ร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และการสมัครเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ ภายใต้กรรมสารเจนีวา ค.ศ. 1999
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 28 September 2022 00:22
- Hits: 1414
ร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และการสมัครเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ ภายใต้กรรมสารเจนีวา ค.ศ. 1999
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ อนุมัติ และรับทราบ ดังนี้
1. เห็นชอบการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ (Hague Agreement Concerning the International Registration of Industrial Designs) ภายใต้กรรมสารเจนีวา ค.ศ. 1999 และให้ส่งความตกลงดังกล่าวให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 178 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
2. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุขไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
3. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
4. ให้กระทรวงพาณิชย์รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงบประมาณ และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
5. ให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำและดำเนินการยื่นภาคยานุวัติสารต่อผู้อำนวยการใหญ่ ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกเมื่อสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบความตกลงฯ และร่างพระราชบัญญัติฯ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ มีผลใช้บังคับทางกฎหมายแล้ว
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ความตกลงกรุงเฮกฯ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับระบบการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ขอจดทะเบียนให้สามารถขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนเพียงครั้งเดียวเพื่อขอรับความคุ้มครองในประเทศต่างๆ ที่เป็นภาคีได้ โดยมีเนื้อหาประกอบด้วย บททั่วไป ภาค 1 คำขอระหว่างประเทศและการจดทะเบียนระหว่างประเทศ ภาค 2 บทบัญญัติฝ่ายบริหาร ภาค 3 การพิจารณาปรับปรุงและการแก้ไข และภาค 4 บทบัญญัติสุดท้าย รวมทั้งหมด 34 ข้อ สรุปได้ดังนี้
1.1 กำหนดการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองอื่นใดตามกฎหมายของภาคีร่วมสัญญา และอนุสัญญาระหว่างประเทศ ต้องไม่มีผลกระทบต่อคำขอที่มีความคุ้มครองเหนือกว่าตามกฎหมายของภาคีร่วมสัญญา (ความตกลงฯ จะไม่ไปตัดความคุ้มครองตามกฎหมายภายในประเทศ/สนธิสัญญาระหว่างลิขสิทธิ์ หรือความตกลง TRIPS ของ WTO เช่น หากกฎหมายภายในประเทศ หรือความตกลงระหว่างประเทศใดที่มีความคุ้มครองที่ดีกว่า ก็ให้สามารถเลือกบังคับใช้อันนั้น)
1.2 กำหนดสิทธิและขอบเขตการยื่นคำขอระหว่างประเทศ โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิยื่นคำขอระหว่างประเทศต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติของรัฐที่เป็นรัฐภาคีร่วมสัญญาหรือเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างรัฐที่เป็นภาคีร่วมสัญญา หรือมีภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรืออยู่ในระหว่างการประกอบอุตสาหกรรมหรือพาณิชกรรมอย่างแท้จริงในอาณาเขตของภาคีร่วมสัญญา
ทั้งนี้ ความตกลงฯ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ 3 เดือนหลังจากการให้สัตยาบัน หรือการภาคยานุวัติต่อผู้อำนวยการใหญ่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก
2. ร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงกระบวนการขั้นตอนการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ การจดทะเบียนสิทธิบัตร และระบบการขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ได้แก่ 1) ความตกลงกรุงเฮกฯ 2) ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPS) 3) อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และ 4) พิธีสารนาโงยาว่าด้วยการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมและการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม โดยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้สำหรับการยื่นคำขอแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติเรื่องการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (Compulsory Licensing) ให้มีความครบถ้วนตามความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า และกำหนดให้ในคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตร ผู้ขอต้องระบุแหล่งที่มา และยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตก่อนการเข้าถึงและข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ขยายอายุการให้ความคุ้มครองการออกแบบผลิตภัณฑ์ ขยายขอบเขตการขอรับสิทธิบัตรไปยังการออกแบบผลิตภัณฑ์บางส่วน รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น รายละเอียดดังนี้
ร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 โดยเพิ่มบทบัญญัติเพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกฯ และเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามความตกลง TRIPS อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และพิธีสารนาโงยา และปรับปรุงขั้นตอนการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ และอนุสิทธิบัตรปรับปรุงการคุ้มครองสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัย สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
การรองรับการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกฯ และเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามความตกลง TRIPS อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และพิธีสารนาโงยา |
||
ประเด็นที่แก้ไข |
สาระสำคัญ/เหตุผล |
|
1. ความตกลงกรุงเฮกฯ เช่น 1.1 เพิ่มเติมหมวด 3/1 การจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศภายใต้ความตกลงฯ (เดิม ไม่ได้กำหนด)
|
- เพิ่มนิยาม คำว่า “ความตกลงกรุงเฮก” “คำขอจดทะเบียนระหว่างประเทศ” “การจดทะเบียนระหว่างประเทศ” “ทะเบียนระหว่างประเทศ” “ผู้ขอจดทะเบียน” และ “สำนักระหว่างประเทศ” - กำหนดวิธีการยื่นคำขอจดทะเบียนระหว่างประเทศได้ 2 ทาง คือ (1) Direct filing : ยื่นโดยตรงไปยังสำนักระหว่างประเทศ (2) Indirect filing : ยื่นผ่านกรมทรัพย์สินทางปัญญา - กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนระหว่างประเทศผ่านกรมทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ต้องมีสัญชาติไทย หรือเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย |
|
1.2 ขยายอายุการให้ความคุ้มครองการออกแบบผลิตภัณฑ์ (เดิม ระยะเวลาคุ้มครองการออกแบบผลิตภัณฑ์มีอายุการคุ้มครอง 10 ปี) |
- ขยายระยะเวลาคุ้มครองการออกแบบผลิตภัณฑ์ เป็น 15 ปี โดยกำหนดให้มีระยะเวลาเริ่มต้น 5 ปี และสามารถต่ออายุได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มของการค้าการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกฯ ภายใต้กรรมสารเจนีวาฯ | |
2. ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า : TRIPS 2.1 การบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ (เพิ่มเติมบทบัญญัติเรื่องการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรเพื่อส่งออกเภสัชภัณฑ์ตามมาตรา 31 bis ของ TRIPS Agreement) (เดิม ไม่ได้กำหนด)
|
- กรณีหากเกิดความขาดแคลนเภสัชภัณฑ์ในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด หรือประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกมีศักยภาพในการผลิตเภสัชภัณฑ์ไม่เพียงพอ และประเทศนั้นได้แจ้งความต้องการที่จะนำเข้าเภสัชภัณฑ์ต่อองค์การการค้าโลกแล้วกระทรวงอาจใช้สิทธิตามสิทธิบัตรอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีผู้ทรงสิทธิบัตรอยู่แล้ว เพื่อผลิตและส่งออกเภสัชภัณฑ์ไปยังประเทศดังกล่าวได้ โดยดำเนินการเองหรือให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน รวมทั้งวางกรอบการกำหนดค่าตอบแทน เงื่อนไข และข้อจำกัดสิทธิของกระทรวงเพื่อให้สอดคล้องกับความตกลง TRIPS Art 31 bis
|
|
2.2 เพิ่มเติมสิ่งที่ขอรับสิทธิบัตรไม่ได้ (เดิมกำหนดไว้ดังนี้ (1) จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์ พืชหรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช (2) กฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (3) ระบบข้อมูลสำหรับการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ (4) วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์ หรือสัตว์ (5) การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี อนามัยหรือสวัสดิภาพของประชาชน) |
- เพิ่มเติมให้ศัลยกรรมเพื่อการรักษาโรคมนุษย์หรือสัตว์ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้ เพื่อให้ถ้อยคำครบถ้วนตาม TRIPS Art.27 ข้อ 3 (a) ซึ่งมีคำว่า “surgical methods” - เพิ่มเติมให้การประดิษฐ์ที่แสวงหาประโยชน์เชิงพาณิชย์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี สุขภาพ อนามัย สวัสดิภาพของประชาชน หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง เป็นสิ่งที่ไม่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้ |
|
3. อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและพิธีสารนาโงยาว่าด้วยการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมและการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม (Nagoya Protocal) เพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อรองรับการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น (เดิม ไม่ได้กำหนด) |
- กำหนดให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรระบุแหล่งที่มา และยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตก่อนการเข้าใช้ และข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์มาพร้อมคำขอด้วย เพื่อรองรับหลักการเปิดเผยแหล่งที่มาของทรัพยากรพันธุกรรม (Genetic Resources: GRs) และภูมิปัญญาท้องถิ่น (Traditional Knowledge: TK) ในคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตร |
|
4. ปรับปรุงบทนิยาม คำว่า “แบบผลิตภัณฑ์” และเพิ่มนิยามคำว่า “แบบผลิตภัณฑ์หลัก” |
- “แบบผลิตภัณฑ์” หมายความว่า รูปร่างของผลิตภัณฑ์ รูปทรง หรือองค์ประกอบของลวดลายหรือสี ของผลิตภัณฑ์หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ ที่ปรากฏแก่สายตาและอันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมได้” เพื่อให้มีความชัดเจน และเพื่อรองรับการขอรับความคุ้มครองการออกแบบผลิตภัณฑ์บางส่วน (Partial designs) เพิ่มเติมนิยามคำว่า “แบบผลิตภัณฑ์หลัก” หมายความว่า แบบผลิตภัณฑ์ที่ได้ขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ในราชอาณาจักรแล้ว และผู้ขอรับสิทธิบัตรเลือกใช้เป็นฐานในการยื่นขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อรองรับการขอรับความคุ้มครองการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง |
|
5. ปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การพิจารณางานที่ปรากฏอยู่แล้ว จากเดิมที่ให้เริ่มต้นอายุคุ้มครองสิทธิบัตรให้นับแต่วันยื่นคำขอภายในประเทศ |
- เพิ่มเติมกรณีที่มีการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรครั้งแรก ไม่ว่าจะในหรือนอกราชอาณาจักร ให้ถือว่าวันยื่นคำขอครั้งแรกนั้นเป็นวันยื่นคำขอรับสิทธิบัตร ซึ่งสอดคล้องกับหลักการ Priority Claim ซึ่งเป็นหลักการสากล |
|
6. ปรับปรุงขั้นตอนการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ให้มีความชัดเจนและรวดเร็ว |
- กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการขอรับการจดสิทธิบัตรใหม่ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับหลักสากล เช่น ลดระยะเวลาแยกคำขอรับสิทธิบัตร กรณีคำขอรับสิทธิบัตรมีการประดิษฐ์หลายอย่าง จากเดิม “120 วัน” เป็น “90 วัน” ลดระยะเวลาการขอให้ตรวจสอบสิ่งประดิษฐ์จากเดิม “5 ปี” นับแต่วันประกาศโฆษณา เป็น “ภายใน 3 ปี” นับแต่วันยื่นคำขอรับสิทธิบัตรในราชอาณาจักร เป็นต้น ปรับปรุงกระบวนการคัดค้านการขอรับสิทธิบัตรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยย้ายการคัดค้านก่อนการตรวจสอบการประดิษฐ์มาไว้ภายหลังจากตรวจสอบการประดิษฐ์ แต่ก่อนการรับจดทะเบียน |
|
7. แก้ไขขั้นตอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ผู้ทรงสิทธิบัตรอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิบัตรแทนตน) (เดิม การอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรและการโอนสิทธิบัตร ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่) |
- ยกเลิกหลักเกณฑ์การจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิโดยเปลี่ยนไปใช้ระบบการจดแจ้งการอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตร |
|
8. ปรับปรุงอำนาจหน้าที่อธิบดีกรณีผู้ทรงสิทธิบัตรไม่ชำระค่าธรรมเนียมรายปี (เดิม เมื่อผู้ทรงสิทธิบัตรไม่ชำระค่าธรรมเนียมรายปี ให้อธิบดีทำรายงานเสนอให้คณะกรรมการสิทธิบัตรสั่งเพิกถอนสิทธิบัตร) |
- กำหนดให้อธิบดีสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรที่ไม่ชำระค่าธรรมเนียมรายปีแทนคณะกรรมการสิทธิบัตรเพื่อลดขั้นตอนการดำเนินงาน |
|
9. เพิ่มเติมหมวด 2/1 การยื่นคำขอระหว่างประเทศภายใต้สนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty : PCT) (เดิม ไม่ได้กำหนด) |
- เพิ่มบทนิยาม เช่น คำว่า “สนธิสัญญา” “คำขอระหว่างประเทศ” “ผู้ขอ” และ “สำนักระหว่างประเทศ” - กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิยื่นคำขอระหว่างประเทศผ่านกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยต้อง (1) มีสัญชาติไทย หรือเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย (2) มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย หรือ (3) มีสถานประกอบอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมและยังคงประกอบการอย่างแท้จริงและจริงจังในประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้มีสิทธิยื่นคำขอสิทธิบัตรสัญชาติไทยหรือมีภูมิลำเนาในไทย สามารถยื่นขอจดสิทธิบัตรระหว่างประเทศต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ ซึ่งเป็นหลักการตามสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร ซึ่งเดิมกำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการขอรับความคุ้มครองการประดิษฐ์ตามสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 |
|
10. ค่าธรรมเนียม |
- เก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมและยกเลิกค่าธรรมเนียมบางรายการเพื่อให้สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้แก่ ค่าธรรมเนียมที่ถูกยกเลิก เช่น ค่าธรรมเนียมคำขอจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร (เนื่องจากเปลี่ยนมาใช้ระบบจดแจ้งแทน) ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มเติม เช่น 1) คำขอถือสิทธิให้ถือวันยื่นคำขอครั้งแรกนอกราชอาณาจักร 2) คำขอแยกการประดิษฐ์ 3) คำขอขยายระยะเวลาแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร และ 4) คำร้องขอให้ทบทวนผลการพิจารณาคำขอระหว่างประเทศ |
|
11. ปรับปรุงบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และแยกบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ออกไปเป็นอีกบัญชีหนึ่งต่างหาก (เดิม อัตราเดิมใช้บังคับมา 17 ปีแล้ว และไม่ได้แยกบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมสิทธิบัตร) |
- ปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมคำขอต่างๆ เช่น - คำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เดิมฉบับละ 1,000 บาท เป็น 3,500 บาท - คำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เดิมฉบับละ 1,000 บาท เป็น 3,000 บาท - เพิ่มเติมอัตราค่าธรรมเนียมคำขอต่างๆ ซึ่งเดิมไม่มี เช่น - คำขอแยกการประดิษฐ์ ฉบับละ 1,000 บาท - คำขอแยกการออกแบบผลิตภัณฑ์ ฉบับละ 1,000 บาท |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 27 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A91052