มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ปี 2565 ของกระทรวงการคลัง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 18 October 2022 22:32
- Hits: 1419
มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ปี 2565 ของกระทรวงการคลัง
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ปี 2565 ของกระทรวงการคลัง ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ปี 2565 ของกระทรวงการคลัง
1. กรมสรรพากร จำนวน 5 มาตรการ โดยได้ดำเนินมาตรการทางภาษี เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย สรุปได้ดังนี้
1.1 มาตรการที่มีการดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
1) มาตรการสนับสนุนการบริจาคให้แก่ส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
1.1) กรณีบุคคลธรรมดา สามารถหักลดหย่อนเงินบริจาคได้ 1 เท่า แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ
1.2) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักรายจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคได้ 1 เท่า แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ
1.3) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคทรัพย์สินหรือสินค้า
2) มาตรการสนับสนุนการบริจาคผ่านบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นตัวแทนรับเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
2.1) กรณีบุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนเงินบริจาคได้ 1 เท่า แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ
2.2) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคได้ 1 เท่า แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ
2.3) กรณีผู้ประกอบการได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคสินค้า
3) มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย ทั้งบุคคลธรรมดาและบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในกรณีดังต่อไปนี้
3.1) กรณีเงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล
3.2) กรณีเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคหรือช่วยเหลือเพื่อชดเชยความเสียหายไม่เกินกว่ามูลค่าความเสียหายที่ได้รับ
3.3) กรณีค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยเพื่อชดเชยความเสียหาย
1.2 มาตรการที่อยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติม
1) มาตรการในระยะเร่งด่วน การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีหรือนำส่งภาษี และการขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน สำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษีในพื้นที่อุทกภัยจากเดิมต้องยื่นหรือขอภายในเดือนตุลาคม 2565 และเดือนพฤศจิกายน 2565 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565
2) มาตรการในระยะถัดไป: การหักลดหย่อนค่าซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลธรรมดาที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และหักลดหย่อนค่าซ่อมแซมรถของบุคคลธรรมดาที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
ทั้งนี้ กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายได้ตามจริงอยู่แล้ว
2. กรมศุลกากร จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่
2.1 มาตรการทางภาษี: การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามา เพื่อบริจาคให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ปี 2565
2.2 มาตรการอื่น: กรมศุลกากรได้มอบหมายให้ด่านศุลกากรในส่วนภูมิภาคช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ เช่น การมอบสิ่งของจำเป็น การลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น
3. กรมสรรพสามิต จำนวน 1 มาตรการ โดยผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบกิจการสถานบริการในจังหวัดที่มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน - 31 ตุลาคม 2565 ได้รับการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการภาษีและชำระภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 จากเดิมวันที่ 11 - 31 ตุลาคม 2565 ออกไปเป็นภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 และขยายกำหนดเวลาในการยื่นงบเดือนจากเดิมในเดือนตุลาคม 2565 ออกไปเป็นภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565
4. กรมบัญชีกลาง จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่
4.1 มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 โดยเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศให้ท้องที่นั้นเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน สามารถใช้จ่ายเงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด จำนวน 20,000,000 บาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในด้านการดำรงชีพ ด้านการแพทย์และสาธารณสุขและด้านการเกษตร ทั้งนี้ ในกรณีที่วงเงินทดรองราชการไม่เพียงพอ จังหวัดสามารถขอขยายวงเงินทดรองราชการเพิ่มเติมต่อกระทรวงการคลังได้
4.2 มาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยกรมบัญชีกลางได้มอบหมายให้คลังจังหวัดประสานงานกับคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัดให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานของผู้ว่าราชการจังหวัดและลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
5. กรมธนารักษ์ จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่
5.1 มาตรการช่วยเหลือผู้เช่าที่ราชพัสดุที่ประสบอุทกภัย ยกเว้นค่าเช่าสูงสุด 2 ปี ได้แก่
1) กรณีผู้เช่าที่ดินราชพัสดุเพื่ออยู่อาศัย หากเสียหายบางส่วนให้ยกเว้นค่าเช่าเป็นระยะเวลา 1 ปี และหากที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังให้ยกเว้นค่าเช่าเป็นระยะเวลา 2 ปี
2) กรณีผู้เช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อประกอบการเกษตร หากพืชหรือผลผลิตได้รับความเสียหายจากอุทกภัยให้ยกเว้นการเก็บค่าเช่าเป็นระยะเวลา 1 ปี
3) กรณีผู้เช่าอาคารราชพัสดุและผู้เช่าที่ดินเพื่อประโยชน์อย่างอื่น หากไม่สามารถดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ที่เช่าได้ให้ยกเว้นการเรียกเก็บค่าเช่าเป็นรายเดือนตามข้อเท็จจริง
4) กรณีผู้เช่าไม่สามารถชำระค่าเช่า ค่าธรรมเนียม หรือเงินอื่นใดที่ต้องชำระภายในกำหนดเวลาโดยเหตุมาจากอุทกภัยให้ยกเว้นการคิดเงินเพิ่มตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ในราชพัสดุ พ.ศ. 2552
ทั้งนี้ เมื่อจังหวัดดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการข้างต้นแล้วจะรายงานให้กรมธนารักษ์ทราบภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ดำเนินการแล้วเสร็จ และหากจังหวัดเห็นควรพิจารณาให้ความช่วยเหลืออื่นนอกเหนือจากมาตรการข้างต้น ให้แจ้งรายละเอียดต่อกรมธนารักษ์เพื่อพิจารณาเป็นกรณีไป
5.2 มาตรการมอบถุงยังชีพให้กับผู้เช่าที่ราชพัสดุที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ 33 จังหวัด จำนวน 3,134 ชุด
6. การยาสูบแห่งประเทศไทย จำนวน 2 มาตรการ ดังนี้
6.1 มาตรการช่วยเหลือพนักงานยาสูบและครอบครัว ตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือพนักงานยาสูบผู้ประสบวินาศภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการดำรงชีพและความเสียหายของทรัพย์สินหรือที่อยู่อาศัย
6.2 มาตรการช่วยเหลือประชาชนทั่วไปในพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยการแจกจ่ายถุงยังชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัยและผู้ประสบปัญหาในการดำรงชีพในพื้นที่ต่างๆ
อนึ่ง สถาบันการเงินเฉพาะกิจได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยรวม 21 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการพักชำระหนี้ ลดเงินต้นและดอกเบี้ยและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จำนวน 9 มาตรการ มาตรการสนับสนุนด้านสินเชื่อ จำนวน 10 มาตรการ มาตรการสินไหมเร่งด่วน จำนวน 1 มาตรการ และมาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันและค่าจัดการค้ำประกัน จำนวน 1 มาตรการ ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10653