ร่างประกาศคณะกรรมการพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับการคุ้มครอง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาคัดกรองคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 05 October 2022 23:37
- Hits: 1574
ร่างประกาศคณะกรรมการพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับการคุ้มครอง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาคัดกรองคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศคณะกรรมการพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับการคุ้มครอง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาคัดกรองคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างประกาศฯ ที่ ตช. เสนอ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทย และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ เพื่อให้สถานะเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง โดยได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นคำร้องจะต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทย และไม่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรหรือเป็นผู้ที่เข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักร และไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะเดินทางกลับไปยังรัฐแห่งสัญชาติของตน ไม่เป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่มีกลไกหรือกระบวนการดำเนินการรองรับเป็นการเฉพาะ รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติของผู้ได้รับการคุ้มครองจะต้องมีมูลที่จะเชื่อได้ว่าจะได้รับอันตรายจากการคุกคามชีวิตหรือเสรีภาพ การทรมาน การกระทำให้สูญหาย หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบอื่นอย่างร้ายแรง และไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะได้รับการคุ้มครองจากหรือเดินทางกลับไปยังรัฐแห่งสัญชาติ หรือกรณีที่เป็นบุคคลไร้สัญชาติ ไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะเดินทางกลับไปยังรัฐที่เดิม มีถิ่นพำนักประจำ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วยในหลักการ
สาระสำคัญของร่างประกาศ
1. กำหนดหลักเกณฑ์และกระบวนการพิจารณาคำร้องขอรับสิทธิเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง คำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง
1.1 คุณสมบัติของผู้ยื่นคำร้อง
(1) เป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทย และไม่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร
(2) เป็นผู้ที่เข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักร และไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะเดินทางกลับไปยังรัฐแห่งสัญชาติของตน หรือกรณีเป็นบุคคลไร้สัญชาติ ไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะเดินทางกลับไปยังรัฐที่เดิมตนมีถิ่นพำนักประจำ เนื่องจากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะได้รับอันตรายจากการถูกประหัตประหาร
(3) ไม่เป็นคนต่างด้าวหรือบุคคลในกลุ่มใดที่กระทรวงมหาดไทยมีกลไกหรือกระบวนการดำเนินการรองรับเป็นการเฉพาะ
(4) ไม่เป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่มีกลไกหรือกระบวนการดำเนินการรองรับเป็นการเฉพาะ
(5) สมาชิกในครอบครัวหรือบุคคลที่มีการพึ่งพาทางสังคม อารมณ์ หรือเศรษฐกิจของผู้ยื่นคำร้อง ที่มีคุณสมบัติตามข้อ 1.1 ที่ไม่มีสัญชาติไทยและไม่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร และไม่มีเหตุเฉพาะตัวให้ได้รับสถานะผู้ได้รับการคุ้มครอง พึงมีสิทธิยื่นคำร้องร่วมหรือแยกกับผู้ยื่นคำร้อง และได้รับการพิจารณาสถานะสืบทอดเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองตามหลักเอกภาพของครอบครัว
1.2 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานประจำประเทศไทย และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือให้ผู้ยื่นคำร้องสามารถเข้าใจ และเข้าถึงกระบวนการยื่นคำร้องได้ในภาษาต่างๆ รวมถึงการเข้าถึงความช่วยเหลือทางกฎหมาย
1.3 กรณีผู้ยื่นคำร้องเป็นผู้เยาว์ ให้ดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจเรื่องการกำหนดมาตรฐานและแนวทางแทนการกักตัวเด็กในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
2. หลักเกณฑ์และกระบวนการพิจารณาคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง
2.1 คุณสมบัติของผู้ได้รับการคุ้มครอง
(1) เป็นคนต่างด้าวผู้มีคุณสมบัติตามข้อ 1.1
(2) มีมูลที่จะเชื่อได้ว่าจะได้รับอันตรายจากการประหัตประหาร การคุกคามชีวิตหรือเสรีภาพ การทรมาน การกระทำให้สูญหาย หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบอื่นอย่างร้ายแรง
(3) ไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะได้รับการคุ้มครองจากหรือเดินทางกลับไปยังรัฐแห่งสัญชาติ หรือกรณีที่เป็นบุคคลไร้สัญชาติ ไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะเดินทางกลับไปยังรัฐที่เดิมมีถิ่นพำนักประจำ
(4) ไม่เป็นผู้ที่ถูกพิจารณาว่า ไม่จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองระหว่างประเทศ เนื่องจากมีสิทธิและหน้าที่ในประเทศอื่น และสามารถใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนั้นได้อยู่แล้ว หรือไม่สมควรได้รับการคุ้มครอง เนื่องจากมีส่วนร่วมในอาญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อสันติภาพ อาชญากรรมต่อมนุษย์
2.2 สมาชิกในครอบครัวหรือบุคคลที่มีการพึ่งพาทางสังคม อารมณ์ หรือเศรษฐกิจของผู้ยื่นคำร้อง ที่มีคุณสมบัติตามข้อ 2.1 ที่ไม่มีสัญชาติไทยและไม่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร และไม่มีเหตุเฉพาะตัวให้ได้รับสถานะผู้ได้รับการคุ้มครอง พึงมีสิทธิยื่นคำขอร่วมหรือแยกกับผู้ยื่นคำขอ และได้รับการพิจารณาสถานะสืบทอดเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองตามหลักเอกภาพของครอบครัว
2.3 ผู้ยื่นคำขอต้องได้รับการตรวจสอบ ดังนี้ (1) ประวัติอาชญากรรม (โดยพิมพ์ลายนิ้วมือส่งตรวจสอบ) จากกองทะเบียนประวัติอาชญากร ตช. (2) พฤติการณ์บุคคลและทางการเมืองจากกองบัญชาการตำรวจสันติบาล (3) พฤติการณ์เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติจากสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ และ (4) หมายจับจากกองการต่างประเทศ ตช.
2.4 ผู้ยื่นคำขอต้องมีใบรับรองแพทย์เพื่อแสดงว่าไม่มีโรคอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎกระทรวงกำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563
2.5 ให้จัดทำ “คู่มือปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง” ซึ่งกำหนดรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการให้ความช่วยเหลือ คำแนะนำและคำปรึกษาแก่ผู้ยื่นคำร้อง การสัมภาษณ์ การเก็บและบันทึกข้อมูล การบริหารจัดการแฟ้มประวัติ และการเก็บรักษาข้อมูลเพื่อปกป้องและรักษาความลับของข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ยื่นคำร้อง และเพื่อเป็นการป้องกันการทุจริต การจัดลำดับการพิจารณาคำขอ
อนึ่ง คนต่างด้าวรายใดแม้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ แต่เมื่อพิจารณาถึงความมั่นคงของชาติ คณะกรรมการอาจมีมติไม่ให้สถานะเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองแก่ผู้อยู่ระหว่างคัดกรองสถานะ มติของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด และถือเป็นข้อมูลข่าวสารที่ไม่ต้องเปิดเผยตามมาตรา 15 (1) (2) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10203