รายงานสรุปผลการดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560-2564) และ การดำเนินการในระยะต่อไป
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 05 October 2022 23:25
- Hits: 1481
รายงานสรุปผลการดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560-2564) และ การดำเนินการในระยะต่อไป
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานสรุปผลการดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560-2564) และร่างหลักการการจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (ปี 2565-2570) [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (12 กันยายน 2560) ที่ให้คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยรายงานผลการดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560-2564) ให้คณะรัฐมนตรีทราบทุกปี และประเมินผลสัมฤทธิ์ของร่างแผนพัฒนาตลาดทุนดังกล่าวในระยะครึ่งแผนเพื่อให้สามารถพิจารณาปรับปรุงแผนงานและตัวชี้วัดให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ผลการดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนฯ สรุปได้ ดังนี้
มาตรการ |
ผลการดำเนินการ |
|
(1) การเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) วิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และนวัตกรรม |
ส่งเสริมให้ SMEs และ Startup เข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยการสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งมีแผนงานสนับสนุนทั้งสิ้น 4 แผนงานโดยเป็นแผนงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 2 แผนงาน ได้แก่ (1) การออกหลักเกณฑ์เพื่อพัฒนาเครื่องมือการระดมทุนของกิจการจากบุคคลจำนวนมากสำหรับตราสารหนี้และการให้กู้ยืมโดยใช้สัญญาเงินกู้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์และธุรกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลทั่วไปผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ (Platform P2P Lending) และ (2) การเตรียมการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการซื้อขายสำหรับนักลงทุนประเภทพิเศษครอบคลุมผู้ประกอบการทุกกลุ่ม และมีแผนงานที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ 2 แผนงาน ได้แก่ (1) การจัดทำกลไกคะแนนเครดิตที่สถาบันการเงินใช้ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ให้แก่ SMEs และ (2) การสนับสนุนให้ SMEs และ Startup เข้าถึงแหล่งเงินทุน |
|
(2) การเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ |
ส่งเสริมให้การลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานสามารถเติบโตรองรับการลงทุนในระดับภูมิภาค ซึ่งมีแผนงานสนับสนุนทั้งสิ้น 3 แผนงาน โดยมีแผนงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 1 แผนงาน คือ การแก้เกณฑ์เพื่อรองรับการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund: TFFIF) และมีแผนงานที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ 2 แผนงาน ได้แก่ (1) การแก้ไขกฎหมายให้หน่วยงานที่ยังไม่สามารถนำส่วนแบ่งรายได้จากทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานของตนมาเข้ากองทุนสามารถทำได้ และ (2) การปรับปรุงเกณฑ์ภาษีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) |
|
(3) การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย |
ส่งเสริมศักยภาพตลาดทุนไทย ปรับปรุงกฎระเบียบและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ยกระดับมาตรฐานและความน่าเชื่อถือและสร้างบุคลากรในตลาดทุน ซึ่งมีแผนงานสนับสนุนทั้งสิ้น 33 แผนงาน โดยมีแผนงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 25 แผนงาน เช่น (1) การแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพื่อปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ แนวทางปฏิบัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายของการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว พร้อมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องรักษาคุณภาพและประสิทธิภาพของการบริการให้แก่สมาชิกและนักลงทุน (2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (3) การพัฒนาระบบการชำระเงินสำหรับตลาดทุน (4) การพัฒนาระบบงานกลางสำหรับการซื้อขายกองทุนรวม (5) การส่งเสริมการแข่งขันและการเข้าถึงบริการทางการเงินด้วยเทคโนโลยี และ (6) การพัฒนาทักษะและความรู้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านตลาดทุนของไทย และมีแผนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 7 แผนงาน เช่น การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎเกณฑ์เพื่อรองรับธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชน นอกจากนี้ มีแผนงานที่ยกเลิก 1 แผนงาน คือ การเปิดให้บุคคลที่ไม่ใช่ผู้ออกหลักทรัพย์สามารถนำหลักทรัพย์มายื่นขอจดทะเบียนเพื่อทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเนื่องจากผู้ลงทุนสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้โดยตรง หรือลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านการลงทุนตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้อยู่แล้ว |
|
(4) การพัฒนาให้ตลาดทุนไทยเป็นจุดเชื่อมโยงของภูมิภาค |
ส่งเสริมให้ไทยเป็นจุดเชื่อมโยงของภูมิภาคเพื่อเป็นแหล่งระดมทุนและการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งเตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้ไทยเป็นจุดเชื่อมโยงการให้บริการด้านการเงินของภูมิภาคซึ่งมีแผนงานสนับสนุนทั้งสิ้น 7 แผนงาน ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2564 แผนงานทั้งหมดได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว เช่น (1) การอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการนำเงินไปลงทุนในราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (กลุ่มประเทศ CLMV) (2) การสร้างแพลตฟอร์มผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันให้ตลาดทุนไทยเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ตลาดทุนในภูมิภาค (3) การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้ไทยเป็นจุดเชื่อมโยงการให้บริการด้านการเงินของภูมิภาค และ (4) การขจัดอุปสรรคและส่งเสริมให้ผู้ให้บริการทางการเงินของไทยสามารถให้บริการธุรกรรมด้านตลาดทุนแก่กิจการและนักลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV |
|
(5) การมีแผนรองรับสังคมผู้สูงอายุ |
เพิ่มประสิทธิภาพของระบบการออมระยะยาวของไทยให้ครอบคลุมกำลังแรงงานทั้งประเทศอย่างทั่วถึงและสร้างความเพียงพอด้านรายได้เพื่อดำรงชีพหลังการเกษียณอายุ ซึ่งมีแผนงานสนับสนุนทั้งสิ้น 8 แผนงาน โดยมีแผนงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 4 แผนงาน ได้แก่ (1) การศึกษาเพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเป็นแหล่งเงินออมสำคัญรองรับการเกษียณ (2) การจัดทำแพลตฟอร์มความรู้ทางการเงินสำหรับคนไทย (3) การส่งเสริมความรู้และทักษะทางการเงินสำหรับประชาชนไทย และ (4) การจัดให้มีกฎหมายเพื่อรองรับธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และมีแผนงานที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ 4 แผนงาน เช่น (1) การจัดให้มีผู้ทำหน้าที่กำหนดนโยบายระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุทุกระบบของประเทศ (2) จัดตั้งระบบทะเบียนกลางด้านบำเหน็จบำนาญของประเทศ และ (3) การจัดให้มีระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ |
|
(6) การพัฒนาตลาดทุนดิจิทัล |
พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันซึ่งมีแผนงานสนับสนุนทั้งสิ้น 3 แผนงาน โดยมีแผนงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 1 แผนงาน คือ การพัฒนาการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และแผนงานที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ 2 แผนงาน ได้แก่ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางในตลาดทุนโดยใช้เทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์หรือเทคโนโลยีอื่นที่เหมาะสม และ (2) การพัฒนากฎเกณฑ์รองรับการระดมทุนในรูปแบบดิจิทัลเพื่อตอบรับตลาดทุนดิจิทัลและคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม |
|
(7) การส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน |
ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาตลาดการระดมทุนที่ยั่งยืนด้วยการสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนทั้งระบบและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคมโดยรวม รวมทั้งการส่งเสริมผู้ระดมทุนและกิจการให้ตระหนัก ถึงประโยชน์และความเสี่ยงจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล ซึ่งมีแผนงานสนับสนุนทั้งสิ้น 7 แผนงาน โดยมีแผนงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 5 แผนงาน เช่น (1) การจัดทำแผนที่นำทาง (Roadmap) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับตลาดทุนไทย (2) การพัฒนาศูนย์รวมข้อมูลสำหรับหลักทรัพย์ และ (3) การออกพันธบัตรสีเขียว พันธบัตรเพื่อสังคม และพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อม และมีแผนงาน ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ 2 แผนงาน ได้แก่ (1) การพัฒนาและสนับสนุนเครื่องมือระดมทุนเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน และ (2) การสนับสนุนบทบาทของผู้ลงทุนเพื่อให้คำนึงถึงความยั่งยืนในการลงทุน |
2. การประเมินแผนพัฒนาตลาดทุนฯ สรุปได้ ดังนี้
แผนพัฒนาตลาดทุนฯ มีการกำหนดเป้าหมายการประเมินผลไว้ 2 ระดับ ได้แก่ (1) เป้าหมายของผลการดำเนินงานในระดับวิสัยทัศน์ โดยมีตัวชี้วัด เช่น ขนาดของมูลค่าตลาดตราสารทุนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ผลการจัดอันดับของสภาเศรษฐกิจโลก (2) เป้าหมายของผลการดำเนินงานในระดับยุทธศาสตร์ โดยมีตัวชี้วัด เช่น การเข้าถึง การแข่งขันได้ การเชื่อมโยง และความยั่งยืน ซึ่งผลการประเมินพบว่า ผลการดำเนินงานในระดับวิสัยทัศน์เป็นไปตามเป้าหมายหรือสูงกว่า 4 รายการ (กำหนดไว้ 5 รายการ) และผลการดำเนินงานในระดับยุทธศาสตร์เป็นไปตามเป้าหมายหรือสูงกว่า 7 รายการ (กำหนดไว้ 15 รายการ) ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. การดำเนินการในระยะต่อไป
คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยมีมติเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) จัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 รวมทั้งแผนพัฒนาตลาดทุนในระยะต่อไป โดยให้รับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนำเสนอร่างหลักการการจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 4 ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ โดยร่างหลักการการจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 4 มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
3.1 จัดตั้งคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (ปี 2565-2570) โดยมีเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นประธานคณะทำงาน ซึ่งมีหน้าที่ในการเสนอแนะนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาตลาดทุนซึ่งรวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัล ตลอดจนประสานงานและร่วมกำหนดนโยบายกับหน่วยงานเศรษฐกิจมหภาคอื่นๆ เพื่อให้นโยบายด้านตลาดการเงิน ตลาดทุน และเศรษฐกิจมหภาคมีความสอดคล้องกัน
3.2 ศึกษาแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาตลาดทุนของต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐสิงคโปร์ มาเลเซีย และสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) โดยมีทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาตลาดทุนของแต่ละประเทศ เช่น การสนับสนุนการเติบโตด้วยนวัตกรรม การสนับสนุนการพัฒนาของภูมิภาคเอเชีย รวมถึงคำนึงถึงประเด็นความท้าทาย แนวโน้มหลักที่ส่งผลกระทบต่อตลาดทุน เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก สังคมสูงวัย และการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ รวมทั้งศึกษาประเด็นที่อาจส่งผลต่อตลาดทุนไทย เช่น การขยายตลาดทุนในวงกว้าง บทบาทของผู้ประกอบธุรกิจภาคการเงิน และความปลอดภัยทางไซเบอร์
3.3 จัดทำร่างแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (ปี 2565-2570) เพื่อต่อยอดจากแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560-2564) ทั้งนี้ คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยได้มีมติเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 เห็นชอบหลักการของร่างแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
1) วิสัยทัศน์ |
เพื่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้เติบโตแข็งแรง ได้แก่ 1.1) สานต่อตลาดทุนให้เป็นผู้นำระดับภูมิภาค 1.2) ส่งเสริมทุกภาคส่วนให้เติบโตอย่างยั่งยืน 1.3) สนับสนุนทุกภาคส่วนให้ปรับสู่เศรษฐกิจดิจิทัล 1.4) เสริมสร้างความอยู่ดีมีสุขทางการเงินของประชาชน |
2) พันธกิจ |
2.1) ตลาดทุนเพื่อการแข่งขันได้ 2.2) ตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน 2.3) ตลาดทุนดิจิทัล 2.4) ตลาดทุนเพื่อความอยู่ดีมีสุขทางการเงิน 2.5) ตลาดทุนที่ทุกฝ่ายได้ใช้ประโยชน์/เข้าถึงได้ |
3) ยุทธศาสตร์ |
3.1) ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของทุกภาคส่วนในตลาดทุนไทยและระบบเศรษฐกิจ 3.2) ยุทธศาสตร์ที่ 2 ตลาดทุนไทยที่เอื้อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ 3.3) ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริม ประยุกต์ และใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลในตลาดทุน 3.4) ยุทธศาสตร์ที่ 4 ตลาดทุนไทยส่งเสริมความยั่งยืนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและระบบเศรษฐกิจในระยะยาว 3.5) ยุทธศาสตร์ที่ 5 ความอยู่ดีมีสุขทางการเงิน โดยสร้างผลลัพธ์ทางการเงินที่ดี รวมถึงการสร้างโอกาสในการลงทุนใหม่ โดยมีความเสี่ยงอย่างเหมาะสม |
4) เป้าหมาย |
มีเป้าหมาย เช่น 4.1) ตลาดทุนไทยเป็นแหล่งทุนของเศรษฐกิจใหม่ 4.2) ภูมิทัศน์ตลาดทุนไทยที่เอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถประกอบธุรกิจได้ 4.3) กฎหมายและกฎเกณฑ์สำหรับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลและการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ 4.4) โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 4.5) ฐานข้อมูลที่ทุกภาคส่วนเข้าถึงได้ 4.6) ความปลอดภัยทางไซเบอร์ 4.7) ตลาดทุนไทยเติบโตอย่างยั่งยืน |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10201