แนวทางการดำเนินการสำหรับผู้ลงทะเบียนโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสได้
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 05 October 2022 22:29
- Hits: 1432
แนวทางการดำเนินการสำหรับผู้ลงทะเบียนโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสได้
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินการเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาสำหรับผู้ลงทะเบียนที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสได้ และมอบหมายกระทรวงมหาดไทยให้ความร่วมมือในการดำเนินการรับรองกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสได้ ตลอดจนดำเนินการใดๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามที่คณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม กระทรวงการคลัง เสนอ
ทั้งนี้ คณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม รายงานว่า การตรวจสอบคุณสมบัติผู้ลงทะเบียน จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้เป็นเกณฑ์บุคคล และหากผู้ลงทะเบียนผ่านการตรวจสอบตามเกณฑ์บุคคล จะมีการตรวจสอบตามเกณฑ์ครอบครัว (ถ้ามี) ในขั้นตอนต่อไป โดยสมาชิกในครอบครัวหมายถึงคู่สมรส (สามีหรือภรรยาที่จดทะเบียนสมรส) และบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ของผู้ลงทะเบียนตามข้อมูลของกรมการปกครอง ทั้งนี้ เนื่องจากประชาชนที่ลงทะเบียนในโครงการฯ ปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2565 เป็นต้นมา มีปัญหาในการลงทะเบียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวโดยเฉพาะกรณีที่มีคู่สมรสว่าไม่สามารถติดตามคู่สมรสเพื่อลงนามในแบบฟอร์มการลงทะเบียนตามโครงการฯ ปี 2565 ได้ โดยมีสาเหตุหลายประการ เช่น ถูกทิ้งร้าง แยกกันอยู่กับคู่สมรส อยู่ระหว่างการดำเนินการหย่า เป็นต้น ดังนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนกลุ่มดังกล่าว จึงมีความจำเป็นต้องเสนอแนวทางการดำเนินการเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาสำหรับผู้ลงทะเบียนที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสได้ต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะมีผลกระทบต่อการลงทะเบียนของผู้ลงทะเบียนโครงการฯ ปี 2565 ที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสได้ ซึ่งต้องรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วก่อนปิดการรับลงทะเบียนโครงการฯ ปี 2565
สาระสำคัญ
คณะกรรมการฯ ได้มีมติในคราวประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 เห็นชอบแนวทางการดำเนินการเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาสำหรับผู้ลงทะเบียนที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสได้ ดังนี้
1. หลักการในการดำเนินการ
เนื่องจากมีประชาชนที่มีความประสงค์จะลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ปี 2565 แต่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสเพื่อลงนามในแบบฟอร์มการลงทะเบียนตามโครงการฯ ปี 2565 ได้ โดยมีสาเหตุหลายประการ เช่น ถูกทิ้งร้าง แยกกันอยู่กับคู่สมรส อยู่ระหว่างการดำเนินการหย่า เป็นต้น ดังนั้น จึงเห็นควรดำเนินการโดยการแบ่งผู้ลงทะเบียนที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสได้ออกเป็น 2 กลุ่ม หนังสือประกอบการพิจารณา และเงื่อนไขการรับสิทธิ์ ดังนี้
1.1 กลุ่มของผู้ลงทะเบียนที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรส แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1) กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป นับถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2565) ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสได้มาเพื่อดำเนินการหย่าตามกฎหมายได้ ซึ่งผู้ลงทะเบียนกลุ่มนี้จะสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ปี 2565 ได้ เมื่อรับรองตนเองในเอกสารที่กระทรวงการคลังกำหนดว่า ไม่สามารถติดตามคู่สมรสได้ พร้อมลายมือชื่อของพยานรับรองด้วยจำนวน 2 คน และต้องมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่เป็นผู้รับรอง (กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน/นายอำเภอ หรือผู้ที่นายอำเภอมอบหมาย รวมถึงพนักงานเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองและเทศบาลนครในพื้นที่/เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตที่ผู้อำนายการเขตมอบหมาย/เจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนท้องถิ่นเมืองพัทยา) (เจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยฯ) ว่าผู้ลงทะเบียนเป็นบุคคลที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสเพื่อดำเนินการหย่าตามกฎหมายได้ กลุ่มดังกล่าวจะถูกตรวจสอบคุณสมบัติในสถานะไม่มีคู่สมรส
2) กลุ่มทั่วไป ได้แก่ ผู้ลงทะเบียนที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสได้ และมีความประสงค์ให้กระทรวงการคลังตรวจสอบคุณสมบัติในสถานะไม่มีคู่สมรส ผู้ลงทะเบียนกลุ่มนี้จะสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ปี 2565 ได้ เมื่อรับรองตนเองในเอกสารที่กระทรวงการคลังกำหนดว่า ไม่สามารถติดตามคู่สมรสได้ พร้อมลายมือชื่อของพยานรับรองด้วยจำนวน 2 คน กลุ่มดังกล่าวจะถูกตรวจสอบคุณสมบัติในสถานะไม่มีคู่สมรส โดยจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนด
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังแบ่งผู้ลงทะเบียนออกเป็น 2 กลุ่ม เนื่องจากกลุ่มเปราะบางส่วนใหญ่จะมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีการเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย ดังนั้น การให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยฯ ในพื้นที่เป็นผู้รับรองเรื่องคู่สมรสสำหรับกลุ่มเปราะบางจึงเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถนำมาใช้ประกอบการลงทะเบียนได้ สำหรับกลุ่มทั่วไปหรือผู้ลงทะเบียนที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี อาจจะมีการย้ายถิ่นฐานบ่อยครั้ง ซึ่งจะเป็นการยากต่อเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยฯ ในพื้นที่ที่จะให้การรับรองว่าไม่มีคู่สมรสจริง ดังนั้น ผู้ลงทะเบียนในกลุ่มนี้จะต้องรับรองตนเอง พร้อมพยานจำนวน 2 คน โดยจะมีการกำหนดเงื่อนไขการรับสิทธิ์เพิ่มเติม
1.2 หนังสือประกอบการพิจารณา กระทรวงการคลังได้จัดทำหนังสือประกอบการพิจารณาสำหรับ 2 กลุ่ม ดังนี้
1) หนังสือประกอบการพิจารณาเข้าร่วมโครงการฯ ปี 2565 กรณีผู้ลงทะเบียนเป็นผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ผู้พิการ หรือผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสมาเพื่อดำเนินการหย่าตามกฎหมายได้
2) หนังสือประกอบการพิจารณาเข้าร่วมโครงการฯ ปี 2565 กรณีผู้ลงทะเบียนไม่สามารถติดตามคู่สมรสมาเพื่อดำเนินการหย่าตามกฎหมายได้
1.3 เงื่อนไขการได้รับสิทธิ์
1) กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป นับถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2565) ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสมาเพื่อดำเนินการหย่าตามกฎหมายได้ หากผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามเงื่อนไขโครงการฯ ปี 2565 แล้ว สามารถยืนยันตัวตนเพื่อรับสิทธิ์ได้ ณ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ ธนาคารออมสิน ได้ตั้งแต่วันที่ประกาศผลผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ (ภายในระยะเวลา 180 วัน) และ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ธนาคารกรุงไทยฯ) (ไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด)
2) กลุ่มผู้ลงทะเบียนทั่วไป ได้แก่ ผู้ลงทะเบียนที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี หากผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามเงื่อนไขโครงการฯ ปี 2565 แล้ว ผู้ลงทะเบียนจะต้องนำใบสำคัญการหย่าหรือเอกสารอื่นใดที่คณะกรรมการฯ กำหนดมาแสดง ณ ธนาคารที่ยืนยันตัวตนก่อนทำการยืนยันตัวตน จึงจะสามารถใช้สิทธิ์ตามโครงการฯ ปี 2565 ได้ ทั้งนี้ ระยะเวลาสำหรับการนำใบสำคัญการหย่าหรือเอกสารอื่นใดที่ คณะกรรมการฯ กำหนดมาแสดงให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติ
2. แนวปฏิบัติสำหรับผู้ลงทะเบียนที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสได้
2.1 กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้ลงทะเบียนที่เป็นผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป นับถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2565) ผู้พิการ หรือผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสมาเพื่อดำเนินการหย่าตามกฎหมายได้ ดำเนินการ ดังนี้
1) ผู้ลงทะเบียนยื่นแบบฟอร์มการลงทะเบียนตามโครงการฯ ปี 2565 พร้อมหนังสือประกอบการพิจารณาเข้าร่วมโครงการฯ ปี 2565 กรณีผู้ลงทะเบียนเป็นผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ผู้พิการ หรือผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสมาเพื่อดำเนินการหย่าตามกฎหมายได้ โดยผู้ลงทะเบียนรับรองตนเองว่าไม่สามารถติดตามคู่สมรสได้ พร้อมลายมือชื่อของพยานรับรองด้วยจำนวน 2 คน และการลงนามรับรองจากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยฯ ว่าผู้ลงทะเบียนเป็นบุคคลที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสมา เพื่อดำเนินการหย่าตามกฎหมายได้ และเอกสารประกอบการลงทะเบียนอื่นๆ (กรณีมีบุตรอายุต่ำกว่า 18 ปี) เพื่อนำเอกสารทั้งหมดไปยื่นต่อหน่วยงานรับลงทะเบียน
2) หน่วยงานรับลงทะเบียนที่ได้รับเอกสารจะต้องส่งรายชื่อของผู้ลงทะเบียนดังกล่าวให้กระทรวงการคลัง โดยกระทรวงการคลังจะตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนกลุ่มดังกล่าวในสถานะไม่มีคู่สมรส
3) ในกรณีที่ผู้ลงทะเบียนผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติ ผู้ลงทะเบียนจะสามารถใช้สิทธิ์ตามโครงการฯ ปี 2565 ได้ เมื่อยืนยันตัวตน ณ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน ได้ตั้งแต่วันที่ประกาศผลผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ (ภายในระยะเวลา 180 วัน) และธนาคารกรุงไทยฯ (ไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด)
2.2 กลุ่มทั่วไป ได้แก่ ผู้ลงทะเบียนที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ดำเนินการ ดังนี้
1) ผู้ลงทะเบียนต้องยื่นแบบฟอร์มการลงทะเบียนตามโครงการฯ ปี 2565 พร้อมหนังสือประกอบการพิจารณาเข้าร่วมโครงการฯ ปี 2565 กรณีผู้ลงทะเบียนไม่สามารถติดตามคู่สมรสมาเพื่อดำเนินการหย่าตามกฎหมายได้ พร้อมลายมือชื่อพยานจำนวน 2 คน และเอกสารประกอบการลงทะเบียนอื่นๆ (กรณีที่มีบุตรอายุต่ำกว่า 18 ปี) เพื่อนำเอกสารทั้งหมดไปยื่นต่อหน่วยงานรับลงทะเบียน
2) หน่วยงานรับลงทะเบียนที่ได้รับเอกสารจะต้องส่งรายชื่อของผู้ลงทะเบียนดังกล่าวให้กระทรวงการคลัง โดยกระทรวงการคลังจะตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนกลุ่มดังกล่าวในสถานะไม่มีคู่สมรส
3) ในกรณีที่ผู้ลงทะเบียนผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติ ผู้ลงทะเบียนจะต้องนำใบสำคัญการหย่าหรือเอกสารอื่นใดที่คณะกรรมการฯ กำหนดมาแสดงและยืนยันตัวตน ณ ธ.ก.ส. และธนาคาร ออมสิน ได้ตั้งแต่วันที่ประกาศผลผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ (ภายในระยะเวลา 180 วัน) และธนาคารกรุงไทยฯ (ไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด) จึงจะสามารถใช้สิทธิ์ตามโครงการฯ ปี 2565 ได้ ทั้งนี้ ระยะเวลาสำหรับการนำใบสำคัญการหย่าหรือเอกสารอื่นใดที่คณะกรรมการฯ กำหนดมาแสดงให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติ
3. ผลกระทบ
แนวทางการดำเนินการเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาสำหรับผู้ลงทะเบียนที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสได้ จะสามารถบรรเทาปัญหาสำหรับผู้ลงทะเบียนโครงการฯ ปี 2565 ที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสได้ ให้สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ปี 2565 ภายในระยะเวลาที่กำหนด
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10189