ร่างกฎกระทรวงการควบคุมการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากร พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 05 October 2022 23:53
- Hits: 1458
ร่างกฎกระทรวงการควบคุมการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากร พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการควบคุมการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้พิจารณาประเด็นตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ กค. รับความเห็นและข้อสังเกตของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
1. ปัจจุบันกรมศุลกากรมีวิธีการควบคุมการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาของกรมศุลกากร (การขนส่งสินค้าผ่านแดน การขนส่งสินค้าระหว่างท่าหรือที่ กับโรงพักสินค้าและการเคลื่อนย้ายของในลักษณะมัดลวดจากสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังไปยังสำนักงานตรวจสินค้าลาดกระบังก่อนชำระอากรขาเข้าสำเร็จ หรือไปยังหน่วยศุลกากรอื่น) โดยใช้การควบคุมการขนส่งด้วยอุปกรณ์เฉพาะ ได้แก่ การมัดลวดและการใช้เทคโนโลยีระบบกุญแจอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นทางเลือกและเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ กรมศุลกากรพิจารณาแล้วจึงเห็นสมควรกำหนดให้มีระบบติดตามการขนส่งของที่อยู่ในการควบคุมทางศุลกากรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Customs Tracking and Monitoring System: CTMS) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการควบคุม ติดตาม และตรวจสอบการขนส่งแบบ Real time ด้วยอุปกรณ์ควบคุมทางศุลกากรดิจิทัลที่เชื่อมโยงข้อมูลกับระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ (Thai Customs Electronics System: TCES)
2. โดยที่มาตรา 5 วรรคหนึ่ง (6) แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 บัญญัติว่าการกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยกำหนดเป็นกฎกระทรวง กค. โดยกรมศุลกากรจึงได้พิจารณายกร่างกฎกระทรวงการควบคุมการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากร พ.ศ. .... มาเพื่อกำหนดวิธีการควบคุมการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรให้ชัดเจน ให้มีระบบติดตามการเคลื่อนย้ายของหรือสินค้าที่อยู่ภายใต้การควบคุมทางศุลกากรที่ทันสมัย โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารงาน การให้บริการภาครัฐเพื่อประโยชน์ทางด้านการควบคุมทางศุลกากร และเป็นทางเลือกในการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ อันเป็นการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของประเทศ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดระบบติดตามการขนส่งของที่อยู่ในการควบคุมทางศุลกากรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Customs Tracking and Monitoring System: CTMS) ดังนี้
ประเด็น |
รายละเอียด |
|
1. บทนิยาม (ร่างข้อ 3) |
- กำหนดบทนิยาม เช่น - “ผู้ใช้บริการ” หมายความว่า “ผู้ใช้บริการที่เลือกใช้การควบคุมการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรด้วยอุปกรณ์เฉพาะหรือระบบติดตามการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ ผู้นำของเข้า ผู้ส่งของออก ผู้ขนส่ง ผู้ขอผ่านแดน หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งของ รวมถึงตัวแทนของบุคคลดังกล่าว” - “ผู้ให้บริการ” หมายความว่า “ผู้ให้บริการระบบติดตามการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้ทำสัญญากับกรมศุลกากร” |
|
2. บททั่วไป (ร่างข้อ 4 - ข้อ 6) (เดิม มีแต่การควบคุมการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรด้วยอุปกรณ์เฉพาะ) |
- กำหนดให้การควบคุมการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากร มี 2 วิธี ได้แก่ (1) การควบคุมการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรด้วยอุปกรณ์เฉพาะ และ (2) ระบบติดตามการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล - กำหนดให้ผู้ใช้บริการด้วยวิธีดังกล่าวต้องแสดงความจำนงและชำระค่าบริการก่อนปฏิบัติพิธีการศุลกากรในการขนส่งของตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมศุลกากรประกาศกำหนด - กำหนดให้การควบคุมการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรใช้กับการขนส่งของในรูปแบบ ดังนี้ (1) การขนส่งสินค้าผ่านแดนหรือการขนส่งที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ตลอดจนการขนส่งสินค้าระหว่างท่าหรือที่ กับโรงพักสินค้า (2) การเคลื่อนย้ายของในลักษณะมัดลวดจากสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังไปยังสำนักงานตรวจสินค้าลาดกระบังก่อนชำระอากรขาเข้าสำเร็จ หรือไปยังหน่วยศุลกากรอื่น (3) การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และ (4) การขนส่งของรูปแบบอื่นๆ ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด |
|
3. การควบคุมการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรด้วยอุปกรณ์เฉพาะ (ร่างข้อ 7 - ข้อ 8) |
- กำหนดให้การควบคุมการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรด้วยอุปกรณ์เฉพาะเป็นอุปกรณ์สำหรับกำกับไว้ที่หีบห่อสินค้าหรือที่ประตูตู้สินค้า ทั้งนี้ การมัด รัด ร้อย คล้อง ประทับตรา ปิดผนึก หรือกระทำการอย่างใด ขึ้นอยู่กับภาชนะบรรจุของและยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่ง ได้แก่ (1) การขนส่งของด้วยระบบตู้คอนเทนเนอร์หรือรถบรรทุกชนิดตู้ทึบ (Closed Van) หรือรถบรรทุกหรือรถพ่วง และ (2) ของเป็นรถยนต์ที่ขนส่ง โดยรถบรรทุกรถยนต์หรือยานพาหนะที่สามารถใช้ขนส่งรถยนต์ได้หรือเป็นรถยนต์ขนาดใหญ่ไม่สามารถบรรทุกขึ้นยานพาหนะที่ใช้ขนส่งได้ หรือมีลักษณะเป็นหีบห่อและไม่สามารถบรรทุกหีบห่อทั้งหมดไว้ในรถบรรทุกชนิดตู้ทึบ (Closed Van) ในคราวเดียวกัน |
|
4. ระบบติดตามการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (ร่างข้อ 9 - ข้อ 11) |
- กำหนดให้ผู้ใช้บริการหรือบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากผู้ใช้บริการมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งของตน เพื่อตรวจสอบติดตามสถานะการขนส่งของได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ผ่านช่องทางที่กำหนด - กำหนดให้ผู้ให้บริการต้องดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ ตรวจสอบข้อมูลของผู้ใช้บริการ และปลดอุปกรณ์ระบบติดตามการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลของกรมศุลกากร |
|
5. ผู้ให้บริการ (ร่างข้อ 12 - ข้อ 16) |
- กำหนดให้ผู้บริการต้องจัดหาระบบติดตามการขนส่งของที่อยู่ในการควบคุมทางศุลกากร อุปกรณ์ และบุคลากร เพื่อดำเนินการให้บริการอย่างเพียงพอ เหมาะสม และต่อเนื่อง ตามเงื่อนไขที่กรมศุลกากรกำหนด - กำหนดวิธีการยื่นคำขอเข้าดำเนินงานเป็นผู้ให้บริการระบบติดตามการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนคุณสมบัติ และขอบเขตการดำเนินงานของผู้ให้บริการให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมศุลกากรประกาศกำหนด - กำหนดให้ผู้ให้บริการต้องจัดเก็บและรักษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของระบบ โดยข้อมูลทั้งหมดถือเป็นสิทธิของกรมศุลกากร และห้ามมิให้ผู้ให้บริการนำข้อมูลไปใช้และ/หรือเปิดเผยข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต |
|
6. คณะกรรมการ (ร่างข้อ 17 - ข้อ 18) |
- กำหนดให้อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจแต่งตั้ง “คณะกรรมการสรรหา” เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาสรรหาเอกชนเข้าดำเนินงานเป็นผู้ให้บริการระบบติดตามการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีอำนาจหน้าที่พิจารณาคำขอเข้าดำเนินงานเป็นผู้ให้บริการและเอกสารที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น - กำหนดให้อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจแต่งตั้ง “คณะกรรมการกำกับดูแล” เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของระบบติดตามการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีอำนาจหน้าที่กำกับ ดูแล ติดตามผลการดำเนินงานที่เกี่ยวกับการดำเนินงานดังกล่าวที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น |
|
7. ค่าบริการ (ร่างข้อ 19 - ข้อ 20) |
- กำหนดค่าบริการควบคุมการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาศุลกากรด้วยอุปกรณ์เฉพาะและระบบติดตามการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล จำนวนไม่เกิน 200 บาท ต่อคันหรือตู้ หรือหน่วยการขนส่งอื่น แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ การยกเว้น งด หรือลดค่าบริการให้เป็นอำนาจของอธิบดีกรมศุลกากรประกาศกำหนด |
|
8. บทเฉพาะกาล (ร่างข้อ 21) |
- กำหนดให้ยกเว้นค่าบริการระบบติดตามการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะต้องเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการตามกฎกระทรวงนี้เป็นระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลบังคับใช้ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10206