รายงานการประเมินผลโครงการหรือแผนงานภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 รอบ 6 เดือน ครั้งที่ 1 (กค.)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 27 September 2022 22:43
- Hits: 1428
รายงานการประเมินผลโครงการหรือแผนงานภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 รอบ 6 เดือน ครั้งที่ 1 (กค.)
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานการประเมินผลโครงการหรือแผนงานภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 รอบ 6 เดือน ครั้งที่ 1 [เป็นการดำเนินการตามระเบียบ กค. ว่าด้วยการประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ข้อ 5 (3) ที่กำหนดให้คณะกรรมการประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนด (คปก.) ประเมินผลโครงการและจัดทำรายงานเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทราบทุกหกเดือน] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ว่าจ้าง บริษัท ทริส คอร์ปอเรชัน จำกัด และมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังเป็นที่ปรึกษาภายใต้โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อติดตามประเมินผลโครงการหรือแผนงานภายใต้พระราชกำหนดฯ และได้ร่วมกันจัดทำรายงานการประเมินผลฯ ซึ่ง คปก. ได้เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 โดยมีโครงการทั้งสิ้น 1,108 โครงการ 3 แผนงาน ประกอบด้วย (1) เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (2) เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และ (3) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งนี้ การประเมินผลจะสุ่มตัวอย่างโครงการ/แผนงาน จำนวน 400 โครงการ โดยพิจารณาคัดเลือกโครงการที่มีขนาดใหญ่ กระจายตัวทั่วประเทศ มีวงเงินกู้สูง หรือมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีนัยสำคัญที่แล้วเสร็จ จำนวน 19 โครงการ กรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ รวม 805,109.55 ล้านบาท
2. คปก. ได้จัดทำรายงานการประเมินผลฯ ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 จำนวน 19 โครงการ ซึ่งมีกรอบวงเงิน รวม 805,106.55 ล้านบาท ผลการเบิกจ่ายรวม 795,778.74 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 98.84 ของกรอบวงเงิน โดยทั้ง 19 โครงการ มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก (A) และสามารถสร้างมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จำนวน 2,654,654.75 ล้านบาท มีรายได้กลับคืนภาครัฐ จำนวน 512,406.26 ล้านบาท รวมถึงเกิดความคุ้มค่า 3.24 เท่า โดยมีผลการประเมินระดับแผนงาน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
2.1 แผนงานที่ 1 แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19
2.1.1 การประเมินผลโครงการ จำนวน 9 โครงการ กรอบวงเงินรวม 33,719.31 ล้านบาท มีผลเบิกจ่าย 33,638.90 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.76 ของกรอบวงเงิน มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก และผลการประเมินตามหลักเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย ความสอดคล้องและความเชื่อมโยง ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ผลกระทบ และความยั่งยืน อยู่ในระดับดี
2.1.2 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น โครงการค่าตอบแทนเยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโควิด-19 ในชุมชน และโครงการจัดหาเครื่องช่วยหายใจเพื่อการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงและประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและมีความเชื่อมั่นต่อการให้บริการและการรักษาพยาบาล
2.1.3 ปัญหาและอุปสรรค เช่น (1) การโอนเงินค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของ อสม. ไม่สำเร็จ เนื่องจาก อสม. บางรายปิดบัญชีไปแล้วหรือแจ้งเลขบัญชีธนาคารผิดพลาด (2) การส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 มีความซ้ำซ้อนและล่าช้า และ (3) ประชาชนเกิดความสับสนและเข้าใจผิดเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของโครงการ
2.1.4 ข้อเสนอแนะ เช่น (1) ควรตรวจสอบและปรับปรุงฐานข้อมูลของ อสม. ให้มีความถี่มากขึ้น (2) จัดทำระบบฐานข้อมูลกลางด้านสาธารณสุขของประเทศที่สามารถสนับสนุนการรักษาและส่งต่อผู้ป่วยเพื่อลดความซำซ้อนและความล่าช้าในการส่งต่อผู้ป่วย (3) พัฒนากลไกหรือระบบบริหารจัดการให้มีการบูรณาการระหว่างสถานพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้สามารถตัดสินใจ สั่งการ และใช้ทรัพยากรร่วมกันได้เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน (4) ออกแบบโครงสร้างการจัดการและกลไกการให้ข้อมูลข่าวสารและการประชาสัมพันธ์ในภาวะฉุกเฉินให้มีความเหมาะสมโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และ (5) เลือกรูปแบบของสื่อและวิธีการสื่อสารที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
2.2 แผนงานที่ 2 แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาและชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19
2.2.1 การประเมินผลโครงการ จำนวน 6 โครงการ กรอบวงเงินรวม 636,203.61 ล้านบาท มีผลเบิกจ่ายรวม 634,254.43 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.69 ของกรอบวงเงิน โดยมีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก และผลการประเมินตามหลักเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านความสอดคล้องและความเชื่อมโยง ด้านประสิทธิภาพ ด้านประสิทธิผล และด้านผลกระทบ อยู่ในระดับดี ส่วนด้านความยั่งยืนอยู่ในระดับพอใช้ เนื่องจากโครงการมีลักษณะการช่วยเหลือเยียวยาในระยะสั้น จึงไม่ส่งผลให้เกิดความยั่งยืน
2.2.2 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 สามารถสร้างมูลค่าต่อเศรษฐกิจ จำนวน 2,099,263.97 ล้านบาท มีรายได้กลับคืนภาครัฐ จำนวน 405,157.94 ล้านบาท รวมทั้งสามารถชะลอการเกิดหนี้เสียและเกิดการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค นอกจากนี้ ยังส่งผลให้สภาวะความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นด้วย
2.2.3 ปัญหาและอุปสรรค เช่น (1) หน่วยงานดำเนินโครงการมีทรัพยากรและประสบการณ์ในการให้บริการไม่เพียงพอ (2) การทุจริตของผู้เข้าร่วมโครงการ เช่น โครงการเราชนะ (3) มีข้อจำกัดและความเหลื่อมล้ำทางด้านเทคโนโลยีรวมทั้งความเสถียรของสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ (4) ฐานข้อมูลประชาชนของแต่ละหน่วยงานไม่เชื่อมโยงกันและไม่มีการปรับปรุงให้ทันสมัยและเป็นปัจจุบัน และ (5) ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีมุมมองว่าหากเข้าร่วมโครงการของภาครัฐจะเป็นการเปิดเผยข้อมูลด้านรายได้และส่งผลให้ต้องเสียภาษี จึงหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมโครงการ
2.2.4 ข้อเสนอแนะ เช่น (1) หน่วยงานปู้รับผิดชอบโครงการควรเตรียมความพร้อมและมีทรัพยากรที่เหมาะสมในการให้บริการประชาชน (2) การกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริตหรือเพิ่มบทลงโทษกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของโครงการ (3) โครงการที่มีกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมกลุ่มประชากรทั่วไปควรมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการช่วยดำเนินงานโครงการเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้อย่างทั่วถึง (4) การมีระบบฐานข้อมูลแบบรวมศูนย์และการปรับปรุงฐานข้อมูลให้ข้อมูลเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ และ (5) การเตรียมการสื่อสารและการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการเพื่อให้สามารถสื่อสารข้อมูลได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
2.3 แผนงานที่ 3 แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
2.3.1 การประเมินผลโครงการ จำนวน 4 โครงการ กรอบวงเงินรวม 135,183.63 ล้านบาท มีผลเบิกจ่าย 127,885.41 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 94.60 ของกรอบวงเงิน โดยมีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก และผลการประเมินตามหลักเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านความสอดคล้องและความเชื่อมโยง ด้านประสิทธิผลและด้านผลกระทบ อยู่ในระดับดี ส่วนด้านประสิทธิภาพและด้านความยั่งยืน อยู่ในระดับพอใช้ เนื่องจากโครงการกำลังใจไม่ได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายตามที่คาดการณ์ไว้และโครงการกำลังใจและโครงการคนละครึ่งมีลักษณะเป็นการช่วยเหลือหรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นจึงส่งผลให้โครงการไม่เกิดความยั่งยืน
2.3.2 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น โครงการคนละครึ่งและโครงการกำลังใจ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ จำนวน 555,690.78 ล้านบาท มีรายได้กลับคืนภาครัฐ จำนวน 107,248.32 ล้านบาท รวมทั้งลดความตึงเครียดของประชาชน ลดการเลิกการจ้างงาน เพิ่มทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และส่งเสริมการเป็นสังคมไร้เงินสด
2.3.3 ปัญหาและอุปสรรค เช่น (1) หน่วยงานมีภารกิจไม่เหมาะสมกับลักษณะการดำเนินโครงการและไม่มีความพร้อมด้านทรัพยากร (2) ระบบในการให้บริการประชาชนมีความเสี่ยงเรื่องความไม่เสถียรเมื่อมีการใช้งานจำนวนมาก และ (3) การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารไม่เพียงพอและมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเท็จ
2.3.4 ข้อเสนอแนะ เช่น (1) ควรมอบหมายหน่วยงานที่มีความพร้อมและมีภารกิจที่เหมาะสมกับกับโครงการนั้นๆ (2) ควรพัฒนาระบบเทคโนโลยีให้สามารถรองรับการทำธุรกรรมจำนวนมาก และให้ความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีและการปกป้องข้อมูลของประชาชน และ (3) มุ่งเน้นการสื่อสารข้อมูลบนสื่อหลัก เช่น สื่อโทรทัศน์และวิทยุเพื่อป้องกันปัญหาได้รับข้อมูลข่าวสารเท็จและสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 27 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A91041