โครงการอาคารรักษาพยาบาลศิริราชและสถานีศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 27 September 2022 23:43
- Hits: 1332
โครงการอาคารรักษาพยาบาลศิริราชและสถานีศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอการดำเนินโครงการอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ) (โครงการฯ สถานีศิริราช) งบประมาณรวมทั้งสิ้น 3,851.27 ล้านบาท [งบลงทุนค่าก่อสร้าง 2,338.27 ล้านบาท ครุภัณฑ์การแพทย์ 1,400 ล้านบาท และงบบุคลากร (หมวดเงินเดือน) 113.01 ล้านบาท] และสนับสนุนโครงการให้แล้วเสร็จ โดยขออนุมัติจากเงินงบประมาณแผ่นดิน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - 2569 จำนวน 2,552.50 ล้านบาท โดยขอผูกพันงบประมาณ ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
ปีงบประมาณ |
|||
พ.ศ. 2566 |
พ.ศ. 2567 |
พ.ศ. 2568 |
พ.ศ. 2569 |
168.02 |
422.63 |
972.97 |
988.88 |
และเงินสมทบจากเงินนอกงบประมาณ จำนวน 1,298.77 ล้านบาท ในลักษณะเป็นเงินอุดหนุน
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการดำเนินโครงการอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ) (โครงการฯ สถานีศิริราช) งบประมาณรวมทั้งสิ้น 3,851.27 ล้านบาท [งบลงทุนค่าก่อสร้าง 2,338.27 ล้านบาท ครุภัณฑ์การแพทย์ 1,400 ล้านบาท และงบบุคลากร (หมวดเงินเดือน) 113.01 ล้านบาท] และสนับสนุนโครงการให้แล้วเสร็จ โดยขออนุมัติจากเงินงบประมาณแผ่นดิน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - 2569 จำนวน 2,552.50 ล้านบาท และเงินสมทบจากเงินนอกงบประมาณ จำนวน 1,298.77 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 66 : 43) ซึ่งโครงการฯ สถานีศิริราช มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
วัตถุประสงค์ |
(1) เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงโรงพยาบาลศิริราชได้อย่างสะดวกด้วยระบบคมนาคมที่เชื่อมโยงเครือข่ายกับระบบคมนาคมหลัก (2) เพื่อพัฒนาศักยภาพของพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟธนบุรีให้เกิดมูลค่าเพิ่มต่อวงการแพทย์และสาธารณสุข (3) เพื่อประสานประโยชน์ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น |
สถานที่ตั้งและรูปแบบ โครงการ |
- ตั้งอยู่บริเวณใกล้ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ - พื้นที่ รฟท. (ขอเช่าที่ดินของ รฟท.) ต่อเนื่องกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ บริเวณสถานีรถไฟธนบุรี - ศิริราช ช่วงเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน เลียบคลองบางกอกน้อย บนพื้นที่ 4.67 ไร่ (7,456 ตารางเมตร) - โครงการฯ จะเป็นอาคารสูง 15 ชั้น ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น (ความสูงของอาคารเท่ากับ 81 เมตร) มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 51,853 ตารางเมตร แบ่งเป็น (1) พื้นที่โรงพยาบาล 47,537 ตารางเมตร (2) พื้นที่รถไฟสายสีแดงอ่อน 3,410 ตารางเมตร และ (3) พื้นที่รถไฟฟ้าสายสีส้ม 906 ตารางเมตร ทั้งนี้ แบบก่อสร้างได้รับความเห็นชอบร่วมกันทั้ง 3 ฝ่ายแล้ว (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ รฟท. และ รฟม.) |
ระยะเวลาการดำเนิน โครงการ |
ปีงบประมาณ 2566 - 2569 (4 ปี) ระยะเวลาก่อสร้าง 32 เดือน |
แผนงานด้านบุคลากร |
บูรณาการระหว่างจำนวนบุคลากรที่มีอยู่เดิมกับจำนวนที่ต้องการเพิ่มขึ้น โดยมีอัตราใหม่ ปี 2569 จำนวน 516 อัตรา |
ซึ่งสภามหาวิทยาลัยมหิดล ในการประชุมครั้งที่ 574 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 มีมติอนุมัติโครงการฯ สถานีศิริราช เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้พิจารณาประเด็นที่ต้องดำเนินการตามข้อกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า โครงการดังกล่าวได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตตามกฎกระทรวงว่าด้วยการยกเว้น ผ่อนผัน หรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2550 ตามข้อ 2 (1) เนื่องจากเป็นอาคารของกระทรวง ทบวง กรม ที่ใช้ในราชการหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ และได้รับการยกเว้นในกรณีห้ามบุคคลใดก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารอื่นใดในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ ตามข้อ 4/1 (4) ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ภายในบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ ในท้องที่แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด แขวงอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี และแขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 เนื่องจากเป็นอาคารสาธารณปโภค อาคารสาธารณูปการ ซึ่งเป็นของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานในกำกับของรัฐ เพื่อจัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค สาธารณูปการ รวมทั้งได้รับการยกเว้นขั้นตอนตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ประกาศ ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2561) ในขั้นตอนที่ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการนั้นเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นก่อนขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นโครงการประเภทสถานพยาบาลของสถาบันการศึกษาของรัฐตามเอกสารท้ายประกาศ 6 ข้อ 29 โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 27 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A91049