การประกาศเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) และผลการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (Joint Economic and Trade Committee: JETCO) ไทย-สหราชอาณาจักร ครั้งที่ 1 และกิจกรรมที่เก
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 27 September 2022 22:00
- Hits: 1346
การประกาศเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) และผลการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (Joint Economic and Trade Committee: JETCO) ไทย-สหราชอาณาจักร ครั้งที่ 1 และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการประกาศเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) และรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (Joint Economic and Trade Committee: JETCO) ไทย-สหราชอาณาจักร ครั้งที่ 1 และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการปรับปรุงถ้อยคำในเอกสารแถลงการณ์ร่วมของการประชุมฯ เพื่อสะท้อนกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามผลการประชุม JETCO ไทย-สหราชอาณาจักร ครั้งที่ 1 เพื่อให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีผลลัพธ์เป็นรูปธรรมตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอการประกาศเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) และผลการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (Joint Economic and Trade Committee: JETCO) ไทย-สหราชอาณาจักร ครั้งที่ 1 และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องมาเพื่อคณะรัฐมนตรีรับทราบและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเห็นชอบด้วย
2. การประกาศเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีะหว่างไทยกับ EFTA โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยและรัฐมนตรีของประเทศสมาชิก EFTA ประกอบด้วย (1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐไฮซ์แลนด์ (2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ การศึกษา และกีฬาของราชรัฐลิกเตนสไตน์ (3) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของราชอาณาจักรนอร์เวย์ และ (4) เลขาธิการสำนักงานกิจการเศรษฐกิจของสมาพันธรัฐสวิสและเลขาธิการ EFTA ได้ร่วมกันประกาศเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับ EFTA อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ณ เมืองบอร์การ์เนสสาธารณรัฐไอซ์แลนด์ โดยทั้งสองฝ่ายได้กล่าวแสดงความมุ่งมั่นให้การเจรจาฯ ประสบความสำเร็จ
3. ผลการประชุม JETCO ไทย-สหราชอาณาจักร ครั้งที่ 1 สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
ผลการหารือ |
|
(1) ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร |
แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์และนโยบายทางเศรษฐกิจและหารือการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อขยายและยกระดับความสัมพันธ์ด้านการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยเห็นพ้องในการเร่งฟื้นฟูมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ถึง 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐผ่านกลไก JETCO ไทย-สหราชอาณาจักร เพื่อผลักดันมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่แน่นแฟ้นในอนาคตเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน |
|
(2) การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน (รายสาขา) |
แนวทางการผลักดันและส่งเสริมความร่วมมือเพื่อขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการอำนวยความสะดวกเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคระหว่างกันในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพหรือมีความสนใจร่วมกัน รวมทั้งการหารืออย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าของทั้งสองฝ่าย ได้แก่ 1) ความร่วมมือด้านการเกษตร รับทราบการจัดทำบันทึกความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร ซึ่งฝ่ายสหราชอาณาจักร สนใจประเด็นด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและความปลอดภัยทางอาหาร ขณะที่ฝ่ายไทยสนับสนุนให้สองฝ่ายส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการ การวิจัยและการพัฒนาระหว่างกัน และพร้อมรับการลงทุนจากสหราชอาณาจักรในด้านเกษตรและอาหาร 2) ความร่วมมือด้านการค้า เห็นพ้องว่าอาหารและเครื่องดื่มเป็นสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพสูง โดยสหราชอาณาจักรสนใจการเพิ่มการส่งออกสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลไม้ ขณะที่ไทยเสนอให้สหราชอาณาจักรพิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้า เช่น ยางพารา เนื้อไก่ อาหารสำเร็จรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมถึงขยายความร่วมมือระหว่างกันในด้านอื่นๆ เช่น แรงงานที่มีทักษะ ทรัพย์สินทางปัญญา รถยนต์ และสุขภาพ 3) ความร่วมมือด้านดิจิทัล ยินดีในความร่วมมือในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีดิจิทัลของไทยและ สหราชอาณาจักร และพร้อมสนับสนุนความร่วมมือระหว่างกันในด้านดิจิทัลและการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัล |
|
(3) การส่งเสริมความร่วมมือของภาคเอกชน |
รับทราบผลการประชุมของสภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักรในประเด็นการขยายการลงทุนร่วมกันในสาขาสำคัญเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าระหว่างกัน เช่น ธุรกิจอาหาร ดิจิทัล และบริการสุขภาพ ทั้งนี้ ภาครัฐและภาคธุรกิจควรให้ความสำคัญกับประเด็นด้านกฎระเบียบ แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ และการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน |
|
(4) เอกสารผลลัพธ์สำหรับการประชุม JETCO ไทย-สหราชอาณาจักร ครั้งที่ 1 |
มีการรับรองเอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่ 1) แถลงการณ์ร่วมของการประชุม JETCO ไทย-สหราชอาณาจักร ครั้งที่ 1 โดยมีการปรับแก้ถ้อยคำของแถลงการณ์ร่วมฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทยและไม่กระทบต่อสาระสำคัญ รวมทั้งไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 และ 2) แผนการดำเนินงานสหราชอาณาจักรไทย ซึ่งระบุกิจกรรมและสาขาความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการร่วมกันภายใต้กรอบ JETCO ในระยะเวลา 18 เดือน |
4. พณ. ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในช่วงระหว่างการเข้าร่วมประชุมฯ สรุปได้ ดังนี้
ประเทศ |
การดำเนินงาน |
(1) ราชอาณาจักรเดนมาร์ก |
สร้างเครือข่ายทางการค้ากับห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตเพื่อผลักดันความร่วมมือในการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการขายสินค้าไทย เพื่อเปิดตลาดสินค้าพรีเมียม โดยเฉพาะในหมวดสินค้าเกษตรและอาหารซึ่งคาดว่าจะสามารถส่งสินค้าเพื่อจัดจำหน่ายได้ภายใน 3 - 6 เดือน |
(2) สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ |
เช่น จัดกิจกรรม Top Thai Products Networking เพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดกิจกรรส่งเสริมการขายสินค้าไทย การเจรจาจับคู่ธุรกิจ และการจัดแสดงสินค้าไทย เช่น อาหารออร์แกนิก ผลิตภัณฑ์สปา และเครื่องประดับ และมีการมอบประกาศนียบัตร Thai SELECT แก่ร้านอาหารไทย ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปยังไอซ์แลนด์ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 |
(3) สหราชอาณาจักร |
เข้าร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างผู้ประกอบการไทยและสหราชอาณาจักร จำนวน 4 ฉบับ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าการสั่งซื้อสินค้าไก่แปรรูป ข้าวหอมมะลิ เครื่องปรุงรส และอาหารสำเร็จรูป จำนวน 4,600 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 1 ปี นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าอาหารไทยและประชาสัมพันธ์ร้านอาหารไทยที่ได้รับมาตรฐาน Thai SELECT ซึ่งคาดว่าจะช่วยผลักดันมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 500 ล้านบาท ในปี 2566 |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 27 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A91025