รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2/2565 และแนวโน้มไตรมาสที่ 3/2565 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกรกฎาคม 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 05 October 2022 23:16
- Hits: 1424
รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2/2565 และแนวโน้มไตรมาสที่ 3/2565 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกรกฎาคม 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2/2565 และแนวโน้ม ไตรมาสที่ 3/2565 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกรกฎาคม 2565 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2/2565 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวเล็กน้อย ร้อยละ 0.7 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1/2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.6 ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลกระทบให้ต้นทุนของผู้ผลิตและภาระค่าครองชีพของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น รวมไปถึงปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานโลกที่ยังคงไม่คลี่คลาย ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวในไตรมาสที่ 2/2565 อาทิ Hard Disk Drive เป็นผลจากการขาดแคลนวัตถุดิบ จากมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่เข้มงวดของประเทศจีน เม็ดพลาสติก เนื่องจากผู้ผลิตมีการปรับแผนกลยุทธ์ใหม่หลังต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการปิดซ่อมบำรุงของผู้ผลิตบางราย เหล็กและเหล็กกล้า จากความต้องการที่ปรับตัวลดลง หลังราคาสินค้าในหมวดวัสดุก่อสร้างปรับสูงขึ้น รวมถึงลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อเพื่อรอดูทิศทางของราคาเหล็กในตลาดโลก สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวดีในไตรมาสที่ 2/2565 อาทิ การกลั่นปิโตรเลียม ภาวะการผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศ และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ระดับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปในประเทศเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ที่มิใช่ยางล้อ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจเริ่มกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น และสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายในหลายประเทศ ทำให้ประเทศคู่ค้ามีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาเรื่องการขนส่งที่ทยอยคลี่คลาย ส่งผลให้สามารถส่งสินค้าได้มากขึ้น
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2565 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากอานิสงส์ของฐานต่ำในปีก่อนซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดค่อนข้างรุนแรง รวมถึงในปีนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศยังคงทยอยปรับตัวดีขึ้น
อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนกรกฎาคม 2565 ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ
1. ยานยนต์ ขยายตัวร้อยละ 23.44 ตามการขยายตัวของทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก รวมถึงผลจากฐานต่ำในปีก่อนที่โควิดกลับมาระบาดรุนแรง
2. การกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวร้อยละ 12.66 ผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ กิจกรรมการขนส่งเดินทางกลับสู่ภาวะปกติหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงฐานต่ำในปีก่อนที่การระบาดรุนแรงจนภาครัฐต้องออกมาตรการล็อกดาวน์บางพื้นที่ ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดลง
3. ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ขยายตัวร้อยละ 23.19 จากความต้องการใช้ที่เติบโตขึ้นโรงงานสามารถทำการผลิตและส่งมอบได้ตามปกติ ในขณะที่ปีก่อนมีระบาดรุนแรงในประเทศ พบการระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้างและในกลุ่มแรงงานในโรงงาน ทำให้การผลิตและการส่งสินค้าไม่สามารถดำเนินการได้เป็นปกติ
4. ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 10.39 ตามความต้องการของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โลก
5. เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน ขยายตัวร้อยละ 23.4 ผลจากฐานต่ำในปีก่อนที่มีการระบาดใน วงกว้างส่งผลให้มีพนักงานติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ทำให้การผลิตทำได้ไม่เต็มที่ รวมถึงในปีนี้มีการเร่งผลิตรองรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้มีอุณหภูมิสูงขึ้นในหลายประเทศ
แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 3/2565
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า คาดการณ์ว่าการผลิตจะขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาเหล็กในตลาดโลกมีแนวโน้มลดต่ำลง และมีการนำเข้าเหล็กจากรัสเซียเข้ามาในตลาดเอเชียมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อเนื่องของไทยเลือกนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กมากกว่าการซื้อจากในประเทศ
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าดัชนีผลผลิตจะหดตัวประมาณร้อยละ 3.0 เนื่องจากสถานการณ์การเงินเฟ้อที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการขาดแคลนวัตถุดิบและชิ้นส่วนบางรายการ ในขณะที่มูลค่าการส่งออกจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องประมาณร้อยละ 6.0 เนื่องจากสถานการณ์ขาดแคลนซิปทั่วโลก และสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกา จีน และไต้หวัน ที่อาจส่งผลต่อห่วงโซ่ การผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลก ส่งผลให้ราคาของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวสูงขึ้น
อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง คาดว่า ปริมาณการผลิตยางแปรรูปขั้นปฐมจะขยายตัวจากการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทางด้านปริมาณการผลิตยางรถยนต์ คาดการณ์ว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในส่วนของปริมาณการผลิตถุงมือยาง คาดการณ์ว่าจะขยายตัวจากความต้องการใช้ถุงมือยางเพื่อป้องกันโรคที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ และแนวโน้มการระบาดของโรคฝีดาษวานร
อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมขยายตัวจากนโยบายเปิดประเทศที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์เพิ่มขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศค่อยๆ ทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินบาทอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าในส่วนของการนำเข้าวัตถุดิบที่ต้องใช้เงินบาทต่อดอลลาร์เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนภาคอุตสาหกรรมและส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น สำหรับมูลค่าการส่งออกคาดว่าจะหดตัวลงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจและการค้าโลกมีการชะลอตัวจากภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้คำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าชะลอตัว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10199