ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการคุ้มครองผู้บริโภควิถีใหม่ของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยซน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 11 October 2022 23:05
- Hits: 1086
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการคุ้มครองผู้บริโภควิถีใหม่ของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยซน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการคุ้มครองผู้บริโภควิถีใหม่ของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเสนอและแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง แนวทางการคุ้มครองผู้บริโภควิถีใหม่ ของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้ศึกษาสภาพการบังคับใช้ของกฎหมายที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทย แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคในสภาพบริบทวิถีใหม่และการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภควิถีใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และได้มีข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) ควรมีหน่วยงานกลางด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการควบคุมกำกับการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์ 2) ควรมีการพัฒนาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านการคุ้มครองผู้บริโภคให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสภาพบริบทวิถีใหม่ในสังคมปัจจุบัน 3) หน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการควบคุมการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ ควรพัฒนาระบบการสร้างฐานข้อมูลของผู้ประกอบการทุกระดับเพื่อติดตาม ตรวจสอบ หรือส่งเสริมให้รูปแบบการซื้อขายสินค้าหรือบริการเป็นไปตามกฎหมาย 4) ควรมีมาตรการที่ชัดเจนในการดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับผู้ประกอบธุรกิจที่โฆษณาหลอกลวงหรือเอาเปรียบผู้บริโภคผ่านทางเว็บไซค์หรือสื่อต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และ 5) ควรมีศูนย์ข้อมูลเพื่อผู้บริโภคในการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว และพัฒนาเป็นศูนย์กลางในการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคในระดับชาติ
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ สคบ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
สคบ. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณารายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา แล้วเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ โดยสรุปได้ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ |
ผลการพิจารณา |
|
1. ควรมีหน่วยงานกลางด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการควบคุมกำกับการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์ |
- ประเทศไทยมีหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ซึ่งการมีหน่วยงานกลางเพื่อควบคุมกำกับการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์จะทำให้การดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคมีเอกภาพ มีแนวทางในการทำงานที่ชัดเจน และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น |
|
2. ควรมีการพัฒนาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านการคุ้มครองผู้บริโภคให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสภาพบริบทวิถีใหม่ในสังคมปัจจุบัน |
- การพัฒนา แก้ไข ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสภาพบริบทวิถีใหม่ในสังคมปัจจุบันมีความสำคัญ อย่างยิ่ง การมีกฎหมายเพื่อบังคับใช้เท่าที่จำเป็น ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ และการเติบโตทางเศรษฐกิจจะช่วยให้การดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น |
|
3. หน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการควบคุมการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภท ต่างๆ ควรพัฒนาระบบการสร้างฐานข้อมูลของผู้ประกอบการทุกระดับเพื่อติดตาม ตรวจสอบหรือส่งเสริมให้รูปแบบการซื้อขายสินค้าหรือบริการเป็นไปตามกฎหมาย |
- การพัฒนาระบบฐานข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจ ทุกระดับเพื่อติดตาม ตรวจสอบ หรือส่งเสริมให้รูปแบบ การซื้อขายสินค้าหรือบริการเป็นไปตามกฎหมายจึงเป็นกลไกสำคัญในการเฝ้าระวังและตรวจสอบของภาครัฐได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคอีกด้วย |
|
4. ควรมีมาตรการที่ชัดเจนในการดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับผู้ประกอบธุรกิจที่โฆษณาหลอกลวงหรือเอาเปรียบผู้บริโภคผ่านทางเว็บไซต์หรือสื่อต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ |
- การตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจที่ดำเนินการโฆษณาขายสินค้าหรือบริการผ่านสื่อออนไลน์ในช่องทางต่างๆ ยังขาดเครื่องมือที่ทันสมัยและขาดการบูรณาการในการตรวจสอบร่วมกัน ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีการพัฒนาเครื่องมือหรือระบบเทคโนโลยีดิจิทัลให้สามารถตรวจสอบโฆษณาที่ไม่ถูกต้องได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว พร้อมทั้งสามารถส่งต่อข้อมูลดังกล่าวให้กับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป |
|
5. ควรมีศูนย์ข้อมูลเพื่อผู้บริโภคในการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว และพัฒนาเป็นศูนย์กลางในการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคในระดับชาติ |
- การบูรณาการข้อมูลด้านการคุ้มครองผู้บริโภคโดยการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในการส่งต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างหน่วยงานรวมถึงการแจ้งข้อมูลข่าวสารและการให้บริการต่างๆ แก่ผู้บริโภคอีกด้วย |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10434