การขับเคลื่อนการดำเนินการสำคัญสืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 2/2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 27 September 2022 22:14
- Hits: 1268
การขับเคลื่อนการดำเนินการสำคัญสืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 2/2565
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ตามผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ในส่วนของ (1) (ร่าง) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2566-2580) (ฉบับปรับปรุง) (2) โครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (3) การดำเนินการแผนปฏิรูปประเทศ และ (4) การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เสนอ
สาระสำคัญ
1. (ร่าง) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2566-2580) (ฉบับปรับปรุง)
1.1 ความเป็นมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 เห็นชอบหลักการ แนวทาง และการดำเนินการปรับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ตามมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในคราวการประชุมครั้งที่ 1/2565 วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมอบหมายให้สำนักงานฯ ดำเนินการทบทวนและปรับแผนแม่บทฯ ทั้ง 23 ประเด็น ซึ่งมุ่งเน้นทบทวนโดยเฉพาะเป้าหมายระดับแผนแม่บทย่อยที่อาจไม่ส่งผลต่อเป้าหมายระดับประเด็น การปรับปรุงตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย และแนวทางการพัฒนาให้มีความเหมาะสมสามารถสะท้อนการบรรลุเป้าหมายได้อย่างแท้จริง
1.2 การดำเนินการ สำนักงานฯ ได้ดำเนินการปรับเแผนแม่บทฯ ทั้ง 23 ประเด็นแล้วเสร็จ และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2566-2580) (ฉบับปรับปรุง) เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม 2565 พร้อมทั้งนำผลจากการรับฟังความคิดเห็นมาประกอบการปรับปรุง (ร่าง) แผนแม่บทฯ (ฉบับปรับปรุง) ให้มีความครบถ้วนและสมบูรณ์ เรียบร้อยแล้ว โดยที่ประชุมร่วมประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 6 คณะ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2565 และที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อวันที่ 22สิงหาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2566-2580) (ฉบับปรับปรุง) เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ สำหรับเอกสารประกอบ (ร่าง) แผนแม่บทฯ (ฉบับปรับปรุง) ที่มีเนื้อหาครอบคลุมในส่วนของคำนิยามและคำอธิบายของเป้าหมายตัวชี้วัด เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการดำเนินการของทุกหน่วยงานของรัฐในการขับเคลื่อนการดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นั้น สำนักงานฯ จะได้ดำเนินการเผยแพร่เพื่อใช้ประโยชน์ควบคู่กับการประกาศใช้แผนแม่บทฯ (ฉบับปรับปรุง) ต่อไป
1.3 มติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
1) เห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2566-2580) (ฉบับปรับปรุง) โดยสรุปสาระสำคัญในการปรับแผนแม่บทฯ ได้ดังนี้ (1) การปรับเป้าหมาย โดยคงจำนวนเป้าหมายระดับประเด็น (Y2) 37 เป้าหมาย และคงจำนวนเป้าหมายแผนแม่บทย่อย (Y1) 140 เป้าหมาย ทั้งนี้ ได้มีการปรับปรุงเป้าหมายแผนแม่บทย่อย (Y1) 3 กรณี ได้แก่ ปรับถ้อยคำของเป้าหมายแผนแม่บทย่อยให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น 7 เป้าหมาย ยกเลิกเป้าหมายแผนแม่บทย่อยที่มีความซ้ำซ้อนกับเป้าหมายอื่นๆ 6 เป้าหมาย และเพิ่มเติมเป้าหมายแผนแม่บทย่อยให้ครอบคลุมกับประเด็นการพัฒนา 6 เป้าหมาย (2) การปรับตัวชี้วัด เพื่อให้มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องและสะท้อนผลลัพธ์การดำเนินการตามเป้าหมาย โดยมีตัวชี้วัดเป้าหมายระดับประเด็น (Y2) จำนวน 41 ตัวชี้วัด จากเดิม 39 ตัวชี้วัด และมีตัวชี้วัดเป้าหมายแผนแม่บทบ่อย (Y1) จำนวน 167 ตัวชี้วัด จากเดิม 170 ตัวชี้วัด (3) การปรับค่าเป้าหมาย ให้มีความท้าทายมากยิ่งขึ้นและสอดคล้องกับการปรับปรุงตัวชี้วัด โดยมีค่าเป้าหมายระดับประเด็น (Y2) จำนวน 41 ค่าเป้าหมาย จากเดิม 39 ค่าเป้าหมาย และมีค่าเป้าหมายแผนแม่บทย่อย (Y1) จำนวน 172 ค่าเป้าหมาย จากเดิม 166 ค่าเป้าหมาย และ (4) การปรับแนวทางการพัฒนา ให้มีความสอดคล้องกับห่วงโซ่คุณค่าแห่งประเทศไทย (FVCT) และบริบทการพัฒนาประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีจำนวน 392 แนวทาง จากเดิม 375 แนวทาง
2) เห็นชอบการมอบหมายหน่วยงานเจ้าภาพขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ โดยยึดหลักการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 ที่เห็นชอบการมอบหมายหน่วยงานเจ้าภาพฯ 3 ระดับ ได้แก่ (1) หน่วยงานเจ้าภาพขับเคลื่อนประเด็นแผนแม่บทฯ (จ.1) (2) หน่วยงานเจ้าภาพขับเคลื่อนเป้าหมายระดับประเด็นของแผนแม่บทฯ (จ.2) และ (3) หน่วยงานเจ้าภาพขับเคลื่อนเป้าหมายระดับแผนแม่บทย่อย (จ.3) โดยหน่วยงานเจ้าภาพฯ มีภารกิจหลักในการประสานและบูรณาการการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการถ่ายทอดเป้าหมายและประเด็นการพัฒนาของยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ ทั้งนี้ ได้มีการปรับเปลี่ยนหน่วยงานเจ้าภาพฯ โดยพิจารณาจากภารกิจของหน่วยงานเพื่อให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายฯ ในระดับ จ.1 มีการเปลี่ยนแปลง 1 ประเด็นแผนแม่บทฯ ระดับ จ.2 มีการเปลี่ยนแปลง 2 เป้าหมายระดับประเด็น และระดับ จ.3 มีการเปลี่ยนแปลง 1 เป้าหมาย แผนแม่บทย่อย เพิ่มเติม 6 เป้าหมายแผนแม่บทย่อย และยกเลิก 6 เป้าหมายแผนแม่บทย่อย
3) เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินการในระยะถัดไปตามหลักวงจรบริหารงานคุณภาพ (PDCA) เพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานให้สามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ของเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ และผลลัพธ์ตามเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้ (1) การวางแผน (Plan) สำนักงานฯ ร่วมกับหน่วยงานเจ้าภาพฯ สร้างความเข้าใจในการถ่ายระดับของแผนระดับที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นแผนระดับชาติไปสู่การปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐผ่านแผนระดับที่ 3 โดยให้ความสำคัญในการดำเนินงานเพื่อการบรรลุเป้าหมายของแผนระดับที่ 1 และ 2 (2) การปฏิบัติ (Do) หน่วยงานของรัฐจัดทำแผนปฏิบัติราชการราย 5 ปี และรายปี ซึ่งเป็นแผนระดับที่ 3 และโครงการ/การดำเนินงานต่างๆ ตามแนวทางของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 รวมทั้งปรับปรุงการดำเนินงานให้มุ่งเน้นการบรรลุเป้าหมายแผนแม่บทย่อยแบบพุ่งเป้า ไม่ใช่การมุ่งที่ตัวชี้วัด โดยมีการถ่ายระดับเป้าหมาย ตัวชี้วัด และค่าเป้าหมายไปสู่ระดับความรับผิดชอบของ แต่ละหน่วยงาน รวมถึงสำนักงบประมาณให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายแผนแม่บทย่อย (3) การติดตามตรวจสอบ ประเมินผล (Check) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดเก็บข้อมูลสำหรับการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง กลไกการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลหน่วยงานของรัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2564 ดำเนินการติดตามการดำเนินการตามแผนแม่บทฯ อย่างเคร่งครัด โดยหน่วยงานของรัฐนำเข้าข้อมูลโครงการ/การดำเนินงานและแผนระดับที่ 3 รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงาน/ผลสัมฤทธิ์ในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ตามระยะเวลาที่กำหนด และ (4) การปรับปรุง การดำเนินงาน (Act) สำนักงานฯ จะดำเนินการปรับปรุงกระบวนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในทุกขั้นตอนของวงจรบริหารงานคุณภาพ (PDCA)
2. โครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
2.1 ความเป็นมา การจัดทำโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี่ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ที่เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำโครงการสำคัญในแต่ละปีงบประมาณ ในห้วงปี 2566 - 2570 ซึ่งเป็นห้วงที่ 2 ของการดำเนินการตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ โดยยึดแนวทางการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ใน 4 แนวทาง ประกอบด้วย (1) การมองเป้าหมายร่วมกัน (2) การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าที่ส่งผลให้บรรลุเป้าหมายแผนแม่บทย่อยและจัดทำข้อเสนอโครงการฯ (3) การจัดลำดับความสำคัญของข้อเสนอโครงการฯ และ (4) การจัดทำแผนปฏิบัติราชการ
2.2 การดำเนินการ สำนักงานฯ ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ตั้งแต่โครงการฯ ประจำปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นมา โดยโครงการฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 เพื่อสร้าง “ครู ก” ให้กับทุกหน่วยงานระดับกรมหรือเทียบเท่าที่เป็นผู้เข้าร่วมประชุมให้สามารถถ่ายทอดการจัดทำโครงการที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและส่งผลต่อการบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและหลักการความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล (XYZ) ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งได้มีการเผยแพร่หลักเกณฑ์การประเมินโครงการฯ ให้กับหน่วยงานเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการประเมินข้อเสนอโครงการของตนเองซึ่งหน่วยงานจะทราบถึงเกณฑ์ที่จำเป็นต้องพัฒนาและยกระดับโครงการให้สามารถเป็นโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2567 มีโครงการที่ผ่านการจัดลำดับความสำคัญจำนวนทั้งสิ้น 1,026 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 39.18 ของข้อเสนอโครงการฯ ทั้งหมด โดยเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) จำนวน 33 โครงการ ทั้งนี้ ในภาพรวมของการจัดทำโครงการฯ ประจำปี 2567 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความรู้ความเข้าใจในการจัดทำข้อเสนอโครงการฯ ตามหลักเกณฑ์การประเมินโครงการฯ และในส่วนของผู้มีสิทธิ์ประเมินข้อเสนอโครงการมีความเข้าใจหลักเกณฑ์การประเมินโครงการมากยิ่งขึ้น สะท้อนได้จากจำนวนข้อเสนอโครงการฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านการจัดลำดับความสำคัญ จำนวน 1,026 โครงการของข้อเสนอโครงการฯ ที่หน่วยงานนำเข้าในระบบ eMENSCR จำนวน 2,619 โครงการ หรือคิดเป็นร้อยละ 39.18 ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้น จากปี 2565 และปี 2566 อย่างไรก็ตาม ยังมี 5 เป้าหมายที่ไม่มีโครงการฯมารองรับ ได้แก่ เป้าหมาย 080202 มูลค่าการระดมทุนผ่านตลาดทุนของกิจการที่เริ่มตั้งต้นและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพิ่มขึ้น เป้าหมาย 110201 ภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการลงทุนเพื่อสังคมเพิ่มขึ้นและ เป้าหมาย 200302 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีสมรรถนะและสร้างความทันสมัยในการจัดบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะให้กับประชาชน โดยมี 2 เป้าหมายที่ไม่มีหน่วยงานจัดส่งข้อเสนอโครงการ ได้แก่ เป้าหมาย 050303 สถานประกอบการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและบริการทางการแพทย์ได้รับมาตรฐานเพิ่มขึ้น และ เป้าหมาย 110402 มีคนไทยที่มีความสามารถและผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เข้ามาทำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มขึ้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นต้องร่วมกันวิเคราะห์เพื่อจัดทำโครงการ/การดำเนินงานที่สามารถส่งผลต่อการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายแบบพุ่งเป้าต่อไป
2.3 มติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
1) เห็นชอบโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 1,026 โครงการ
2) เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินการในระยะถัดไป เพื่อให้โครงการของหน่วยงานของรัฐสามารถขับเคลื่อนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติเป็นไปได้อย่างเป็นระบบและมีความบูรณาการนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม หน่วยงานของรัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องยึดหลักการตามแนวทางขับเคลื่อนฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 และวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 โดยให้ความสำคัญในการดำเนินการ ดังนี้
2.1) หน่วยงานของรัฐ ทบทวนความเกี่ยวข้องของหน่วยงานในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามยุทธศาสตร์ชาติ และประสานหน่วยงานเจ้าภาพและหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายแผนแม่บทย่อย (Y1) เพื่อหารือร่วมกันในการจัดทำข้อเสนอโครงการฯ ที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ปรับปรุงรายละเอียดข้อเสนอโครงการที่ผ่านการจัดลำดับความสำคัญให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ก่อนการนำเสนอตามขั้นตอนต่อไป จัดทำแผนระดับที่ 3 โดยเฉพาะแผนปฏิบัติราชการที่มีการบรรจุโครงการที่ผ่านการจัดลำดับความสำคัญ โดยหน่วยงานจะต้องใช้ชื่อโครงการตามที่เสนอมาเท่านั้น ทั้งนี้ ในกรณีที่ข้อเสนอโครงการฯ ของหน่วยงานไม่ผ่านการจัดลำดับความสำคัญฯ และประสงค์จะเสนอโครงการเข้าสู่กระบวนการงบประมาณ หน่วยงานจะต้องพิจารณาทบทวนและปรับปรุงข้อเสนอโครงการตามหลักเกณฑ์การประเมินโครงการฯ ก่อนเข้าสู่กระบวนการงบประมาณ
2.2) หน่วยงานเจ้าภาพขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ทุกระดับ ประสานและบูรณาการระหว่างหน่วยงานเจ้าภาพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาความครอบคลุมของหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายแผนแม่บทย่อย (Y1) และกำหนดประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในการดำเนินการในปีงบประมาณนั้นๆ รวมทั้งจัดให้มีการให้คำปรึกษา (คลินิกให้คำปรึกษาโครงการฯ) เพื่อให้หน่วยงานร่วมขับเคลื่อนฯ สามารถหารือแนวทางการจัดทำโครงการฯ ที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายแบบพุ่งเป้าได้อย่างเป็นรูปธรรม
2.3) ผู้มีสิทธิ์ประเมินข้อเสนอโครงการฯ ศึกษาและทำความเข้าใจกระบวนการในการจัดทำโครงการฯ และหลักเกณฑ์การประเมินโครงการฯ รวมทั้ง ประเมินข้อเสนอโครงการฯ บนหลักวิชาการ อย่างเที่ยงตรง และเป็นธรรม ตามหลักเกณฑ์การให้คะแนนที่สำนักงานฯ กำหนด
2.4) สำนักงบประมาณ หารือร่วมกับสำนักงานฯ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตลอดกระบวนการดำเนินงาน อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายฯ พิจารณาจัดสรรงบประมาณของโครงการ/การดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ โดยยึดเป้าหมายแผนแม่บทย่อยฯ (Y1) เป็นหลัก รวมทั้งให้ความสำคัญในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้กับโครงการที่ผ่านการจัดลำดับความสำคัญเป็นลำดับแรก และสำหรับโครงการฯ ที่ไม่ผ่านการจัดลำดับความสำคัญฯ ให้พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้ในกรณีที่หน่วยงานได้ดำเนินการทบทวนและปรับปรุงข้อเสนอโครงการตามหลักเกณฑ์การประเมินโครงการฯ แล้ว
2.5) สำนักงานฯ สร้างการตระหนักรู้ เพื่อให้หน่วยงานฯ มีความรู้ความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการดำเนินการที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายฯ รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้คะแนน พร้อมทั้งจัดทำคำอธิบายและคำนิยามให้มีความชัดเจนและครอบคลุมมากขึ้น เพื่อให้หน่วยงานและผู้มีสิทธิ์ให้คะแนนมีความเข้าใจเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
3. การดำเนินการแผนปฏิรูปประเทศ
3.1 ความเป็นมา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวด 16 ได้บัญญัติให้มีการปฏิรูปประเทศ โดยได้กำหนดเป้าหมายของการปฏิรูปประเทศไว้ในมาตรา 257 และให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยด้านต่างๆ ให้เกิดผล ไว้ในมาตรา 258 และในมาตรา 259 ให้เริ่มดำเนินการปฏิรูปในแต่ละด้าน ภายใน 1 ปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯ เพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งหากนับจากวันที่ได้มีการประกาศบังคับใช้แผนการปฏิรูปประเทศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561ระยะเวลาการดำเนินการจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2565
3.2 การดำเนินการ สำนักงานฯ ได้มีการติดตามความก้าวหน้าและประเมินผลสัมฤทธิ์การปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ พบว่า การดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศทั้ง 13 ด้าน ได้ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ แล้ว ดังมีตัวอย่างผลสัมฤทธิ์ อาทิ ด้านการเมือง มีการจัดทำแอปพลิเคชัน Civic Education เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเข้าถึงข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้ง ข้อมูลพรรคการเมือง ข้อมูลที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง ด้านบริหารราชการแผ่นดินมีการเชื่อมโยงข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับระบบ e-GP เพื่อตรวจสอบและป้องกันการทุจริตรวมทั้งมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในหน่วยงานราชการมากขึ้น ซึ่งสามารถช่วยลดการใช้กระดาษในหน่วยงานราชการ ด้านกฎหมาย มีการจัดทำพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย เพื่อให้ผู้ที่มีความผิดไม่ร้ายแรงชำระค่าปรับแทนการลงโทษทางอาญาและไม่มีการจำคุก เพื่อให้การรับโทษเหมาะสมกับสภาพความผิดซึ่งทำให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งในส่วนการจัดให้มีกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายได้มีพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมายพ.ศ. 2564 ที่ดำเนินการแล้วเสร็จและประกาศใช้บังคับเรียบร้อยแล้ว ด้านกระบวนการยุติธรรม ในส่วนการมุ่งอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนให้มีความสะดวกรวดเร็ว โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดให้มีการถ่วงดุลอำนาจการสอบสวนระหว่างหน่วยงาน และได้มีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 177/2564 เรื่อง การรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษความผิดอาญานอกเขตอำนาจการสอบสวน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนมากขึ้น ด้านการศึกษา ในส่วนของการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาพิจารณาจากอัตราการเข้าเรียนสุทธิระดับก่อนประถมศึกษา อายุ 3-5 ปี เพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 75.15 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ด้านเศรษฐกิจ มีการปรับโครงสร้างให้เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้นและสามารถช่วยเหลือด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ได้มากขึ้น
ทั้งนี้ หลังจากแผนการปฏิรูปประเทศสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการลงในวันที่ 31ธันวาคม 2565 หน่วยงานของรัฐทั้งหน่วยงานรับผิดชอบหลักและหน่วยงานร่วมดำเนินการสามารถดำเนินการประเด็นต่อเนื่องต่างๆ ผ่านกลไกของแผนระดับ 2 อื่นที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากทุกด้านของแผนการปฏิรูปประเทศมีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับเป้าหมายของแผนระดับ 2 อื่นๆ ทั้งในส่วนของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) นอกจากนี้ ในส่วนของการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 โดยได้มีการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป็นไปด้วยความเรียบร้อยแล้ว ทั้งการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศ การปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศ และการดำเนินการติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐให้มีการดำเนินการแผนการปฏิรูปประเทศ ส่งผลให้เหลือหน้าที่ของคณะกรรมการเพียงหน้าที่เดียวในส่วนของประธานกรรมการยังมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2565 โดยที่ประชุมร่วมประธานกรรมการปฏิรูปประเทศ รวมถึงมีความจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกลไกการดำเนินการที่เกี่ยวข้องหลังจากสิ้นสุดการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศให้มีความสอดคล้องต่อไป
3.3 มติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เห็นชอบแนวทางการดำเนินการภายหลังการสิ้นสุดขอแผนการปฏิรูปประเทศ ประกอบด้วย
1) แนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศภายหลังการสิ้นสุดของแผนการปฏิรูปประเทศ
1.1) หน่วยงานของรัฐนำประเด็นการปฏิรูปประเทศไปดำเนินการต่อเนื่องผ่านกลไกของแผนระดับที่ 2 แผนระดับที่ 3 และการดำเนินงานต่างๆ ของหน่วยงาน โดยให้สำนักงานฯ และสำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกันพิจารณากำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะสม เพื่อผลักดันผลสัมฤทธิ์ของการปฏิรูปประเทศเกิดผลได้อย่างยั่งยืนต่อไป
1.2) ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการทบทวน ยกเลิกกฎหมายกฎระเบียบ ข้อบังคับ กลไก และคณะกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ โดยในส่วนของสำนักงานฯ มีกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีที่ต้องดำเนินการยกเลิกและ/หรือปรับปรุง ดังนี้
1.2.1) ยกเลิกพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 เนื่องจากเป็นกฎหมายที่หมดความจำเป็น โดยจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ.2558 ต่อไป
1.2.2) ปรับปรุงแก้ไขมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 เรื่อง แนวทางการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ที่ได้เห็นชอบให้มีการจำแนกแผนออกเป็น 3 ระดับ โดยตัดแผนการปฏิรูปประเทศออกจากกลไกของแผนระดับที่ 2 ที่ได้กำหนดไว้เดิม ทำให้มีแผนระดับที่ 2 ประกอบด้วย แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ รวมทั้ง ขอปรับปรุงวิธีการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยให้ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องของแผนระดับที่ 2 ฉบับนั้นๆ
1.3) สำนักงานฯ และสำนักงาน ก.พ.ร. หารือร่วมกันเพื่อพิจารณาทบทวนความจำเป็นและความเหมาะสมเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน ป.ย.ป. เพื่อดำเนินการตามข้อ 16 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 19/2561 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562เรื่อง การทบทวนข้อเสนอให้จัดตั้งหน่วยงานของรัฐตามแผนการปฏิรูปประเทศ
2) แนวทางการดำเนินการที่เกี่ยวข้องในการติดตามและประเมินผลการปฏิรูปประเทศ
2.1) หน่วยงานและ/หรือผู้มีหน้าที่กำกับ ติดตามและประเมินผลการปฏิรูปประเทศ ในส่วนของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ให้คงเหลือเพียงภารกิจหน้าที่ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2565 โดยที่ประชุมร่วมประธานกรรมการปฏิรูปประเทศ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้พิจารณาทบทวนบทบาทและอำนาจหน้าที่ตามความเหมาะสม โดยใช้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนระดับที่ 2 อื่นที่เกี่ยวข้องเป็นกรอบในการดำเนินการ รวมทั้งกลไกและกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับเปลี่ยนองค์ประกอบให้มีความสอดคล้องและเหมาะสมต่อไป
2.2) การดำเนินการติดตาม ประเมินผล และจัดทำรายงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับห้วงเวลาของแผนการปฏิรูปประเทศ ทั้งในส่วนของการรายงานผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศในระบบ eMENSCR การจัดทำรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญฯ สำหรับรอบเดือนตุลาคม ถึง ธันวาคม 2565 เป็นรอบรายงานสุดท้าย และการจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2565 โดยใช้ข้อมูลผลการดำเนินงานสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565
4. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
4.1 ความเป็นมา พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 12 วรรค 6 กำหนดให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดและมีอายุไม่เกินเจ็ดสิบห้าปี ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ในด้านความมั่นคง ด้านการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านวัฒนธรรม ด้านการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข ด้านโครงสร้างพื้นฐาน หรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ ตามพระราชบัญญัตินี้ จำนวนไม่เกินสิบเจ็ดคน และมาตรา 13 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละห้าปี โดยที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นจะอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้
4.2 การดำเนินงาน สำนักงานฯ ได้กราบเรียนนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อพิจารณารายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 5 ท่าน ประกอบด้วย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่สามารถดำรงตำแหน่งจนครบวาระห้าปีถัดไป ตามที่กฎหมายกำหนด จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ นายกานต์ ตระกูลฮุน นายชาติศิริ โสภณพนิช และนายบัณฑูร ล่ำซำ และแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมีอายุครบเจ็ดสิบห้าปีก่อนครบวาระในห้วงห้าปี ให้ดำรงตำแหน่งในวาระถัดไปอีกได้หนึ่งวาระ จำนวน 2 ท่าน ได้แก่ นายวิษณุ เครืองาม และ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นชอบแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว และให้มีการสรรหาบุคคลอื่นเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควร ตามที่นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ พิจารณาให้ความเห็นซอบแล้ว เมื่อวันที่11 สิงหาคม 2565 และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีมติรับทราบแล้วเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565
4.3 มติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เห็นชอบการแต่งตั้ง (1) นายวิษณุ เครืองาม (2) พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา (3) นายกานต์ ตระกูลฮุน (4) นายชาติศิริ โสภณพนิช และ (5) นายบัณฑูร ล่ำซำ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติอีกวาระหนึ่ง และให้มีการสรรหาบุคคลอื่นเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควร เพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 27 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A91028