ขอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2535 เกี่ยวกับการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ เพื่อการปลูกสร้างสวนป่าภาคเอกชน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 05 October 2022 22:39
- Hits: 1481
ขอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2535 เกี่ยวกับการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ เพื่อการปลูกสร้างสวนป่าภาคเอกชน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2535 (เรื่อง การปรับปรุงภารกิจและโครงสร้างของกรมป่าไม้และร่างพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. ....) เฉพาะในส่วนของการปลูกต้นไม้ในเขตป่าสงวนเสื่อมโทรมที่มีผู้ครอบครองอยู่แล้ว ที่ขอแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 เป็นการอนุมัติให้เข้าทำประโยชน์พื้นที่ป่าไม้เพื่อการปลูกสร้างสวนป่าภาคเอกชนให้ระงับการพิจารณา เว้นแต่เป็นกรณีที่เข้าเงื่อนไขครบทั้ง 5 ประการ (ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 กันยายน 2535 รวมทั้งเห็นชอบให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 (เรื่อง การอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้) เฉพาะในส่วนของการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์พื้นที่ป่าไม้เพื่อการปลูกสร้างส่วนป่าภาคเอกชน
2. เห็นชอบให้ภาคเอกชนเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ เพื่อการปลูกสร้างสวนป่าตามกฎหมายและระเบียบทีเกี่ยวข้องต่อไปได้
สาระสำคัญของเรื่อง
ทส. รายงานว่า
1. ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเป้าหมายสำคัญ คือ ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน1 ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์2 ในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) หรือก่อนหน้านั้น และขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาเข้าร่วมปฏิญญากลาสโกว์ของผู้นำด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการหยุดยั้งการสูญเสียป่าไม้และความเสื่อมโทรมของที่ดิน ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ตลอดจนเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน
2. ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศในปัจจุบันที่มีปัญหาความเสื่อมโทรม ทั้งในส่วนของพื้นที่ป่าไม้ที่ลดลง โดยการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว เพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ รักษา และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้ประโยชน์และสร้างการเติบโตบนฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมดุล รวมทั้งลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดความสูญเสีย และเสียหายจากภัยธรรมชาติ และผลกระทบที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสถาพภูมิอากาศ
3. ปัจจุบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศมีปัญหาเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของพื้นที่ป่าไม้ที่ลดลง ทรัพยากรดินเสื่อมโทรม ทรัพยากรน้ำที่ไม่สามารถจัดสรรได้ตามความต้องการได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงความต้องการใช้ไม้ภายในประเทศและการส่งออก ดังนั้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามเป้าหมายของไทยในเวทีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทส. จึงเสนอให้มีการส่งเสริมการปลูกสร้างสวนป่าภาคเอกชนเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ และเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกป่าเศรษฐกิจโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน
4. ปัจจุบันการขออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้เพื่อการปลูกสร้างสวนป่าภาคเอกชนได้ถูกระงับไว้ชั่วคราวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 ที่ให้ระงับการพิจารณาอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้เพื่อการปลูกสร้างสวนป่าภาคเอกชนไว้ชั่วคราว และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2535 ที่กำหนดเงื่อนไขที่จะอนุญาตให้ภาคเอกชนเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้เพื่อการปลูกสร้างสวนป่าในลักษณะที่เป็นข้อจำกัดที่ทำให้องค์กรหรือบุคคลทั่วไปไม่สามารถขออนุญาตทำการปลูกสร้างสวนป่าในเขตพื้นที่ป่าไม้ได้ จึง มีความจำเป็นต้องยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้อง
5. ในการขอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ ทส. โดยกรมป่าไม้ได้พิจารณาแก้ไขปัญหาและกำหนดมาตรการควบคุมการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ด้วยแล้ว ดังนี้
5.1 กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่า พ.ศ. 2558 และระเบียบคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการปลูกสร้างสวนป่าหรือปลูกไม้ยืนต้นภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาตปลูกสร้างสวนป่าภาคเอกชน เพื่อป้องกันการบุกรุกและ การตัดไม้ทำลายป่า เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และมีการปลูกป่าเพิ่มขึ้น มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล โดยภาคเอกชนสามารถขอเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้เพื่อการปลูกสร้างสวนป่าตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป และเมื่อได้รับอนุญาต ผู้ขอเข้าทำประโยชน์ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด
5.2 พระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ. 2535 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสวนป่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 มีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมให้มีการปลูกสร้างสวนป่าในที่ดินของรัฐและที่ดินของเอกชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เป็นการรองรับและคุ้มครองสิทธิในการทำไม้ที่ได้จากการปลูกสร้างสวนป่า อีกทั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการใช้ที่ดินจากการปลูกพืชไร่มาเป็นการทำสวนป่าจะก่อให้เกิดการอนุรักษ์ป่าไม้มากกว่า และผู้ที่จะทำการปลูกสร้างสวนป่ามีความมั่นใจในสิทธิและประโยชน์ที่จะได้รับจากการปลูกสร้างสวนป่า เช่น การได้รับยกเว้นค่าภาคหลวงและไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎเกณฑ์บางประการตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484
6. คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติที่มีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานกรรมการ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอของ ทส. ในครั้งนี้ด้วยแล้ว โดยมอบหมายให้ ทส. รับความเห็นของที่ประชุมไปพิจารณาด้วย เช่น
6.1 พื้นที่ที่จะอนุญาตเอกชนปลูกสร้างสวนป่าเป็นพื้นที่ป่าไม้ของรัฐซึ่งบางส่วนอยู่ใกล้เขตเปราะบางและใกล้เขตป่าอนุรักษ์ การอนุญาตให้ทำสวนป่าจะต้องมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำไม้ การเตรียมพื้นที่ การเปิดพื้นที่ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ ดังนั้นขอให้คำนึงมาตรฐานการจัดการป่าไม้ในระดับชาติและระดับสากล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการส่งออกและการซื้อขายไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ในปัจจุบัน ซึ่งกรมป่าไม้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการป่าไม้อยู่แล้ว จึงเป็นการช่วยขับเคลื่อนให้การดำเนินการเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6.2 ข้อเสนอในครั้งนี้จะเป็นการช่วยให้ราษฎรสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าที่ได้รับ การอนุญาตได้ แต่จะต้องมีการควบคุมอย่างเคร่งครัดไม่ให้มีการใช้ประโยชน์รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ป่าที่ไม่ได้รับอนุญาต และจะต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เข้าหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ทำการปลูกสร้าง สวนป่า
6.3 ที่ผ่านมาการอนุญาตใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยส่วนใหญ่จะเป็น การอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ และการสร้างอ่างเก็บน้ำ จึงเห็นด้วยอย่างยิ่งในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้โดยการอนุญาตให้เอกชนปลูกสร้างสวนป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
6.4 มติคณะรัฐมนตรีที่ ทส. เสนอขอยกเลิกในครั้งนี้สอดคล้องกับหลักการการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นป่าส่วนรวมที่ควรมีการจัดสรรอย่างเป็นธรรมกับประชาชน เนื่องจากประเทศไทยยังคงมีปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกิน การยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจะทำให้เอกชนรายใหญ่เข้ามาทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าได้มากขึ้น ทำให้มีการเพิ่มพื้นที่ป่าได้มากขึ้น เป็นการตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มพื้นที่ป่าและการกักเก็บคาร์บอนและการลดปริมาณคาร์บอน แต่หากดำเนินการไม่รัดกุมก็อาจส่งผลกระทบต่อวัตถุประสงค์การพัฒนาในด้านอื่นๆ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจฐานราก การกระจายรายได้ และเศรษฐกิจชุมชน จึงควรคำนึงถึงเรื่องดังกล่าวด้วย
_____________________
1ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หมายถึง ภาวะที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) ที่ปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านป่าหรือวิธีการอื่น
2การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) หมายถึง ภาวะที่ก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านป่าหรือวิธีการอื่น โดยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงก๊าชอื่นนอกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไชด์ (CO2) เช่น ก๊าซมีเทน (CH4) และก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10192