ท่าทีไทยสำหรับการประชุมกรอบความร่วมมือเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสิงคโปร์ (Singapore-Thailand Enhanced Economic Relationship: STEER) ครั้งที่ 6
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 11 October 2022 21:40
- Hits: 1005
ท่าทีไทยสำหรับการประชุมกรอบความร่วมมือเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสิงคโปร์ (Singapore-Thailand Enhanced Economic Relationship: STEER) ครั้งที่ 6
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบท่าทีไทยสำหรับการประชุมกรอบความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสิงคโปร์ (Singapore-Thailand Enhanced Economic Relationship: STEER) ครั้งที่ 6 (ตามข้อ 2) เพื่อให้คณะผู้แทนไทยซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนเป็นประธานร่วมฝ่ายไทย ใช้เป็นกรอบในการหารือกับฝ่ายสิงคโปร์และรับรองเอกสารผลการประชุมดังกล่าวได้ ทั้งนี้หากในการประชุมดังกล่าว มีผลให้มีการตกลงเรื่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าในประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากข้อ 2 อันจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าสองฝ่ายระหว่างไทยกับสิงคโปร์ โดยไม่มีการจัดทำเป็นความตกลงหรือหนังสือสัญญาขึ้นมา ให้กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
(การประชุม STEER ครั้งที่ 6 มีกำหนดจัดประชุมในวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ณ กรุงเทพมหานคร)
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า
1. การประชุมกรอบความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสิงคโปร์ (STEER) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทยกับสิงคโปร์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนของฝ่ายไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายสิงคโปร์ ซึ่งที่ผ่านมาการประชุม STEER จัดขึ้นมาแล้ว 5 ครั้ง โดยในการประชุม STEER ครั้งที่ 6 จะมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมคนที่สองของสิงคโปร์ (H.E. Dr. Tan See Leng) เป็นประธานร่วม
2. พณ. ได้จัดประชุมเตรียมการฝ่ายไทยกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทยที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 เพื่อพิจารณาประเด็นที่ควรยกขึ้นหารือกับสิงคโปร์ รวมทั้งได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสร่วมกับฝ่ายสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 เพื่อพิจารณาประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าที่ทั้งสองฝ่ายประสงค์จะผลักดันสำหรับการประชุม STEER ครั้งที่ 6 ได้แก่ ความร่วมมือด้านสินค้าเกษตร ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ความร่วมมือด้านการลงทุน ความร่วมมือด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ความร่วมมือด้านการบิน ความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา ความร่วมมือสาขาใหม่
ทั้งนี้ จะมีการจัดทำเอกสารผลการประชุม (Joint Record) ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน ในโอกาสเดียวกันนี้ พณ. จะจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจคู่ขนานกับการประชุมดังกล่าว เพื่อสร้างเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและสิงคโปร์
3. ปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 8 ของไทยในโลก และอันดับที่ 4 ของไทยในกลุ่มอาเซียน (รองจากมาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย) โดยในปี 2564 การค้ารวมไทย-สิงคโปร์ มีมูลค่า 520,220.78 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 1.93 โดยไทยยังเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า 52,421.90 ล้านบาท ทั้งนี้ การประชุม STEER ครั้งที่ 6 จะเป็นโอกาสให้ไทยได้ผลักดันความร่วมมือเพื่อขยายโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยโดยเฉพาะสินค้าปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์ รวมถึงเชิญชวนให้สิงคโปร์ขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งจะสนับสนุนการขยายตัวของการค้าการลงทุนระหว่างไทยและสิงคโปร์ในระยะยาว นอกจากนี้ สิงคโปร์มีความก้าวหน้าในด้านระบบเศรษฐกิจการค้าดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การประชุม STEER ครั้ งที่ 6 จะเป็นโอกาสให้ไทยมีความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของสิงคโปร์เพื่อช่วยพัฒนาขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยให้ก้าวสู่การค้ายุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10421