่องที่มีระบบสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมสำหรับคนทุกช่วงวัย โดยยึดปัญหาและความต้องการของประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นการพลิกฟื้นพื้นที่ที่ประสบปัญหาให้เป็นพื้นที่สวัสดิการสังคมเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม
(3.3) การฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ปฏิบัติเสมือนเป็นบุคคลในครอบครัวและติดตามพร้อมรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเป็นประจำทุกเดือน เป็นเวลา 1 ปี
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10659