ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนสิงหาคม 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 05 October 2022 23:05
- Hits: 1387
ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนสิงหาคม 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนสิงหาคม 2565 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
1.1 สศช. ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติสู่การปฏิบัติผ่านการจัดทำโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติได้มีมติเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 เห็นชอบโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติฯ จำนวน 1,026 โครงการ จากข้อเสนอโครงการฯ จำนวน 2,619 โครงการ และได้เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินการในระยะถัดไป เช่น (1) หน่วยงานของรัฐทบทวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อจัดทำโครงการฯ และปรับปรุงรายละเอียดข้อเสนอโครงการ (2) หน่วยงานเจ้าภาพขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ จัดให้มีการให้คำปรึกษา และ (3) สศช. สร้างการตระหนักรู้ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการดำเนินการที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายแผนแม่บทย่อยของแผนแม่บทฯ รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้คะแนน พร้อมทั้งจัดทำคำอธิบายและคำนิยามให้มีความชัดเจนและครอบคลุม
1.2 สศช. ได้ทบทวนและปรับปรุงแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 23 ประเด็น เสร็จเรียบร้อยแล้ว และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติได้เห็นชอบ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ทั้งนี้ จะเสนอคณะรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป โดยหลักการของแผนแม่บทฯ ที่เป็นแผนระดับที่ 2 นั้น เป็นเป้าหมายร่วมของการพัฒนาประเทศในการกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย และแนวทางการพัฒนา ซึ่งต้องไม่มีสถานะเป็นในระดับหน่วยงานหรือกระบวนการทำงาน นอกจากนี้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติได้มีมติเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ในระยะต่อไป โดยให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามหลักการบริหารงานคุณภาพ (Plan Do Check Act: PDCA) เพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ของเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
1.3 สศช. ได้เสนอ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) ต่อวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรรับทราบแล้ว เมื่อวันที่ 16 และ 25 สิงหาคม 2565 ตามลำดับ รวมทั้งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (30 สิงหาคม 2565) รับทราบ (ร่าง) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 โดยคาดว่าจะประกาศใช้ได้ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 นอกจากนี้ สศช. ได้จัดทำแนวทางการขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ไปสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วย (1) คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 จำนวน 5 คณะ มีอำนาจหน้าที่หลักในการกำหนดนโยบายและแนวทางในการขับเคลื่อนฯ ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมาย (2) กลไกการดำเนินงานตามภารกิจเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติเพื่อถ่ายระดับของเป้าหมายและกำหนดโครงการ/การดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และยุทธศาสตร์ชาติ (3) กลไกการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ โดยจัดทำแผนพัฒนาในระดับพื้นที่และขับเคลื่อนแบบบูรณาการในระดับตำบล (4) กลไกการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เช่น ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและส่งเสริมให้ประชาชนมีบทบาทในการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมาย และ (5) การติดตามประเมินผลแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ผ่านระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR)
1.4 ความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติได้มีมติ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 รับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยมีการลงพื้นที่ของ ศจพ. ในระดับจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาคนเป้าหมายของปี 2565 จำนวน 1,028,019 คน หรือ 625,919 ครัวเรือน และมีความก้าวหน้าการดำเนินการช่วยเหลือและพัฒนาในภาพรวมร้อยละ 98 รวมทั้งมีการแต่งตั้ง “คณะทำงานกำหนดขั้นของการพัฒนาการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อกำหนดค่ามาตรฐานของแต่ละขั้นการพัฒนาและใช้เป็นเกณฑ์กลางสำหรับการประเมินการหลุดพ้น นอกจากนี้ได้พัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและการแสดงผลข้อมูล (Dashboard) ออกแบบแนวทางการบูรณาการการทำงานร่วมกันของภาคีต่างๆ และประเมินผลมาตรการความคุ้มครองทางสังคม เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาและลดความยากจนได้อย่างตรงจุด ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการและการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่สามารถตอบสนองความต้องการในพื้นที่และภูมิสังคม และให้ความสำคัญกับความถูกต้อง แม่นยำ เป็นปัจจุบัน และความครบถ้วนของข้อมูล เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินการของ ศจพ. ในการแก้ปัญหาและพัฒนาคนทุกช่วงวัยให้สามารถ อยู่รอด พอเพียง ยั่งยืน
2. ความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ
2.1 การดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตั้งแต่ปี 2561 - 2564 พบว่า การปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ได้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เช่น
ด้าน |
ผลสัมฤทธิ์ |
(1) การเมือง |
จัดทำแอปพลิเคชัน Civic Education เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้ง ข้อมูลพรรคการเมือง และข้อมูลที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง |
(2) การบริหารราชการ แผ่นดิน |
เชื่อมโยงข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Government Procurement : e-GP) เพื่อตรวจสอบและป้องกันการทุจริต และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในหน่วยงานราชการมากขึ้นซึ่งช่วยลดการใช้กระดาษ |
(3) กฎหมาย |
จัดทำพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย |
(4) กระบวนการยุติธรรม |
สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดให้มีการถ่วงดุลอำนาจการสอบสวนระหว่างหน่วยงาน และได้มีการดำเนินการเกี่ยวกับการรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษความผิดอาญานอกเขตอำนาจการสอบสวน |
(5) การศึกษา |
อัตราการเข้าเรียนสุทธิระดับก่อนประถมศึกษา อายุ 3 - 5 ปี เพิ่มขึ้น อยู่ที่ร้อยละ 75.15 แสดงให้เห็นว่ามีการดูแลและพัฒนาเด็กเล็กก่อนเข้ารับการศึกษาเพิ่มขึ้น |
(6) เศรษฐกิจ |
ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีความแข็งแกร่งและสามารถช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้มากขึ้น |
นอกจากนี้ สศช. จะเสนอรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญฯ ครั้งที่ 16 (เดือนเมษายน - มิถุนายน 2565) ต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาต่อไป
2.2 แนวทางในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและการดำเนินการภายหลังการสิ้นสุดของแผนปฏิรูปประเทศ (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565) คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติได้มีมติเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 เห็นชอบแนวทางฯ และมอบหมายให้หน่วยงานดำเนินการ เช่น (1) ให้หน่วยงานของรัฐนำประเด็นการปฏิรูปประเทศที่ยังต้องดำเนินการต่อเนื่องไปดำเนินการผ่านกลไกของแผนระดับที่ 2 แผนระดับที่ 3 และการดำเนินงาน ต่างๆ ของหน่วยงาน เพื่อให้เกิดผลอย่างยั่งยืนต่อไป (2) ให้ สศช. และสำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกันพิจารณาทบทวนความจำเป็นและความเหมาะสมเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง และ (3) ให้หน่วยงานหรือผู้มีหน้าที่กำกับ ติดตามการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศพิจารณาทบทวนบทบาทและอำนาจหน้าที่ตามความเหมาะสม นอกจากนี้ ให้มีการติดตาม ประเมินผล และจัดทำรายงานการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่ง สศช. จะเสนอแนวทางการดำเนินการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
3. การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ได้มีการเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาภาค พ.ศ. 2566 - 2570 กับแผนระดับที่ 2 และยุทธศาตร์ชาติที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดนำเข้าข้อมูลแผนในระดับพื้นที่ทั้งแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาจังหวัด และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด/กลุ่มจังหวัด โดยจะเริ่มใช้งานตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป และให้รายงานผลสัมฤทธิ์ของแผนในระดับพื้นที่เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของแผนฯ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาคกำหนด เพื่อให้มีข้อมูลในการติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานในระดับพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ
4. ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ ข้อมูลมาตรการเร่งรัด การเบิกจ่ายและการใช้จ่ายภาครัฐและข้อมูลรายงานผลการเบิกจ่ายงบประมาณของกรมบัญชีกลาง มีรายละเอียด ดังนี้
รายการเบิกจ่าย |
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 |
|
เป้าหมายตามมาตรการเร่งรัด การเบิกจ่ายและการใช้จ่ายภาครัฐ |
รายงานผลการเบิกจ่าย งบประมาณของกรมบัญชีกลาง* |
|
ภาพรวม |
ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 93 |
ร้อยละ 87 |
รายจ่ายประจำ |
ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 89 |
ร้อยละ 93 |
รายจ่ายลงทุน |
ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 75 |
ร้อยละ 60 |
*ข้อมูล ณ 31 สิงหาคม 2565
ทั้งนี้ มีหน่วยรับงบประมาณที่มีผลเบิกจ่ายภาพรวมต่ำกว่าร้อยละ 70 จำนวน 36 หน่วยงาน จากทั้งหมด 305 หน่วยงาน และเนื่องจากขณะนี้ใกล้สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของห้วงแรกของแผนแม่บทฯ ดังนั้น ทุกหน่วยงานของรัฐจำเป็นต้องเร่งดำเนินโครงการ/การดำเนินการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปี 2565 และเบิกจ่ายงบประมาณให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และให้นำเข้ารายงานสรุปผลการดำเนินโครงการ/การดำเนินการและรายงานผลสัมฤทธิ์ของแผนปฏิบัติราชการของหน่วยงานในระบบ eMENSCR ภายใน 30 วัน นับจากสิ้นสุดปีงบประมาณ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2565 ต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10194