ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษสำหรับผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง นักลงทุน ผู้บริหารระดับสูง และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 28 September 2022 00:40
- Hits: 1307
ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษสำหรับผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง นักลงทุน ผู้บริหารระดับสูง และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษสำหรับผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง นักลงทุน ผู้บริหารระดับสูง และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย ที่ มท. เสนอ เป็นการปรับปรุงอุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับให้คนต่างด้าวซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง นักลงทุน ผู้บริหารระดับสูง และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นมีสิทธิขออนุญาตเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa) ให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิมของ Smart Visa และอุตสาหกรรมเป้าหมายตามพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 พร้อมทั้งเพิ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีศักยภาพสูงในอนาคต จากเดิม 13 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็น 18 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้วเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 อันจะเป็นการช่วยดึงดูดบุคลากรทักษะสูงและนักลงทุนที่จะมีส่วนช่วยเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ตอบสนองการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและนโยบายประเทศไทย 4.0 รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้แก่บุคลากรชาวไทยทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนต่อไป ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น ได้รับการยกเว้นการขอใบอนุญาตทำงาน รายงานตัวทุก 1 ปี (จากเดิมทุก 90 วัน) สามารถเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (Re – entry permit) คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายจะได้รับสิทธิในการพำนัก/การทำงานได้โดยมีระยะเวลาเท่ากับผู้ที่ได้รับสิทธิหลัก
สาระสำคัญของร่างประกาศ
ปรับปรุงอุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับให้คนต่างด้าวซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง นักลงทุน ผู้บริหารระดับสูง และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นมีสิทธิขออนุญาตเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa) ให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิมของ Smart Visa และอุตสาหกรรมเป้าหมายตามพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 พร้อมทั้งเพิ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีศักยภาพสูงในอนาคต จากเดิม 13 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็น 18 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้วเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ดังนี้
อุตสาหกรรมเป้าหมายตามประกาศ มท.ฯ ลว 30 ม.ค. 61 และประกาศ มท.ฯ (ฉ. 2) ลงวันที่ 26 ก.พ. 62 (เดิม) |
อุตสาหกรรมเป้าหมายตามร่างประกาศ มม.ฯ (สอดคล้องตามที่ สกท. เสนอ และมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 65) |
หมายเหตุ |
|
1. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ |
1. อุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive Industry) |
คงเดิม |
|
2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ | 2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Industry) | คงเดิม | |
3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ | 3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับคุณภาพ (Affluent Tourism Industry) | ปรับชื่อ | |
4. อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5. อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต |
4. อุตสาหกรรมการเกษตรอาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture, Food and Biotechnology Industry) | ปรับชื่อ | |
6. อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ | 5. อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Automation and Robotics Industry) | คงเดิม | |
7. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ | 6. อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ (Transportation and Logistics industry) | ปรับชื่อ | |
8. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ | 7. อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (Petrochemical and Chemical Industry) | ปรับชื่อ | |
9. อุตสาหกรรมดิจิทัล | 8. อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Industry) | คงเดิม | |
10. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร | 9. อุตสาหกรรมการแพทย์ (Medical Industry) | ปรับชื่อ | |
10. อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ (National Defense Industry) | เพิ่มใหม่ | ||
11. อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยตรงและมีนัยสำคัญ เช่น การผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นต้น (Industries that facilitate the Circular Economy directly and significantly e.g. fuel production from waste, water resources management, etc.) | เพิ่มใหม่ | ||
12. อุตสาหกรรมอากาศยานและอวกาศ (Aviation and Aerospace Industry) | คงเดิม | ||
11. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี | 13. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Human Resource Development in Science and Technology) | คงเดิม | |
12. การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน |
14. การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน (Environmental Management and Renewable Energy) |
คงเดิม | |
15. การบริหารเทคโนโลยี นวัตกรรม และ Startup Ecosystem (Technology Innovation and Startup Ecosystem Management) | เพิ่มใหม่ | ||
16. การพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย (Targeted Technology Development) | เพิ่มใหม่ | ||
17. ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Center-IBC) | เพิ่มใหม่ | ||
13. การบริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก | 18. การบริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution) | คงเดิม |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 27 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A91053