รายงานผลการพิจารณาตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการ ประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 18 October 2022 22:41
- Hits: 1548
รายงานผลการพิจารณาตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการ ประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการพิจารณาตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ได้ส่งข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่..) พ ศ. ....ของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภามาเพื่อดำเนินการ ซึ่งร่างพระราชบัญญัติฯ มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการให้สินเชื่อตามที่คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตประกาศกำหนด สามารถเป็นสมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตได้ เพื่อรองรับธุรกรรม/นวัตกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นใหม่ (Financial Technology) ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเพื่อให้บริษัทข้อมูลเครดิตสามารถรับผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางที่เกี่ยวเนื่องกับการให้สินเชื่อสามารถเป็นสมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตได้ เพื่อให้สามารถนำส่งข้อมูลของผู้ใช้บริการขอรับสินเชื่อผ่านระบบหรือเครือข่ายการให้บริการของตนให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิต โดยที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีข้อสังเกตเกี่ยวกับ 1) คำนิยามคำว่า “ข้อมูลเครดิต” 2) การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อปฏิบัติเกี่ยวกับการนำส่งข้อมูลเครดิตของลูกค้าผู้ขอสินเชื่อให้บริษัทข้อมูลเครดิต การเปิดเผยข้อมูลเครดิตของลูกค้าผู้ขอสินเชื่อให้แก่ผู้จะให้สินเชื่อเพื่อประกอบการตัดสินใจในการให้สินเชื่อ ควรต้องให้ความเป็นธรรมกับเจ้าของข้อมูล และผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง 3) การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อ และ 4) การบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะการปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องและทันสมัยตลอดเวลา ต้องมีการบังคับใช้อย่างถูกต้อง เที่ยงธรรม มีประสิทธิภาพ และทันเวลา
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ กค. เป็นหน่วยงานหลักรับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาดังกล่าว ไปพิจารณาร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวมแล้วส่งให้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
กค. รายงานว่า ได้ร่วมกับ ธปท. สำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อสังเกตฯ แล้ว สรุปได้ดังนี้
ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ของ สผ. และ สว. |
รายงานผลการพิจารณาตามข้อสังเกตฯ |
|
1. คำนิยาม “ข้อมูลเครดิต” หมายความว่า “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่ขอสินเชื่อกับสมาชิกประเภทสถาบันการเงินหรือขอสินเชื่อผ่านสมาชิกประเภทผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อ ...” ดังนั้น “ผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อ” ในรูปแบบคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) ตามร่างพระราชบัญญัตินี้ ในชั้นนี้จึงเป็นการระดมทุนโดยให้ผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนโดยการออกเป็นหุ้นกู้ |
● สำนักงาน ก.ล.ต. จะได้ประสานงานกับ ธปท. ในการออกกฎหมายลำดับรองให้เป็นไปตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ต่อไป |
|
ประเด็นที่ 1 ข้อมูลใดที่จัดเก็บควรเน้นที่คุณภาพและเหตุผลจำเป็น ไม่ใช่ปริมาณ ทั้งนี้ อาจจะต้องเปรียบเทียบกับแนวทางการดำเนินการในประเทศอื่นๆ ด้วย ประเด็นที่ 2 ประวัติการขอและการได้รับอนุมัติสินเชื่อเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญ ซึ่งสามารถสร้างความได้เปรียบหรือเสียเปรียบในการขอและการได้รับอนุมัติสินเชื่อ ควรมีการกำหนดข้อมูลขั้นต่ำและข้อมูลทางเลือกที่ผู้ขอสินเชื่อจะให้หรือไม่ให้ข้อมูลดังกล่าวก็ได้ (สผ. และ สว.) |
● การนำส่งข้อมูล การเปิดเผยข้อมูล การจัดเก็บข้อมูล รวมถึงการประมวลผลข้อมูลเครดิต กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตกำหนดให้จัดเก็บข้อมูลเท่าที่จำเป็น และมุ่งเน้นที่คุณภาพของข้อมูลให้มีความถูกต้องครบถ้วน ทันสมัยและตรงตามข้อเท็จจริง เพื่อให้ระบบข้อมูลเครดิตของประเทศมีความสมบูรณ์ครบถ้วน รวมถึงการให้ความคุ้มครองดูแลเจ้าของข้อมูลซึ่งเป็นไปตามหลักการของมาตรฐานสากล |
|
2. การบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะการปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องและทันสมัยตลอดเวลาต้องมีการบังคับใช้อย่างถูกต้อง เที่ยงธรรม มีประสิทธิภาพ และทันเวลา (สผ.) |
● ธปท. เห็นว่ากฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการข้อมูลเครดิต (กคค.) ประกาศกำหนดได้กำหนดให้สมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตมีหน้าที่ต้องนำส่งข้อมูลของลูกค้าของตนให้บริษัทข้อมูลเครดิต โดยต้องนำส่งข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนและทันสมัยอยู่เสมอ หากมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องสมาชิกต้องแก้ไขและจัดส่งข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้ความคุ้มครองเจ้าของข้อมูล รวมทั้งเพื่อให้ระบบข้อมูลเครดิตมีความถูกต้องครบถ้วน และยังกำหนดสิทธิของเจ้าของข้อมูลให้สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล รวมทั้ง สิทธิในการอุทธรณ์ ข้อโต้แย้งความถูกต้องของข้อมูลเพื่อให้มีการปรับ แก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องตามความเป็นจริงและหากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดดังกล่าวต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนด |
|
3. การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อให้ ผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อต้องปฏิบัติเกี่ยวกับ 1) การนำส่งข้อมูลเครดิตของลูกค้า ผู้ขอสินเชื่อให้บริษัทข้อมูลเครดิต 2) การเปิดเผยข้อมูลเครดิตของลูกค้าผู้ขอสินเชื่อเพื่อประกอบการตัดสินใจ ในการให้สินเชื่อ ควรต้องให้ความเป็นธรรมกับเจ้าของข้อมูล และผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง (สผ. และ สว.) |
● กคค. เห็นว่า การออกประกาศ กคค. ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อจะคำนึงถึงลักษณะการประกอบธุรกิจที่แตกต่างกันและได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง รวมถึงการคุ้มครองข้อมูลให้กับเจ้าของข้อมูลด้วย ● ปัจจุบัน กคค. ได้ออกประกาศ กคค. ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อจำนวน 7 ฉบับ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 เช่น ประกาศ กคค.เรื่อง การกำหนดประเภทธุรกิจของตัวกลางในการให้บริการระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ และประกาศ กคค. เรื่อง การเปิดเผยหรือให้ข้อมูลแก่สมาชิกประเภทผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อ และการให้ความยินยอมของเจ้าของข้อมูล |
|
4. การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อเกี่ยวกับ 1) การประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อ และ 2) การขัดกันแห่งผลประโยชน์กรณีที่กรรมการและผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อเข้าเป็นผู้ให้สินเชื่อด้วย (สผ. และ สว.) |
● ธปท. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล [peer to peer lending platform : P2P (การกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลกับบุคคลผ่านช่องทางออนไลน์)] ได้ออกประกาศ ธปท. ที่ สนส. 14/2563 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล ซึ่งมีข้อกำหนดว่า ผู้ประกอบธุรกิจ P2P จะต้องยื่นขออนุญาตต่อ ธปท. ก่อน และได้มีข้อกำหนดเรื่องเกี่ยวกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เช่น กรรมการผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจ P2P เป็นผู้ให้สินเชื่อสามารถให้สินเชื่อได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าสินเชื่อรวมในแต่ละสัญญา และห้ามกรรมการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าวใช้บริการกับผู้ประกอบธุรกิจ P2P นั้น เพื่อขอกู้ยืมเงิน ● สำนักงาน ก.ล.ต. ในฐานะผู้กำกับดูแลผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง [(Funding Portal) ซึ่งรวมถึง ผู้ประกอบธุรกิจ Debt Crowdfunding (การระดมทุนจากนักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือสถาบัน องค์กรมูลนิธิผ่านช่องทางออนไลน์)] ได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์ไว้ในประกาศคณะกรรมการการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 21/2562เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ผ่าน ระบบคราวด์ฟันดิง เช่น Funding Portal ต้องไม่กระทำการใดที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ |
|
5. ควรพิจารณาเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทาง ที่เหมาะสมให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยนจัดเตรียมข้อมูลที่จำเป็นตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด กำหนด เพื่อให้สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ได้โดยเร็ว (สว.) |
● กรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสหกรณ์ได้สนับสนุนส่งเสริมสหกรณ์ ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เข้าเป็นสมาชิกบริษัทข้อมูลเครดิต อย่างไรก็ตามการเข้าเป็นสมาชิกบริษัทข้อมูลเครดิตขึ้นอยู่กับความสมัครใจของแต่ละสหกรณ์ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10655