การแก้ปัญหาส่งมอบพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (บริเวณพื้นที่โรงงานมักกะสัน)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 27 September 2022 23:37
- Hits: 1336
การแก้ปัญหาส่งมอบพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (บริเวณพื้นที่โรงงานมักกะสัน)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ในฐานะหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เสนอ ให้กรมที่ดิน และกระทรวงมหาดไทย (มท.) ดำเนินการแก้ไข ทบทวน หรือปรับปรุงระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2543 ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการขอใช้สาธารณสมบัติของแผ่นดิน อนุญาตให้ใช้ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันออกใบอนุญาต และการห้ามไม่ให้ขุดพื้นดินลึกจากพื้นดินทั่วไปเกินกว่า 5 เมตร เพื่อให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (โครงการรถไฟฯ สามสนามบิน) สามารถดำเนินการขออนุญาตการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม [Environmental Impact Assessment (EIA)] และขออนุญาตก่อสร้างได้ในระหว่างที่อยู่ในขั้นตอนการขอถอนสภาพตามมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทั้งนี้ สำหรับการขอใช้และการขอถอนสภาพลำรางสาธารณประโยชน์ที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติปัจจุบันนั้น เมื่อได้มีการปรับปรุงระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ และมีผลใช้บังคับแล้ว ให้สามารถใช้แนวทางปฏิบัติตามระเบียบใหม่ไปดำเนินการต่อเนื่องได้
สาระสำคัญของเรื่อง
สกพอ. รายงานว่า
1. กพอ. ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 มีมติรับทราบผลการดำเนินงานเพื่อส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟฯ สามสนามบิน (บริเวณพื้นที่โรงงานมักกะสัน) โดยภายหลังลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฯ สามสนามบิน ประมาณ 1 ปี เอกชนคู่สัญญาได้ขอคัดสำเนาโฉนดพื้นที่เพื่อดำเนินกิจกรรมสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (บริเวณพื้นที่โรงงานมักกะสัน) จากกรมที่ดิน ปรากฏว่ามีการระบุลำรางสาธารณประโยชน์ในโฉนดที่ดินซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่ให้ได้เต็มศักยภาพตามวัตถุประสงค์ของโครงการรถไฟฯ สามสนามบิน ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ สกพอ. ได้ดำเนินการยื่นเรื่องการขอใช้และขอถอนสภาพลำรางสาธารณประโยชน์ ตามประมวลกฎหมายที่ดินต่อส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และ มท. จะสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อให้มีการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ได้ก่อนการถอนสภาพลำรางสาธารณประโยชน์ดังกล่าว โดยให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2. กพอ. ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ได้พิจารณาการแก้ปัญหาส่งมอบพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟฯ สามสนามบินพื้นที่โรงงานมักกะสัน (กรณีลำรางสาธารณประโยชน์) สรุปได้ ดังนี้
2.1 จากการลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพของลำรางสาธารณประโยชน์ในพื้นที่โครงการ รถไฟฯ สามสนามบิน (บริเวณพื้นที่โรงงานมักกะสัน) และรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น รฟท. สกพอ. กรมที่ดิน กองทัพบก กทม. พบว่า เป็นลำรางสาธารณประโยชน์ที่ตื้นเขิน ไม่อาจใช้เป็นทางสัญจรไปมา และไม่มีสภาพการใช้ประโยชน์ร่วมกันของพลเมืองแล้ว รวมทั้งไม่สามารถฟื้นฟูสภาพได้ ทั้งนี้ ในการถอนสภาพความเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันในส่วนที่เป็นลำรางสาธารณะต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) และระเบียบที่เกี่ยวข้อง มีกระบวนการและขั้นตอนจำนวนมาก และใช้ระยะเวลาดำเนินการค่อนข้างนาน ซึ่งก่อให้เกิดความล่าช้าส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการรถไฟฯ สามสนามบิน
2.2 คณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฯ สามสนามบิน ในการประชุมครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 ได้พิจารณาประเด็นปัญหาที่ดินลำรางสาธารณประโยชน์ในบริเวณพื้นที่มักกะสัน1 แล้ว พบว่า มีปัญหาในประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฯ สามสนามบิน ในส่วนที่ว่าด้วยการเริ่มต้นดำเนินโครงการรถไฟฯ สามสนามบิน ซึ่งครอบคลุมถึงประเด็นลำรางสาธารณประโยชน์ในพื้นที่มักกะสัน จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการแก้ไขเพื่อให้ได้ข้อยุติ
2.3 คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟฯ สามสนามบิน ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ได้พิจารณาประเด็นปัญหาที่ดินลำรางสาธารณประโยชน์ในบริเวณพื้นที่มักกะสันตามที่เอกชนคู่สัญญามีหนังสือร้องเรียนและมีมติว่าลำรางสาธารณประโยชน์ที่ไม่มีสภาพดังกล่าวไม่เป็นเงื่อนไขในการส่งมอบพื้นที่ตามข้อกำหนดในสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฯ สามสนามบิน ทั้งนี้ การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวของ รฟท. และ สกพอ. เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกเพื่อสนับสนุนเอกชนคู่สัญญาในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
2.4 สกพอ. ได้มีหนังสือถึง สคก. เพื่อขอหารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับแนวทางการขอถอนสภาพลำรางสาธารณประโยชน์ที่พ้นสภาพการใช้ประโยชน์ร่วมกันของพลเมืองในพื้นที่ดำเนินโครงการรถไฟฯ สามสนามบิน (บริเวณพื้นที่โรงงานมักกะสัน) ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าวแล้ว และมีความเห็นสรุปได้ ดังนี้
ข้อหารือ สกพอ. |
ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) |
|
ทางเลือกที่ 1 สกพอ. และ กพอ. จะสามารถอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ. เขตพัฒนาฯ พ.ศ. 2561) เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดให้ มท. ตราพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพตามความในมาตรา 8 วรรคสอง (1) แห่งประมวลกฎหมายที่ดินขึ้นเป็นการเฉพาะ |
เห็นว่า มาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ. เขตพัฒนาฯ พ.ศ. 2561 มุ่งหมายให้ กพอ. มีอำนาจเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้มีการดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งใดที่ กพอ. เห็นว่าก่อให้เกิดความไม่สะดวกหรือล่าช้ามีความซ้ำซ้อนหรือเป็นการเพิ่มภาระการดำเนินการแก่ประชาชนเพื่อให้การดำเนินการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว แต่การใช้อำนาจตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ. เขตพัฒนาฯ พ.ศ. 2561 เสนอให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 8 วรรคสอง (1) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อถอนสภาพที่ดินดังกล่าวขึ้นเป็นการเฉพาะเสียเองนั้น ไม่ใช่การเสนอให้มีการปรับปรุงหรือเสนอให้มีกฎหมายขึ้นใหม่ จึงไม่อาจกระทำได้ |
|
ทางเลือกที่ 2 สกพอ. และ กพอ. จะสามารถอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 และหรือมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ. เขตพัฒนาฯ พ.ศ. 2561 เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดให้ สกพอ. เป็นผู้ดำเนินการเพื่อถอนสภาพลำรางดังกล่าวโดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนปกติที่กำหนดไว้ในกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง |
เห็นว่า การที่คณะรัฐมนตรีจะกำหนดให้หน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือ สกพอ. เป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงหน่วยเดียว หรือให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดหรือบางหน่วยร่วมกันดำเนินการ หรือร่วมกับ สกพอ. ดำเนินการตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ. เขตพัฒนาฯ พ.ศ. 2561 ย่อมต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐนั้นมีหน้าที่และอำนาจที่จะดำเนินการในเรื่องนั้น ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการภายในหรือภายนอกพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก แต่โดยที่การดำเนินการถอนสภาพที่ดินดังกล่าวเป็นหน้าที่และอำนาจของ มท. และกรมที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการถอนสภาพ การจัดขึ้นทะเบียน และการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2550 (ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการถอนสภาพฯ พ.ศ. 2550) มิได้เป็นหน้าที่และอำนาจของ สกพอ. ดังนั้น สกพอ. จึงไม่อาจเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมีมติให้ สกพอ. เป็นผู้ดำเนินการถอนสภาพที่ดินเองได้ แต่อาจเสนอให้คณะรัฐมนตรีกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติได้ ตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ. เขตพัฒนาฯ พ.ศ. 2561 |
|
ทางเลือกที่ 3 สกพอ. และ กพอ. จะสามารถอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ. เขตพัฒนาฯ พ.ศ. 2561 เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อมีมติมอบหมายให้ มท. กำหนดกฎระเบียบกรณีหน่วยงานของรัฐขอใช้ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันเป็นการชั่วคราว ในระหว่างที่การถอนสภาพยังไม่แล้วเสร็จ โดยไม่มีเงื่อนไข เงื่อนเวลา หรือข้อจำกัดในการใช้ที่ดินเสมือนว่าที่ดินนั้นได้ถอนสภาพเสร็จแล้ว |
เห็นว่า หาก สกพอ. และ กพอ. เห็นว่า บทบัญญัติแห่งมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินและระเบียบที่เกี่ยวข้อง2 ก่อให้เกิดความไม่สะดวกหรือล่าช้า มีความซ้ำซ้อน หรือเป็นการเพิ่มภาระการดำเนินการโดยไม่จำเป็น ย่อมสามารถเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อปรับปรุงหรือแก้ไขได้ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ. เขตพัฒนาฯ พ.ศ. 2561 แต่ สกพอ. และ กพอ. อาจต้องพิจารณาด้วยว่าในการเสนอแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องจะใช้ระยะเวลานานกว่าการดำเนินการตามปกติ หรือการเสนอให้คณะรัฐมนตรีกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหรือไม่ |
2.5 สกพอ. พิจารณาแล้วเห็นว่าควรดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ตามแนวทางเลือกที่ 3 ซึ่งมีความเหมาะสมกับการแก้ปัญหาส่งมอบพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟฯ สามสนามบิน บริเวณพื้นที่โรงงานมักกะสัน โดยจะเสนอขอให้ มท. และกรมที่ดินดำเนินการแก้ไขระเบียบหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับพื้นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่พลเมืองเลิกใช้ประโยชน์ร่วมกันแล้ว ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่อยู่ระหว่างการขอถอนสภาพตามมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
2.6 มติ กพอ.
เห็นชอบให้ สกพอ. กรมที่ดิน และ มท. เร่งสรุปปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากการดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบให้มีการปรับปรุงระเบียบกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวตามที่ สกพอ. นำเสนอ สำหรับใช้เป็นการเฉพาะในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.เขตพัฒนาฯ พ.ศ. 2561 โดยเร็ว
3. เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 สกพอ. และกรมที่ดินประชุมหารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการตามมติ กพอ. ข้างต้น และได้ข้อสรุปว่า เห็นควรเสนอให้มีการแก้ไขหรือทบทวนระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการขออนุญาตตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2543 กรณีที่ใช้บังคับในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากปัจจุบันระเบียบดังกล่าว ก่อให้เกิดความไม่สะดวก ล่าช้า มีความซ้ำซ้อนหรือเป็นการเพิ่มภาระการดำเนินการโดยไม่จำเป็น ส่งผลให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโครงการรถไฟฯ สามสนามบิน ได้เต็มศักยภาพ อาทิ ข้อ 25 วรรคสอง ของระเบียบดังกล่าว กำหนดให้การอนุญาต ให้อนุญาตตามกำหนดเวลาซึ่งสมควรกับกิจการที่กระทำภายในกำหนดไม่เกินห้าปีนับแต่วันออกใบอนุญาต และข้อ 27 ของระเบียบดังกล่าว กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตต้องไม่กระทำให้พื้นดินที่ได้รับอนุญาตหรือพื้นที่ซึ่งติดต่อเสียสภาพตามสมควร เช่น ขุดพื้นดินลึกจากพื้นดินทั่วไปเกินกว่าห้าเมตร ดังนั้น หากกรมที่ดิน และ มท. ดำเนินการแก้ไขหรือทบทวนระเบียบ มท. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ฯ การขออนุญาตตามมาตรา 9 พ.ศ. 2543 แล้ว โครงการรถไฟฯ สามสนามบิน จะสามารถพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวได้ตามวัตถุประสงค์โดยไม่ติดขัดปัญหาและอุปสรรค
ปัจจุบัน สกพอ. ได้ดำเนินการยื่นขอเพิกถอนลำรางสาธารณะดังกล่าว ตามมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว โดยอยู่ระหว่างเสนอให้สภากรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบ ก่อนดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป
______________________________________
1 เอกชนคู่สัญญาได้มีหนังสือร้องเรียนถึง รฟท. และ สกพอ. เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่ดินลำรางสาธารณประโยชน์ในบริเวณพื้นที่มักกะสัน สรุปได้ว่า ที่ดินลำรางสาธารณประโยชน์ดังกล่าวตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นจุดศูนย์กลางของแผนการพัฒนาโครงการเพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟฯ สามสนามบิน โดยหากเอกชนคู่สัญญาไม่มีสิทธิเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่บริเวณดังกล่าวได้อย่างเต็มศักยภาพ อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการก่อสร้างโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟฯ สามสนามบิน การดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการขอใบอนุญาตก่อสร้าง จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ให้ รฟท. และ สกพอ. ประสานหน่วยงานรัฐซึ่งรับผิดชอบที่ดินลำรางสาธารณประโยชน์ดังกล่าว เพื่ออนุญาตให้เอกชนคู่สัญญาสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวได้ในวันที่ได้รับมอบพื้นที่พร้อมส่งมอบของพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟฯ สามสนามบิน จาก รฟท. ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฯ สามสนามบิน
2 ปัจจุบัน การอนุญาตให้หน่วยงานของรัฐใช้ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันเป็นการชั่วคราวจะดำเนินการระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2543 ซึ่งระเบียบนี้มุ่งใช้กับกรณีที่เอกชนมาขอใช้ที่ดินของรัฐชั่วคราวไม่เกิน 5 ปี และมีเงื่อนไขและข้อจำกัดในการใช้ที่ดิน ซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพการใช้ที่ดินของหน่วยงานของรัฐที่มีลักษณะเป็นการขอใช้อย่างถาวร ทำให้เป็นปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินโครงการฯ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 27 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A91048