การให้ความเห็นชอบและรับรองเอกสารแนวคิดเรื่องยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 18 October 2022 22:13
- Hits: 1368
การให้ความเห็นชอบและรับรองเอกสารแนวคิดเรื่องยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างเอกสารแนวคิดเรื่องยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำในร่างเอกสารดังกล่าว ที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้นๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ให้ความเห็นชอบร่างเอกสารดังกล่าวในฐานะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน และให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้การรับรองร่างเอกสารดังกล่าวต่อไปตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
การจัดทำเอกสารแนวคิดเรื่องยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้อาเซียนสามารถบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและการพัฒนาเศรษฐกิจได้ในลักษณะที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยการจัดทำยุทธศาสตร์ของอาเซียนจะช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ เช่น ทำให้อาเซียนเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนด้านการปล่อยคาร์บอนต่ำ และช่วยส่งเสริมนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่มูลค่า เป็นต้น ในทางกลับกัน หากอาเซียนไม่พัฒนาแนวทางการดำเนินงานที่ประสานกันก็อาจเกิดความเสี่ยงต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก และอาจทำให้อาเซียนไม่ได้ประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนการผลิตทั่วโลกสู่ทางเลือกสีเขียว ดังนั้น เอกสารแนวคิดฯ จึงเสนอให้อาเซียนร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์เรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยต่อยอดจากข้อริเริ่มด้านความยั่งยืนอื่นๆ ภายใต้ประชาคมอาเซียน ทั้ง 3 เสา เช่น กรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
ในการนี้ เอกสารแนวคิดฯ เสนอให้ยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) การพัฒนาบัญชีก๊าซเรือนกระจก (2) การพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาบนพื้นฐานทางธรรมชาติและระบบนิเวศ (3) การพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาโดยใช้กลไกตลาด (4) การลงทุนในเทคโนโลยีลดการปล่อยคาร์บอน และ (5) โครงสร้างพื้นฐาน ที่ครอบคลุมและยั่งยืน รวมถึงเสนอให้มีการจัดทำแผนดำเนินงาน (Implementation Plan) และกลไกติดตามตรวจสอบและประเมินผล ทั้งนี้ ตั้งเป้าให้เริ่มต้นการยกร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวภายในไตรมาสแรกของปี 2566 และให้ยุทธศาสตร์และแผนดำเนินงานได้รับความเห็นชอบภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566
ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศ รวมถึงไทย ได้มีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น อาเซียนควรสร้างความเข้าใจที่ตรงกันถึงนิยามของคำศัพท์และแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับความเป็นกลางทางคาร์บอน ควรคำนึงถึงความหลากหลายและสถานการณ์ของแต่ละประเทศ รวมถึงระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน โดยควรสนับสนุนการเข้าถึงเงินทุนและเทคโนโลยี และควรต่อยอดการดำเนินงานที่มีอยู่เดิม ตลอดจนปรึกษาหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง เป็นต้น ซึ่งสำนักเลขาธิการอาเซียนและสถาบันวิจัยเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออกได้นำข้อคิดเห็นดังกล่าวไปปรับปรุงร่างเอกสารแนวคิดฯ ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นแล้ว
ทั้งนี้ ร่างเอกสารแนวคิดดังกล่าวมีสาระไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยร่างเอกสารฯ เป็นเพียงการนำเสนอแนวคิดที่จะใช้เป็นจุดตั้งต้นสำหรับการดำเนินการขั้นต่อไป ได้แก่ การจัดทำยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นพ้องกันว่าจะต้องมีกระบวนการที่มีส่วนร่วมในการจัดทำยุทธศาสตร์ฯ ต่อไปในอนาคต เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนและทุกเสาของประชาคมอาเซียน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10648