(ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566 – 2570)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 05 October 2022 22:37
- Hits: 1397
(ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566 – 2570)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (นโยบายและแผนระดับชาติฯ) (พ.ศ. 2566 - 2570) และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบทิศทางในการจัดทำแผนงานและแผนงบประมาณขับเคลื่อนการดำเนินงานดังกล่าว ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงานสภาความมั่นแห่งชาติ (สมช.) เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ (ร่าง) นโยบายแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (นโยบายและแผนระดับชาติฯ) (พ.ศ. 2566 - 2570) และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบทิศทางในการจัดทำแผนงานและแผนงบประมาณขับเคลื่อนการดำเนินงานดังกล่าวโดย (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติฯ (พ.ศ. 2566 - 2270) จัดทำขึ้นบนหลักการความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล1 (Causal Relationship: XYZ) ซึ่งมีความเชื่อมโยงและประสานสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นความมั่นคง และประเด็นการต่างประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในภาพรวมของยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง อันได้แก่ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข”โดยจัดลำดับความสำคัญของประเด็นความมั่นคงที่มีผลกระทบและความเสี่ยงสูงและให้ความสำคัญกับรากฐานความมั่นคงของประเทศที่เริ่มต้นจากสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษา พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพความมั่นคงของประเทศภายใต้แนวคิดความมั่นคงแบบองค์รวม โดย (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติดังกล่าวประกอบด้วยนโยบายและแผนความมั่นคง (นโยบายและแผนฯ) ทั้งสิ้น 17 นโยบายและแผนฯ และแบ่งออกเป็น 2 หมวด ได้แก่
1. หมวดประเด็นความมั่นคง (รวม 13 นโยบายและแผนฯ)
เป็นประเด็นภัยคุกคามที่มีผลกระทบและแนวโน้มความเสี่ยงสูงต่อความมั่นคง/ผลประโยชน์แห่งชาติ
1) การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ (กอ.รมน.)
2) การปกป้องอธิปไตย และผลประโยชน์ของชาติ และการพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ (กห.)
3) การรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติพื้นที่ชายแดน (มท.)
4) การรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.)
5) การป้องกันและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สมช.)
6) การบริหารจัดการผู้หลบหนีเข้าเมืองและผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ (กอ.รมน.)
7) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ (พม.)
8) การป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด (ยธ. (ปปส.))
9) การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (มท. (ปภ.))
10) การป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางไซเบอร์ (สกมช.)
11) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย (สมช.)
12) การสร้างดุลยภาพระหว่างประเทศ (กต.)
13) การบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและโรคติดต่ออุบัติใหม่ (สธ.)
2. หมวดประเด็นศักยภาพความมั่นคง (รวม 4 นโยบายและแผนฯ)
เป็นประเด็นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาขีดความสามารถของประเทศในการป้องกันและแก้ไขประเด็นความมั่นคง
14) การพัฒนาศักยภาพการเตรียมพร้อมแห่งชาติและการบริหารจัดการวิกฤตการณ์ระดับชาติ (สมช.)
15) การพัฒนาระบบข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.)
16) การบูรณาการข้อมูลด้านความมั่นคง (กอ.รมน.)
17) การเสริมสร้างความมั่นคงเชิงพื้นที่ (กอ.รมน.)
ซึ่ง (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติฯ (พ.ศ. 2566 - 2570) ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาความมั่นคงแห่งชาติแล้ว
____________________
1หลักการความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล (Causal Relationship: XYZ) เป็นหลักการสำคัญในการถ่ายระดับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ (Z) ผ่านสู่เป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (แผนระดับที่ 2 หรือ Y) และแปลงไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องของหน่วยงานรัฐ (แผนระดับที่ 3 หรือ X) ซึ่งแผนระดับที่ 3 จะต้องตอบเป้าหมายของแผนระดับที่ 2 อย่างน้อย 1 แผน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในภาพรวมของยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่างๆ โดย (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติฯ (พ.ศ. 2566 - 2570) ที่เสนอในครั้งนี้จัดเป็นแผนระดับที่ 2 (Y)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10191