ผลการประชุมหารือร่วมกับท่าเรือชั้นนำระดับโลกและหน่วยงานบริหารจัดการท่าเรือและโลจิสติกส์ ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 11 October 2022 22:49
- Hits: 1171
ผลการประชุมหารือร่วมกับท่าเรือชั้นนำระดับโลกและหน่วยงานบริหารจัดการท่าเรือและโลจิสติกส์ ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมหารือร่วมกับท่าเรือชั้นนำระดับโลกและหน่วยงานบริหารจัดการท่าเรือและโลจิสติกส์ ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้
เรื่องเดิม
นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เข้าร่วมการประชุมหารือกับผู้บริหารท่าเรือชั้นนำระดับโลกและหน่วยงานบริหารจัดการท่าเรือและโลจิสติกส์ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2565 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ร่วมด้วยปลัดกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการและผู้บริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวปฏิบัติงานที่ดีของท่าเรือและบริษัทโลจิสติกส์ชั้นนำระดับโลก การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีและนวัตกรรม การเชื่อมโยงพื้นที่หลังท่า ท่าเรือสีเขียว ตลอดจนปฏิบัติงานของท่าเรือสิงคโปร์ เพื่อนำกรอบแนวความคิดและวิธีปฏิบัติจากท่าเรือชั้นนำระดับโลกมาต่อยอดและสนับสนุนการกำกับนโยบายและวางแผนการพัฒนาการขนส่งไทยให้มีประสิทธิภาพอย่างไร้รอยต่อ
สาระสำคัญของผลการประชุมฯ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและคณะได้ร่วมประชุมหารือกับ Port Singapore Authority หรือ PSA หน่วยงานด้านการบริหารท่าเรือชั้นนำระดับโลกและหน่วยงานด้านโลจิสติกส์ โดยมีประเด็นสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. รัฐบาลสิงคโปร์ได้วางยุทธศาสตร์หลักด้านการขนส่งทางน้ำและธุรกิจท่าเรือให้เป็นศูนย์กลางท่าเรือถ่ายลำ ทำให้ท่าเรือ PSA เป็นผู้นำอันดับ 1 ในการให้บริการขนส่งของโลกโดยมีเครือข่ายการให้บริการมากกว่า 255 แห่ง ใน 41 ประเทศทั่วโลก และมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่า 92 ล้านตู้ (ทีอียู) ทั้งนี้ ท่าเรือปาเซอปัญจังซึ่งเป็นท่าเรือ ของ PSA เพียงแห่งเดียว ในสิงคโปร์ มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่ากว่า 37.2 ล้าน ทีอียู นับว่าสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่ามากกว่าท่าเรือแหลมฉบังกว่า 4 เท่า
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและคณะได้เยี่ยมชมท่าเรือ Tuas ท่าเรือแห่งใหม่ที่ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 3 ปี บนพื้นที่ถมทะเลกว่า 13 ตารางกิโลเมตร โดยมีมูลค่าการลงทุน 5 แสนล้านบาท ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ การพัฒนาท่าเรือ Tuas แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ซึ่งระยะที่ 1 ได้เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 สามารถรองรับตู้สินค้าจำนวน 18 ล้านทีอียู ทั้งนี้ การพัฒนาท่าเรือทั้ง 4 ระยะมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2583 ซึ่งจะทำให้ท่าเรือ Tuas เป็นท่าเทียบเรืออัตโนมัติเต็มรูปแบบที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถรองรับตู้สินค้าได้ถึง 65 ล้านทีอียู โดยมีระยะเวลาการคืนทุนภายใน 7 ปี หลังการเปิดให้บริการ
3. PSA ให้ความสำคัญกับการพัฒนาท่าเรือ โดยคำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การใช้รถลำเลียงอัตโนมัติโดยใช้พลังงานไฟฟ้า (Automated Guided Vehicle) ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ร้อยละ 50 และการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในอาคารสำนักงานเพื่อลดการใช้พลังงานได้ถึงร้อยละ 58
ความเห็น/ข้อสังเกต
จากผลการเยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์ในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือให้มีมาตรฐานระดับโลก ควบคู่กับการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ การก่อสร้างท่าเรือบกหรือศูนย์กระจายสินค้า ที่จะทำให้ท่าเรือพัฒนาสู่การเป็น Gateway สำคัญสนับสนุนความได้เปรียบด้านตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของประเทศ สามารถเป็นศูนย์กลางขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบเชื่อมโยงไทยสู่กลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งจีนตอนใต้ อีกทั้งการพัฒนาศักยภาพท่าเรือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนความสำเร็จของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ตลอดจนโครงการ Southern Land Bridge เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน อันจะเป็นทางเลือกในการขนส่งที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าและสายเรือ เพื่อทดแทนการขนส่งผ่านเส้นทางช่องแคบมะละกาในปัจจุบัน
ในการนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยดำเนินการพัฒนาท่าเรือตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทย เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางสำคัญของภูมิภาคต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10431