หลักสูตรการพัฒนาจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 11 October 2022 23:09
- Hits: 1127
หลักสูตรการพัฒนาจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดทำกรอบหลักสูตรการพัฒนาจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐและแนวทางการดำเนินการเพื่อให้ส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามมติคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 โดยให้สำนักงาน ก.พ. รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ข้อเสนอแนะของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และข้อสังเกตของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาประกอบการจัดทำหลักสูตรการพัฒนาสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐและแนวทางการดำเนินการให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ก่อนแจ้งส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หน่วยธุรการของรัฐสภา องค์กรอิสระ ศาล และองค์กรอัยการเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงาน ก.พ. รายงานว่า คณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม (ก.ม.จ.) ในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติเห็นชอบข้อเสนอการจัดทำกรอบหลักสูตรการพัฒนาจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และแนวทางการดำเนินการเพื่อให้การส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสรุปได้ ดังนี้
1. ข้อเสนอกรอบหลักสูตรการพัฒนาจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
1. หลักการ |
ยกระดับการรับรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมตามมาตรฐานทางจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงสร้างวัฒนธรรมค่านิยมการเฝ้าระวังและคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส กล้ายืนหยัดกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม |
2. วัตถุประสงค์ |
- พัฒนาและส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีกรอบความคิด (Mindset) และค่านิยม (Value) ของการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีแนวทางการตัดสินใจต่อประเด็นปัญหาทางจริยธรรมในสถานการณ์ต่างๆ ที่ถูกต้อง เกิดพฤติกรรมที่เหมาะสมเป็นไปตามมาตรฐานทางจริยธรรมที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 - สร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของบทบาทตนเองในการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมตามมาตรฐานทางจริยธรรม - ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถแสดงออกถึงพฤติกรรมที่สอดคล้องกับมาตรฐานทางจริยธรรม และปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี มีภาวะผู้นำทางจริยธรรม สร้างศรัทธาจูงใจให้ทีมงานเกิดความร่วมแรงร่วมใจในการปฏิบัติงานตามภารกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์ - พัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐและการนำพฤติกรรมทางจริยธรรมไปใช้ในกระบวนการบริหารงานบุคคล - สร้างสังคม-วัฒนธรรมประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมจากประชาชนในการสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกล้ายืนหยัดและแสดงความคิดเห็นที่ถูกต้อง รวมทั้งเข้าใจเข้าถึงการแจ้งเบาะแสและพร้อมให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่ประชาชน ผลักดันกระบวนการคุ้มครองสำหรับผู้แจ้งเบาะแสและผู้เฝ้าระวังให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อสนับสนุนการเฝ้าระวังพฤติกรรมทางจริยธรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับได้อย่างมีประสิทธิภาพ |
3. กลุ่มเป้าหมาย |
การกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ยึดโยงกับการจัดกลุ่มเป้าหมายตามบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามแนวทางการพัฒนาบุคลากกรภาครัฐ พ.ศ. 2563 - 25641 ซึ่งได้แบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 5 ระดับ คือ (1) เจ้าหน้าที่ของรัฐแรกบรรจุ (2) เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีประสบการณ์ที่ผ่านการปฏิบัติงานมาแล้วเกิน 1 ปี (3) เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่หัวหน้างาน (4) เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่ผู้อำนวยการหรือเทียบเท่า และ (5) เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีบทบาทหน้าที่ในการบริหารงานในฐานะหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ หรือรองหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ |
4. กรอบหลักสูตร |
ประกอบด้วย 5 หลักสูตร ที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายข้างต้น โดยได้พัฒนาและออกแบบการดำเนินการจัดอบรมที่มีความหลากหลายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ และมุ่งเน้นให้มีหลากหลายรูปแบบ เช่น รูปแบบ Classroom เป็นหัวข้อวิชาที่ต้องให้ผู้เรียนทุกคนได้มาพบปะกัน สร้างความสัมพันธ์อันก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายต่อไป เรียนรู้ร่วมกันโดยมีผู้สอนในห้องเรียนเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ส่วนวิชาที่สามารถใช้รูปแบบ Online ให้เป็นหัวข้อวิชาที่ผู้สอนสามารถสอบผ่าน online ตามสถานการณ์ หรืออาจมอบหมายให้ค้นคว้าเพิ่มเติมและใช้เวลาเรียนแบบ E-learning |
2. ข้อเสนอแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้การส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
2.1 หัวหน้าหน่วยงานของรัฐหรือผู้บังคับบัญชาทุกระดับต้องประพฤติปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมและประมวลจริยธรรมเป็นประจำจนสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นการสร้างกระบวนการต้นแบบจากผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานของรัฐและเน้นให้มี Role Model หรือแบบอย่างที่ดี เพราะการมีต้นแบบที่ดีจะนำไปสู่การปฏิบัติที่ดี ผู้บริหารระดับสูงจึงต้องให้ความสำคัญ รวมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีด้วย
2.2 เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับควรมีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้าน Skillsets และ Mindsets อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข โดยผู้บังคับบัญชาทุกระดับสามารถสร้างสภาพแวดล้อมและระบบการทำงานที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำงานและการเรียนรู้การพัฒนาอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ. ได้นำหลักสูตรการพัฒนาจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐบรรจุในช่องทางการเรียนรู้ทางไกลของเครือข่ายสำนักงาน ก.พ. (OCSC Learning Portal) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนทั่วไปที่สนใจสามารถเข้าถึงหลักสูตรได้ง่าย
2.3 ควรให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการแจ้งเบาะแสและการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสแก่หน่วยงานต่างๆ เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้เป็นผู้เฝ้าระวังทางจริยธรรม ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายชุมชน รวมทั้งให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลและหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรมนำไปใช้เพื่อขับเคลื่อนจริยธรรมกับหน่วยงานในกำกับด้วย
2.4 ควรมีการพัฒนาต่อยอดและประยุกต์ใช้ โดยหน่วยงานของรัฐอาจจัดให้มีการอบรม/สัมมนาวิทยากรให้เป็นผู้อำนวยการกลุ่ม2 สร้างความเข้าใจถึงรูปแบบ วิธีการ และการใช้เครื่องมือต่างๆ ให้กับวิทยากร เพราะการเรียนการสอนเน้นให้มีส่วนร่วม โดยวิทยากรต้องปรับบทบาทเป็นผู้อำนวยกลุ่มมากกว่าเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้
2.5 ควรจัดให้มีกิจกรรมการสร้างพันธะสัญญาในช่วงท้ายของการอบรม เช่น ให้มีการระบุถึงการทำดีตามมาตรฐานทางจริยธรรมที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะนำไปสร้างพฤติกรรมได้ หรืออาจมีแนวทางการรวมกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ และรายงานผลเพื่อให้เป็นตัวอย่าง เกิดการต่อยอดความคิดและมีความภาคภูมิใจ โดยอาจมีการเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติตามหรือนำไปประยุกต์ใช้
2.6 ควรมีการติดตาม ประเมินผลผู้เข้ารับการอบรมอย่างจริงจัง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีการรักษาจริยธรรมและแสดงพฤติกรรมที่สอดคล้องและไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทางจริยธรรมและประมวลจริยธรรม รวมถึงสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นแบบอย่างได้รับรางวัล
2.7 หน่วยงานของรัฐควรมีการจัดทำกรณีศึกษาหรือตัวอย่างการประพฤติปฏิบัติตนที่เกิดขึ้นจริงทั้งพฤติกรรมเชิงบวกและเชิงลบ เพื่อชี้ให้เห็นถึงโทษหรือข้อเสียของการไม่ประพฤติปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม และให้ผู้เข้าอบรมได้รับรู้ถึงสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติที่ต้องระมัดระวังและโทษของการทำผิด นอกจากนี้ การใช้กรณีศึกษาควรบ่งชี้ให้เห็นถึงการทำงานที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต หรือไม่ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และระบุถึงผลเสียหรือโทษ ทั้งในด้านการผิดจริยธรรม ผิดวินัย หรือในบางกรณีอาจผิดถึงกฎหมายอาญา
2.8 เห็นควรให้นำหลักสูตรการพัฒนาจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐไปใช้ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานธุรการของรัฐสภา องค์กรอิสระ ศาล และองค์กรอัยการ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทมีมาตรฐานทางจริยธรรมในระดับเดียวกัน
3. ความเห็นและข้อเสนอแนะของ ก.ม.จ. ดังนี้
3.1 เห็นควรให้นำกรอบหลักสูตรการพัฒนาจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐไปสอดแทรกไว้ในหลักสูตรต่างๆ ของหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว เช่น หลักสูตรปฐมนิเทศสำหรับบุคลากรแรกบรรจุ หลักสูตรการอบรมสำหรับบุคลากรที่มีประสบการณ์ หัวหน้างาน ผู้อำนวยการ และผู้บริหาร เช่น หลักสูตรนักบริหารระดับสูง หรือหลักสูตรของโรงเรียนเสนาธิการทหารบก วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) โดยให้สอดแทรกเนื้อหาในหลักสูตรของภาคเอกชนเพื่อให้การพัฒนาจริยธรรมเป็นมาตรฐานเดียวกัน
3.2 ในแต่ละหลักสูตรควรจะมีเครื่องมือในลักษณะ Digital Media หรือคลิปวีดิโอ ต่างๆ เพื่อเป็นสื่อรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้เข้าอบรมรับรู้พฤติกรรมเชิงบวกมากยิ่งขึ้น
3.3 ให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคลากรของข้าราชการพลเรือนจัดทำเนื้อหาหลักสูตรนำร่อง เพื่อใช้อบรมให้กับกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ภายใต้ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน และเป็นตัวอย่างการจัดทำหลักสูตรให้แก่องค์กรกลางบริหารงานบุคคลและหน่วยงานอื่นๆ ด้วย
3.4 เห็นควรนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการนำกรอบหลักสูตรพัฒนาจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐไปใช้ให้ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานธุรการของรัฐสภา องค์กรอิสระ ศาล และองค์กรอัยการ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทมีมาตรฐานจริยธรรมในระดับเดียวกัน
______________________________
1 คณะรัฐมนตรีมีมติ (28 ตุลาคม 2563) เห็นชอบแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2563 - 2565 ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ
2 ผู้อำนวยกลุ่ม (Facilitator) คือ ผู้ที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ ช่วยให้ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์และความรู้ต่างๆ อย่างเต็มที่
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10436