การดำเนินการตามคำมั่นที่ให้กับสหภาพยุโรปในการเข้าเป็นภาคีในความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนรายงานข้อมูลรายประเทศ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 18 October 2022 22:19
- Hits: 1362
การดำเนินการตามคำมั่นที่ให้กับสหภาพยุโรปในการเข้าเป็นภาคีในความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนรายงานข้อมูลรายประเทศ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบการเข้าเป็นภาคีในความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนรายงานข้อมูลรายประเทศ (Multilateral Competent Authority Agreement on the Exchange of Country-by-Country Reports: CbC MCAA) (ความตกลง CbC MCAA) แบบส่งและรับข้อมูลแบบต่างตอบแทนกับประเทศคู่สัญญา (Reciprocal)
2. ให้ กค. มีหนังสือถึงเลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) เพื่อแจ้งความจำนงในการลงนามเข้าเป็นภาคีในความตกลง CbC MCAA
3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี (Multilateral Convention on Mutual Administrative Assistance in Tax Matters) (ความตกลง MAC) เป็นผู้ลงนามในร่างคำแถลงการณ์ (Declaration) เพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีในความตกลง CbC MCAA เมื่อประเทศไทยได้รับร่างคำแถลงการณ์จาก OECD และเมื่อลงนามแล้ว ให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ส่งคำแถลงการณ์ดังกล่าว ให้เลขาธิการ OECD ผ่านช่องทางการทูต
4. ให้ กค. จัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการแจ้งให้ความตกลง CbC MCAA มีผลผูกพัน เมื่อประเทศไทยได้รับหนังสือแจ้งผ่านการประเมินเรื่องการรักษาความลับและความปลอดภัยของข้อมูล (Confidentiality and Data Safeguards Assessment) จาก Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes (Global Forum)1 โดยจัดทำเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด และส่งให้ฝ่ายเลขาธิการ OECD ผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแจ้งให้ความตกลง CbC MCAA มีผลผูกผัน
สาระสำคัญของเรื่อง
เรื่องนี้กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการเข้าร่วมเป็นภาคีในความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนรายงานข้อมูลรายประเทศ (Multilateral Competent Authority Agreement on the Exchange of Country-by-Country Reports: CbC MCAA) (ความตกลง CbC MCAA) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามคำมั่นทางการเมืองของประเทศไทยต่อกลุ่มคณะทำงานย่อยในด้านภาษีภายใต้คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป [Code of Conduct Group (Business Taxation)] ว่าประเทศไทยจะดำเนินการตามข้อแนะนำโดยทั่วไปของ Inclusive Framework ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำเรื่องการรายงานข้อมูลรายประเทศ (Country-by-Country Reports: CbCR) ให้ครบถ้วน โดยความตกลง CbC MCAA มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจแต่ละรัฐแลกเปลี่ยนรายงานข้อมูล CbCR ของกลุ่มบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลข้ามชาติ (Multinational Enterprise Group: MNE Group) ที่มีรายได้รวมทั้งหมด ตั้งแต่ 750 ล้านยูโรขึ้นไป (28,000 ล้านบาท) กับประเทศคู่สัญญา เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดเก็บภาษี การประเมินภาพรวมความเสี่ยงในการกำหนดราคาโอน ความเสี่ยงในการกัดกร่อนฐานภาษีและโยกย้ายกำไร รวมถึงใช้ในการวิเคราะห์เชิงเศรษฐมิติและสถิติที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หากประเทศไทยไม่เข้าร่วมความตกลงดังกล่าว อาจทำให้ประเทศไทยถูกบรรจุในรายชื่อประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือด้านภาษีของสหภาพยุโรป (EU List of Non- cooperative Jurisdictions for Tax Purposes: EU List) และอาจถูกมองว่าเป็นประเทศที่เอื้อต่อการหลีกเลี่ยงภาษี รวมทั้งอาจทำให้ประเทศในกลุ่ม EU รวมถึงองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ใช้มาตรการตอบโต้ทางภาษีและตั้งข้อกำหนดที่เข้มงวดมากขึ้นในการให้เงินกู้แก่ประเทศไทย
ทั้งนี้การเข้าร่วมเป็นภาคีในความตกลง CbC MCAA จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย ดังนี้
1. MNE Group ที่มีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลลำดับสูงสุดอยู่ในประเทศไทยสามารถยื่นข้อมูล CbCR ผ่านประเทศไทยได้ โดยที่แต่เดิมจะต้องยื่นผ่านประเทศอื่นๆ ที่เป็นประเทศภาคีในความตกลง CbC MCAA
2. ประเทศไทยจะได้รับข้อมูลรายงาน CbCR จากประเทศภาคีที่เป็นที่ตั้งของ MNE Group และมีกิจการที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งจะสามารถนำมาใช้วิเคราะห์ในการบริหารจัดเก็บภาษี MNE Group ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. เป็นการแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามคำมั่นที่ได้ให้ไว้กับ COCG ในการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ Inclusive Framework on BEPS เกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของ CbCR เพื่อให้ประเทศไทยไม่ถูกจัดอยู่ใน EU List
_____________________
1 Global Forum เป็นเวทีการประชุมและประเมินศักยภาพของประเทศสมาชิก โดยมุ่งเน้นการผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีตามมาตรฐานสากลของ OECD
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10651