รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 27 September 2022 22:38
- Hits: 1346
รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2565 (1 มกราคม-30 มิถุนายน 2565) [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พ.ศ. 2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 28/7 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้ กนง. รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีทุกหกเดือน] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. เป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับปี 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติ (14 ธันวาคม 2564) อนุมัติให้ใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงิน โดยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน) ปี 2565 ถึงไตรมาสที่ 1 (มกราคม-มีนาคม) ปี 2566 จะอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ซึ่งสูงกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน ทั้งนี้ กนง. ได้ชี้แจงสาเหตุรายละเอียดต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่กรอบเป้าหมาย และแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมายแล้ว
2. การประเมินภาวะเศรษฐกิจการเงินและเสถียรภาพระบบการเงิน
2.1 ภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้ม
2.1.1 เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนหน้า จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นอกจากนี้ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของเอกชนปรับดีขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวซึ่งเป็นผลจากการผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่วนภาคการส่งออกและการนำเข้าสินค้าและบริการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ 2 ปี 2565 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นจากหมวดบริการเป็นสำคัญประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคการค้าและภาคบริการฟื้นตัว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และภาคการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ขยายตัว ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายประจำและเงินโอนภาครัฐเป็นสำคัญ
2.1.2 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2565 และ 2566 โดยจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 และ 4.2 ตามลำดับ จากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะในหมวดบริการ และจากภาคท่องเที่ยวที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ด้านตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือนมีสัญญาณดีขึ้นสอดคล้องกับเศรษฐกิจโดยจำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานปรับลดลงเข้าใกล้ระดับก่อนสถานการณ์โควิด-19 มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้ออกนอกกำลังแรงงานในช่วงก่อนหน้า
2.2 ภาวะเงินเฟ้อและแนวโน้ม
2.2.1 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.6 ซึ่งสูงกว่ากรอบเป้าหมาย โดยปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจากช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.6 โดยเป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับสูงขึ้นเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและยูเครนประกอบกับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศและอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานช่วงครึ่งแรกของปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.9 เนื่องจากราคาอาหารสำเร็จรูปและเครื่องประกอบอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ
2.2.2 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.2 และมีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมายตลอดปี จากราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่คาดไว้ รวมทั้งการส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศที่สูงขึ้นและการกระจายตัวในหมวดสินค้าที่หลากหลายขึ้น อย่างไรก็ตาม กนง. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยลดลงและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 ที่ร้อยละ 2.5 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2565 และ 2566 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.2 และ 2.0 ตามลำดับ
2.3 เสถียรภาพระบบการเงิน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพแต่ยังมีความเปราะบางในบางจุด โดยเฉพาะภาคครัวเรือนและบางภาคธุรกิจที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ระบบธนาคารพาณิชย์ยังกระจายสภาพคล่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง ส่วนเสถียรภาพด้านต่างประเทศยังคงเข้มแข็ง โดยสะท้อนจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงและหนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ และสถาบันการเงินไทยในภาพรวมมีสภาพคล่องและมีฐานะทางการเงินที่สามารถรองรับภาวะวิกฤตได้ ทั้งนี้ ในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องแต่เสถียรภาพระบบการเงินยังเผชิญความท้าทายหลายปัจจัยโดยเฉพาะจากปัญหาสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ
3. การดำเนินนโยบายการเงิน
3.1 การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 0.50 เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยประเมินว่าแม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียค่อนข้างต่ำ แต่ยังมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มสูงขึ้นจากราคาพลังงานและอาหาร โดยจะทยอยลดลงและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงต้นปี 2566
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กนง. เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและมีโอกาสฟื้นตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ จากอุปสงค์ในประเทศและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้ จากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันและการส่งผ่านต้นทุนที่มากและนานกว่าที่คาดไว้ ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลงและควรให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงินที่ทันการณ์ รวมทั้งควรสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายเพื่อรองรับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
3.2 การดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 เงินบาทต่อดอลล่าร์สหรัฐเคลื่อนไหวผันผวน โดยแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นไตรมาสตามแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และปรับอ่อนค่าลงจากความกังวลต่อสถานการณ์รัสเซียและยูเครน และการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก ส่วนไตรมาสที่ 2 ปี 2565 เงินบาทต่อดอลล่าร์สหรัฐอ่อนค่าลงตามการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้งนี้ การผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 และการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่เร็วกว่าคาดจะช่วยจำกัดการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงหลังของไตรมาสที่ 2 โดย กนง. เห็นควรผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX Ecosystem) โดยเฉพาะการสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
3.3 การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. ให้ความสำคัญกับการมีมาตรการเฉพาะสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจบางกลุ่มที่ยังเปราะบางจากรายได้ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ระยะยาวของลูกหนี้ ทั้งนี้ กนง. ได้ติดตามและประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย รวมทั้งดำเนินมาตรการเฉพาะจุดอย่างต่อเนื่อง
3.4 การสื่อสารนโยบายการเงิน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 กนง. ได้เน้นการสื่อสารเกี่ยวกับเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลาง ประเด็นที่มีนัยสำคัญต่อการตัดสินนโยบายการเงิน และแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อสื่อสารแนวนโยบายและตอบข้อซักถามในประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อนโยบายการเงิน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 27 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A91039