WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

การขออนุมัติดำเนินงานก่อสร้างโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา-อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ของกรมทางหลวงชนบท และการขออนุมัติดำเนินงานก่อสร้างโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง-ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ข

GOV 18

การขออนุมัติดำเนินงานก่อสร้างโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา-อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ของกรมทางหลวงชนบท และการขออนุมัติดำเนินงานก่อสร้างโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง-ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ของกรมทางหลวงชนบท

          คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ดังนี้

          1. อนุมัติในหลักการให้กรมทางหลวงชนบทดำเนินการก่อสร้างโครงการสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา - อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ภายในกรอบวงเงินทั้งสิ้น 4,829.25 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าก่อสร้างจำนวน 4,700 ล้านบาท ในอัตราส่วนของแหล่งเงินกู้ : เงินงบประมาณเป็น 70 : 30 และค่าควบคุมงาน ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณ จำนวน 129.25 ล้านบาท ในอัตราร้อยละ 2.75 ของวงเงินค่าก่อสร้าง โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และแหล่งเงินกู้ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ โดยให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสม สำหรับวงเงินงบประมาณขอให้กรมทางหลวงชนบทเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณรองรับตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

          2. อนุมัติในหลักการให้กรมทางหลวงชนบทดำเนินการก่อสร้างโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง - ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ภายในกรอบวงเงิน 1,849.5 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าก่อสร้าง จำนวน 1,800 ล้านบาท ในอัตราส่วนของแหล่งเงินกู้ : เงินงบประมาณ 70 : 30 และค่าควบคุมงาน ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณ จำนวน 49.5 ล้านบาท ในอัตราร้อยละ 2.75 ของวงเงินค่าก่อสร้าง โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและแหล่งเงินกู้ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ โดยให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสม สำหรับวงเงินงบประมาณขอให้กรมทางหลวงชนบทเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณรองรับตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

 

TU720x100

 

          สาระสำคัญของเรื่อง

          คค. รายงานว่า ทช. ได้จัดทำรายละเอียดโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาและโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา โดยทั้งสองโครงการมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อก่อสร้างสะพานแห่งใหม่เพื่อเป็นทางเชื่อมระหว่างจังหวัดและทางเชื่อมระหว่างฝั่งแผ่นดินใหญ่และเกาะตามลำดับซึ่งจะช่วยลดระยะทางและระยะเวลาในการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้ารวมทั้งยกระดับมาตรฐานทางหลวงชนบทเพื่อเชื่อมโยงต่อเติมโครงข่ายการคมนาคมและการขนส่งให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

          1. โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา

                 1.1 เหตุผลความจำเป็น

                 ปัจจุบันการเดินทางระหว่างอำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา - อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ต้องเดินทางอ้อมทะเลสาบสงขลา โดยมีระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร และใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง ดังนั้น การดำเนินโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาจะทำให้การเดินทางระหว่างสองพื้นที่ดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ยกระดับความปลอดภัยในการเดินทางสัญจร และสนับสนุนการท่องเที่ยวโดยรอบทะเลสาบสงขลา รวมทั้งสนับสนุนและอำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม ส่งเสริมการขนส่งโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงทะเลอันดามันอ่าวไทย

                 1.2 สาระสำคัญของโครงการ

 

หัวข้อ

รายละเอียด

ที่ตั้งโครงการ

- จุดเริ่มต้นบริเวณทางแยกจากถนน พท. 4004 (กิโลเมตรที่ 3 + 300) บ้านจองถนน ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง วางแนวข้ามทะเลสาบสงขลาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

- จุดสิ้นสุดที่ถนนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (ถนนรอบเกาะใหญ่) บ้านแหลมยาง ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา

ลักษณะโครงการ

มีขนาด 2 ช่องจราจร โดยมีขนาดช่องจราจรกว้าง 4 เมตร ไหล่ทางกว้างด้านละ 2.5 เมตร ทั้งนี้ สามารถจัดเป็น 4 ช่องจราจร ได้ในอนาคต (ถ้าจำเป็น)

ระยะทาง

7 กิโลเมตร (ความยาวสะพาน 6,600 เมตร)

รูปแบบ

โครงสร้างสะพาน

- สะพานช่วงหลักเป็นสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) มีความกว้างช่องลอดสุทธิไม่น้อยกว่า 120 เมตร และมีความสูงไม่น้อยกว่า 18 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลสูงสุด

- สะพานช่วงต่อทั้งสองข้างของสะพานช่วงหลักเป็นสะพานคานคอนกรีตรูปกล่องความหนาคงที่ (Box Segmental Bridge)

สถานะความพร้อม

โครงการ

- ออกแบบและประมาณราคาค่าก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2564

การจัดหาที่ดินสำหรับก่อสร้าง

- ทช. ได้รับการอุทิศที่ดินจากประชาชน ในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างทั้ง 2 ฝั่ง ของสะพาน ประกอบด้วย

        (1) ที่ดินฝั่งตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง จำนวน 1 ไร่ 16 ตารางวา

        (2) ที่ดินฝั่งตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา จำนวน 8 ไร่

รายงานการประเมิน

ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

(EIA)

- คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ในการประชุมครั้งที่ 7/2565 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 มีมติเห็นชอบรายงาน EIA แล้ว

- พื้นที่โครงการอยู่ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง ซึ่งบริเวณทางด้านทิศเหนือของโครงการห่างจากบริเวณพื้นที่โครงการประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นบริเวณที่มีการกำหนดเป็นเขตคุ้มครองโลมาอิรวดี1 โดยพื้นที่หากิน (Home Range) ของโลมาอิรวดี ในทะเลสาบสงขลาครอบคลุมพื้นที่ประมาน 100 ตารางกิโลเมตร โลมาอิรวดีส่วนใหญ่อาศัยตรงกลางร่องน้ำส่วนลึก สำหรับขอบเขตพื้นที่หากินของโลมาอิรวดีด้านล่างนั้นห่างจากพื้นที่ดำเนินกิจกรรมก่อสร้างแนวสะพานประมาณ 6 กิโลเมตร ในช่วงดำเนินการก่อสร้างแนวสะพานคาดว่า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อโลมาอิรวดีในระดับต่ำ

ปริมาณการจราจร

(คาดการณ์)

- ปี 2569 (ปีแรกที่เปิดให้บริการ) มีปริมาณจราจร 3,500 คันต่อวัน [ระดับการให้บริการ (Level of Service : LOS)2 = A]

- ปี 2599 (ปีที่ 30 ของโครงการ) มีปริมาณจราจร 6,500 คันต่อวัน (LOS = B)

- ทั้งนี้ หากมีการพัฒนาโครงข่ายถนนส่วนเชื่อมต่อสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาตามแนวตะวันตก - ตะวันออก (East - West Corridor) บริเวณเชื่อมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ฝั่งจังหวัดพัทลุงและบริเวณเชื่อมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 408 ฝั่งจังหวัดสงขลาจะทำให้มีปริมาณจราจรเพิ่มขึ้นเป็น 6,300 คันต่อวัน (LOS = B) ในปี 2569 และ 12,000 คันต่อวัน (LOS - D) ในปี 2599

ระยะเวลาก่อสร้าง

3 ปี (ปี 2566 - 2568)

ผลตอบแทน

ทางเศรษฐกิจ

- มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV) อยู่ที่ 2,553.26 ล้านบาท อัตราคิดลด (Discount Rate) ร้อยละ 12

- อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return : EIRR)3 คิดเป็นร้อยละ 19.62

- อัตราผลประโยชน์ต่อทุน (B/C Ratio) 1.86 เท่า

 

                  1.3 ประโยชน์ที่จะได้รับ

                          1.3.1 ลดระยะทางในการเดินทางระหว่างอำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา - อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง จาก 80 กิโลเมตร เป็น 7 กิโลเมตร และลดระยะเวลาในการเดินทาง จาก 2 ชั่วโมง เป็น 15 นาที

                          1.3.2 พัฒนาเส้นทางการขนส่งโลจิสติกส์ และเส้นทางท่องเที่ยวสายใหม่ เชื่อมโยงทะเลอันดามัน - อ่าวไทย เชื่อม 3 จังหวัด (ตรัง - พัทลุง - สงขลา) เป็นเส้นทางลัดสนับสนุนท่าเรือน้ำลึกสงขลา เลี่ยงการเดินทางเข้าเทศบาลนครหาดใหญ่และตัวเมืองสงขลา ช่วยลดปัญหาจราจรและอุบัติเหตุ

                          1.3.3 ส่งเสริมและสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวให้กับพื้นที่โดยรอบทะเลสาบสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ วัฒนธรรม ประเพณี และประวัติศาสตร์

                          1.3.4 เพื่อบรรเทาปริมาณจราจรของถนนทางหลวงและแก้ปัญหาการจราจร ที่ติดขัดบริเวณทางแยก ทางลัด (Bypass) ทางเสี่ยง (Shortcut) ระหว่างอำเภอ จังหวัด และพัฒนาพื้นที่โดยรอบทะเลสาบสงขลา รวมถึงพัฒนาและยกระดับมาตรฐานทางหลวงชนบทเพื่อเชื่อมโยง ต่อเติมโครงข่ายการคมนาคมและขนส่งการแก้ไขปัญหาจราจรด้วยการสร้างทางเชื่อม (Missing Link) ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

                          1.3.5 เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทาง ของประชาชน และในกรณีเกิดภัยพิบัติสามารถอพยพประชาชนในพื้นที่ได้รวดเร็วทันการณ์

                          1.3.6 สนับสนุนและอำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการบริการโลจิสติกส์ในพื้นที่

 

sme 720x100

 

          2. โครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา

                 2.1 เหตุผลความจำเป็น

                          ปัจจุบันการเดินทางระหว่างฝั่งแผ่นดินใหญ่ ตำบลเกาะกลาง และเกาะลันตา อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ จะต้องผ่านทางหลวงหมายเลข 4206 สู่บ้านหัวหิน ซึ่งเป็นจุดลงแพขนานยนต์ไปยังเกาะลันตาน้อย แม้ว่าจะมีระยะทางเพียง 1.53 กิโลเมตร แต่เนื่องจากแพขนานยนต์สามารถบรรทุกรถยนต์ได้น้อยทำให้เกิดปัญหาของความล่าช้า ผู้โดยสารจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง หรือมากกว่าในการเดินทาง ประกอบกับในบางช่วงเวลาจะมีปัญหาเรื่องของระดับน้ำทะเลที่ขึ้นลงตามธรรมชาติซึ่งเป็นอุปสรรคของแพขนานยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา คค. ได้เปิดให้บริการสะพานสิริลันตาเพื่อรองรับการเดินทางระหว่างเกาะลันตาน้อยและเกาะลันตาใหญ่แล้ว ดังนั้น โครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตาจะช่วยบรรเทาปริมาณการจราจรของถนนทางหลวง แก้ไขปัญหาการจราจรที่ล่าช้าบริเวณท่าแพขนานยนต์ พัฒนาและยกระดับมาตรฐานทางหลวงชนบทเพื่อเชื่อมโยงต่อเติมโครงข่ายการคมนาคมและการขนส่ง แก้ไขปัญหาการจราจรด้วยการสร้างทางเชื่อม (Missing Link) ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่และกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นและภูมิภาค

                 2.2 สาระสำคัญของโครงการ

 

หัวข้อ

รายละเอียด

ที่ตั้งโครงการ

- จุดเริ่มต้นบริเวณทางหลวงหมายเลข 4206 กิโลเมตรที่ 26+620

- จุดสิ้นสุดที่แยกทางหลวงชนบทหมายเลข กบ. 5035

ลักษณะโครงการ

มีขนาด 2 ช่องจราจร โดยมีขนาดช่องจราจรกว้าง 3.75 เมตร ไหล่ทางกว้างด้านละ 2.5 เมตร ทั้งนี้ สามารถจัดเป็น 4 ช่องจราจร ได้ในอนาคต (ถ้าจำเป็น)

ระยะทาง

2,200 เมตร (ความยาวสะพาน 1920 เมตร และความยาวถนนต่อเชื่อม 280 เมตร)

รูปแบบ

โครงสร้างสะพาน

- สะพานช่วงหลักเป็นสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) มีความกว้างช่องลอด 110 เมตร และมีความสูงช่องลอด 15.40 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลสูงสุด และส่วนที่เหลือเป็นสะพานคานยื่น (Balance Cantilever Bridge)

สถานะ

ความพร้อมโครงการ

การจัดหาที่ดินสำหรับก่อสร้าง

- บริเวณพื้นที่ก่อสร้าง ประกอบด้วย

 (1) ที่ดินฝั่งตำบลเกาะลันตาน้อย ทช. ได้รับการอุทิศเขตที่ดินจากประชาชน จำนวน 44 ไร่

 (2) พื้นที่ฝั่งตำบลเกาะกลางเป็นเขตที่ดินขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่(อบจ.กระบี่) ทั้งนี้ ทช. ได้ประสานเพื่อขอเข้าใช้พื้นที่ในเบื้องต้นแล้วและเมื่อโครงการฯ ได้รับอนุมัติจะดำเนินตามขั้นตอนต่อไป

การยกเว้นมติห้ามใช้พื้นที่ป่าชายเลน

- ภายหลังจาก กก.วล. เห็นชอบรายงาน EIA ทช. จะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีห้ามใช้พื้นที่ป่าชายเลนต่อไป

รายงาน EIA

- คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและทางอากาศได้พิจารณาเห็นชอบรายงาน EIA แล้ว (คาดว่าจะนำเสนอ กก.วล. พิจารณาได้ภายในเดือนตุลาคม 2565)4

- บริเวณเกาะลันตาเป็นบริเวณที่พบโลมาปากขวด (Tursiops aduncus) และโลมาหลังโหนก (Sousa chinensis) ซึ่งจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า .. 2562 โดยการดำเนินกิจกรรมก่อสร้างฐานรากสะพาน อาจจะส่งผลกระทบต่อเส้นทางว่ายน้ำของโลมา ทั้งนี้ โครงการฯ จะหลีกเลี่ยงการก่อสร้างฐานรากสะพานในฤดูมรสุมช่วงเดือนพฤษภาคมกันยายน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อเส้นทางว่ายน้ำของโลมาปากขวดและโลมาหลังโหนก และหากพบเห็นโลมาและสัตว์หายากเข้ามาในพื้นที่ก่อสร้าง ให้หยุดก่อสร้างในส่วนที่ก่อให้เกิดเสียงดังหรือสั่นสะเทือนสูง

- โครงการได้ออกแบบการก่อสร้างตอม่อสะพานในทะเลเป็นเสาเข็มเจาะ โดยก่อสร้างหลีกเลี่ยงแนวปะการังและหญ้าทะเล แต่อย่างไรก็ตาม กิจกรรมของโครงการอาจส่งผลกระทบทางอ้อมให้กับแนวปะการังและหญ้าทะเลบริเวณใกล้เคียงแนวเส้นทางโครงการ หากตะกอนและการฟุ้งกระจายที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมสร้างฐานราก

ปริมาณการจราจร

- ปี 2568 (ปีแรกที่เปิดให้บริการ) ช่วงที่เป็นฤดูท่องเที่ยว (High Season) มีปริมาณการจราจร 6,005 คันต่อวัน และช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season) มีปริมาณการจราจร 4,961 คันต่อวัน

- ปี 2598 (ปีที่ 30 ของโครงการ) ช่วงที่เป็นฤดูท่องเที่ยว (High Season) มีปริมาณการจราจร 11,739 คันต่อวัน และช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season) มีปริมาณการจราจร 9,026 คันต่อวัน

ระยะเวลา

3 ปี (ปี 2566 - 2568)

ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ

- มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่ที่ 574.59 ล้านบาท อัตราคิดลด (Discount Rate) ร้อยละ 12

- อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) คิดเป็นร้อยละ 17.21

- อัตราผลประโยชน์ต่อทุน (B/C Ratio) 1.61 เท่า

 

                  2.3 ประโยชน์ที่จะได้รับ

                          2.3.1 เพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง ลดระยะเวลาการเดินทางจากการเดินทางด้วยแพขนานยนต์ซึ่งจะใช้เวลาข้ามฟากประมาณ 2 ชั่วโมง ในขณะที่การใช้สะพานจะลดเวลาเหลือเพียง 2 นาที

                          2.3.2 เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมและการขนส่งให้เกิดความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดระยะทางการเดินทางระหว่างอำเภอคลองท่อม และอำเภอเกาะลันตาน้อย จังหวัดกระบี่

                          2.3.3 เพื่อยกระดับมาตรฐานความสะดวกปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน และในกรณีเกิดภัยพิบัติสามารถอพยพประชาชนในพื้นที่ได้รวดเร็วทันการณ์

                          2.3.4 เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม การบริการและการท่องเที่ยวระหว่างเกาะลันตาและแผ่นดินใหญ่ รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการบริการโล จิสติกส์ในพื้นที่

__________________

1 ตามประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวงจังหวัดพัทลุง - สงขลา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา (ทะเลหลวง) ประกาศ วันที่ 1 มกราคม 2561

2 ระดับการบริการของทางหลวงเป็นมาตรวัดในเชิงคุณภาพ (Qualitative Measure) ซึ่งบ่งบอกถึงคุณภาพในการให้บริการของถนนโดยแสดงเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ 6 ตัว ได้แก่ A ,B, C, D, และ F ค่าแต่ละค่าจะแสดงถึงลักษณะและสภาพการจราจรที่แตกต่างกัน โดยระดับการให้บริการ A หรือ LOS A แสดงสภาพการจราจรที่ดีที่สุด และในทางตรงกันข้ามระดับการให้บริการ F หรือ LOS F จะแสดงสภาพการจราจรที่แย่ที่สุด

3 คู่มือแนวทางและหลักเกณฑ์การวิเคราะห์โครงการ .. 2555 (ฉบับปรับปรุง) ของ สศช. แนะนำว่า สำหรับการวิเคราะห์ผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์ของโครงการ ที่ผ่านมา สศช. ได้กำหนดเกณฑ์อัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์ของโครงการ (Economic Internal Rate of Return: EIRR) ที่เหมาะสมอยู่ระหว่างร้อยละ 9 – 12 แล้วแต่ลักษณะของโครงการ

4 คค. ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตาเป็นโครงการสำคัญของ คค. (ทช.) และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว และขนส่งโลจิสติกส์ในพื้นที่ และเป็นการดำเนินการด้านการคมนาคมขนส่งที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงเข้าข่ายการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) .. 2561 มาดรา 49 วรรค 4 ซึ่งบัญญัติให้ในกรณีที่โครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามวรรคหนึ่งเป็นโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการด้านการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรพยาบาล หรือที่อยู่อาศัยที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์สาธารณะ ในระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการนั้น อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินกระบวนการหรือขั้นตอนเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนที่จะเป็นผู้รับงานนั้นไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอกชนผู้นั้นไม่ได้และจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ภายในเดือนตุลาคม 2565 ต่อไป

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 ตุลาคม 2565

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A10657

Click Donate Support Web  

EXIM One 720x90 C J

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

PTG 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

ธกส 720x100

ใจฟู720x100px

ais 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!