การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 18 October 2022 22:09
- Hits: 1459
การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนของประเทศไทยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองชาร์ม เอล เชค สาธารณัฐอาหรับอียิปต์
2. เห็นชอบต่อกรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประจำปี พ.ศ. 2565 – 2566 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกรอบท่าทีเจรจาฯ ที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก
3. เห็นชอบต่อยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ ฉบับปรับปรุง (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy: LT-LEDS (Revised Version)) และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ ต่อสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
4. เห็นชอบต่อการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (2nd Updated NDC) และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดส่งการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 ต่อสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สารสำคัญของเรื่อง
1.องค์ประกอบคณะผู้แทนของประเทศไทยในการเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 27 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 3 - 18 พฤศจิกายน 2565 ณ เมืองชาร์ม เอล เชคสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2. กรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุมกรอบอนุสัญญาฯ ประจำปี พ.ศ. 2565 – 2566 เป็นไปตามหลักการของกรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ นโยบายและแผนของประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและไม่ขัดกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา
โดยที่กรอบท่าทีเจรจาของไทยฯ มีประเด็นการเจรจาที่ สำคัญ ได้แก่ การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ผลกระทบจากการใช้มาตรการในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคป่าไม้ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน แนวทางและกลไกความร่วมมือตามข้อ 6 ของความตกลงปารีส การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคเกษตร การเงิน เทคโนโลยี การเสริมสร้างศักยภาพ ความโปร่งใสและความร่วมมือแบบ South-South Cooperation
3. ยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ ฉบับปรับปรุง (LT-LEDS (Revised Version) จัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการร่วมมือกับประชาคมโลกในการพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 - 2 องศาเซลเชียส โดยมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกในระดับสูงสุดโดยเร็วที่สุดและดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้น โดยตามข้อ 4 วรรค 19 ของความตกลงปารีส เชิญชวนให้ทุกประเทศจัดทำและสื่อสารยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ โดยคำนึงถึงหลักความรับผิดชอบร่วมกันที่แตกต่าง (Common but differentiated responsibilities and respective capabilities, CBDR) ของแต่ละประเทศ โดยประเทศไทยได้จัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ ไปยังสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 ระบุถึงวิสัยทัศน์ของประเทศที่จะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero GHG emission) ภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้โดยเร็วที่สุด และเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ( Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065 ต่อมาในการประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 26 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้แสดงเจตนารมณ์ในการยกระดับเป้าหมายการดำเนินงานของประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero GHG emission) ได้ในปี ค.ศ. 2065 และด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ประเทศไทยจะสามารถยกระดับ NDC ได้ถึงร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงดำเนินการปรับปรุงยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ ให้สอดคล้องกับการยกระดับเป้าหมายดังกล่าว โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน มีการกำหนดเป้าหมายและมาตรการที่ชัดเจนและสอดคล้องตามแนวทางการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกกรณี 1.5 องศาเซลเชียส ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านพลังงานและขนส่ง รวมถึงการปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) พลังงานชีวภาพที่มีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Bioenergy with Carbon Capture and Storage: BECCS) และพลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen) เพื่อสร้างโอกาสและเพิ่มมูลค่าการลงทุนในธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเตรียมการของประเทศและราคาเทคโนโลยีที่ถูกลงจะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและส่งผลดีในระยะยาว โดยการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทยจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
4. การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (2nd Updated NDC) เป็นการยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ ฉบับปรับปรุง (LT-LEDS (Revised Version)) โดยยังโครงร่างตามเอกสาร NDC ฉบับเดิม ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ส่วนหลัก ได้แก่ บทนำ (Introduction) ด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation Component) ด้านการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation Component และความต้องการได้รับการสนับสนุน (Support needs) ซึ่งการปรับปรุงเนื้อหาหลักเป็นเรื่องการยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกจากร้อยละ 20 - 25 จากกรณีปกติ เป็นร้อยละ 30 - 40 จากกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) และการปรับปรุงข้อมูลให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ได้แก่ น่โยบายและแผนที่เกี่ยวข้อง การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกตามคู่มือการจัดทำบัญขีก๊าซเรือนกระจกระดับชาติ ปี ค.ศ. 2006 ของ IPCC ผลสำเร็จจากการดำเนินการ NAMA ความสำคัญของภาคป่าไม้ในการบรรลุเป้าหมาย NDC ของประเทศความสำเร็จของการมีส่วนร่วมกับอุตสาหกรรมปูน การสร้างความตระหนักรู้ผ่านการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฎิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference: TCAC) และความต้องการได้รับการสนับสนุนด้านการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) และพลังงานไฮโดรเจน รวมถึงการทำการเกษตรที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Smart Agriculture: CSA) เพื่อเพิ่มผลิตภาพของผลผลิตและปล่อยคาร์บอนต่ำ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10647