ผลการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 12 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 27 September 2022 21:55
- Hits: 1701
ผลการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 12 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 12 (The Twelfth Ministerial Conference of World Trade Organization: MC12) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามผลการประชุมดังกล่าวต่อไป และให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเกี่ยวกับประเด็นความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง ตามความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ได้ข้อยุติแล้วดำเนินการต่อไปตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า การประชุม MC12 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-17 มิถุนายน 2565 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยมีเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำ WTO และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์) เป็นผู้แทนไทยในการเข้าร่วมประชุม สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การกล่าวถ้อยแถลงของประเทศไทย รองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถ้อยแถลงของไทยผ่านการบันทึกวีดิทัศน์และเผยแพร่บนเว็บไซต์ WTO ร่วมกับประเทศสมาชิก WTO โดยมีสาระสำคัญว่า ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคซึ่งเป็นการจัดประชุมแบบกายภาพครั้งแรกในรอบ 2 ปี โดยที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคยืนยันสนับสนุนให้การประชุม MC12 สามารถบรรลุผลลัพธ์ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมและสมดุล
2. ประเทศสมาชิกสามารถบรรลุฉันทามติร่วมกัน รวม 10 ประเด็น และในส่วนของไทยมีแนวทางการดำเนินงานตามเอกสารผลลัพธ์การประชุม MC12 สรุปได้ ดังนี้
เอกสารผลลัพธ์ MC12 |
สาระสำคัญ/การดำเนินงาน เช่น |
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
||
(1) ข้อตัดสินใจรัฐมนตรี เรื่อง ความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง |
สาระสำคัญ ห้ามประเทศสมาชิกให้การอุดหนุน (1) เรือประมงหรือผู้ประกอบการประมงหลังจากถูกตัดสินว่ามีการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) (2) การทำประมงในกลุ่มสัตว์น้ำที่ถูกจับมากเกินควร ยกเว้นประเทศสมาชิกที่มีการอุดหนุนเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ และ (3) พื้นที่ทะเลหลวงที่ไม่มีหน่วยงานควบคุมดูแล/เรือประมงที่ไม่ได้ชักธงของรัฐที่ให้การอุดหนุน การดำเนินงาน ดำเนินการเจรจาต่อในประเด็นสำคัญของบทบัญญัติเพิ่มเติมเพื่อให้ความตกลงมีความครอบคลุมมากขึ้น |
กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงพลังงาน พณ. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) |
||
(2) ข้อตัดสินใจรัฐมนตรี เรื่อง การดำงานตามความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (Agreements on Trade -Related Aspects of Intellectual Property Rights: TRIPS) |
สาระสำคัญ ประเทศกำลังพัฒนาสามารถอนุญาตให้ใช้สิทธิในสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องและจำเป็นเพื่อการผลิตและจัดหาวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของสิทธิบัตร และอาจพิจารณาอนุญาตให้ส่งออกวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตภายใต้การอนุญาตตามข้อตัดสินใจฉบับนี้ การดำเนินงาน การขยายขอบเขตของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการวินิจฉัยและรักษาโควิด-19 |
กต. พณ. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) |
||
(3) ปฏิญญาว่าด้วยการตอบสนองฉุกเฉินต่อความไม่มั่นคงทางอาหาร |
สาระสำคัญ ประเทศสมาชิกจะทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและปรับปรุงกลไกตลาดโลกของสินค้าอาหารและสินค้าเกษตรให้มีความยืดหยุ่นและการมีมาตรการฉุกเฉินเพื่อรับมือกับความมั่นคงทางอาหารจะต้องทำให้เกิดความบิดเบือนทางการค้าน้อยที่สุด การดำเนินงาน จัดทำแผนเพื่อรับมือกับผลกระทบจากแผนการปฏิรูปประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและประเทศกำลังพัฒนาที่นำเข้าอาหารเป็นหลัก |
กษ. พณ. |
||
(4) ข้อตัดสินใจรัฐมนตรีว่าด้วยการยกเว้นการใช้มาตรการห้ามหรือจำกัดการส่งออกที่จัดซื้อโดยโครงการอาหารโลก |
สาระสำคัญ/การดำเนินงาน ไม่บังคับใช้มาตรการห้ามส่งออกหรือจำกัดการส่งออกสินค้าอาหารเพื่อวัตถุประสงค์ด้านมนุษยธรรมที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ที่จัดซื้อโดยโครงการอาหารโลก เว้นแต่การใช้มาตรการเป็นการชั่วคราวเพื่อรับมือกับวิกฤตขาดแคลน ด้านอาหาร |
กค. กษ. พณ. |
||
(5) ปฏิญญาเรื่องบทบาทของ WTO ในการรับมือกับโควิด-19 และเตรียมความพร้อมสำหรับโรคระบาดในอนาคต |
สาระสำคัญ/การดำเนินงาน วิเคราะห์บทเรียนและประสบการณ์ในการรับมือความท้าทายในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเด็นต่างๆ เช่น แนวทางการใช้มาตรการทางการค้าเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน การจำกัดการส่งออกสินค้า การอำนวยความสะดวกทางการค้า ความมั่นคงทางอาหาร และทรัพย์สินทางปัญญา |
กค. กต. พณ. สธ. |
||
(6) ข้อตัดสินใจรัฐมนตรี เรื่อง การต่ออายุการยกเว้นการฟ้องร้องภายใต้กลไกระงับข้อพิพาทของ WTO เป็นการชั่วคราว กรณีได้รับความเสียหายหรือเสียประโยชน์ อันพึงได้รับจากพันธกรณีแม้มิได้มีการละเมิดความตกลง TRIPS |
สาระสำคัญ/การดำเนินงาน สานต่อการพิจารณาขอบเขตและรูปแบบคำฟ้องกรณีได้รับความเสียหายหรือเสียประโยชน์อันพึงได้รับจากพันธกรณีแม้มิได้มีการละเมิดความตกลง TRIPS และจัดทำข้อเสนอแนะต่อที่ประชุม MC13 |
พณ. |
||
(7) ข้อตัดสินใจรัฐมนตรี เรื่อง แผนการดำเนินการด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ |
สาระสำคัญ/การดำเนินงาน ฟื้นฟูการดำเนินงานตามแผนการด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และสานต่อการหารือเรื่องการต่ออายุการยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับการส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นการชั่วคราว โดยประเทศสมาชิกจะคงแนวปฏิบัติในการไม่เก็บภาษีศุลกากรสำหรับการส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์จนถึงการประชุม MC13 |
กค. พณ. |
||
(8) ปฏิญญารัฐมนตรี เรื่อง สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช |
สาระสำคัญ/การดำเนินงาน จัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงว่าด้วยการบังคับใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เช่น การสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารโลกและระบบอาหารที่มีความยั่งยืน การสนับสนุนการใช้มาตรฐาน แนวทางปฏิบัติ และคำแนะนำที่พัฒนาโดยองค์การมาตรฐานระหว่างประเทศที่สอดคล้องกัน |
กษ. พณ. |
||
(9) ข้อตัดสินใจรัฐมนตรี เรื่อง แผนการดำเนินงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจขนาดเล็ก |
สาระสำคัญ จัดทำกรอบการดำเนินงานเพื่อรับมือกับประเด็นด้านการค้าที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจขนาดเล็ก การดำเนินงาน หารือเรื่องเศรษฐกิจขนาดเล็กภายใต้คณะกรรมการด้านการค้าและการพัฒนา |
พณ. |
||
(10) เอกสารผลลัพธ์การประชุม MC12 |
สาระสำคัญ มีกลไกระงับข้อพิพาทที่มีประสิทธิภาพและสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมภายในปี 2567 รวมทั้งสามารถอำนวยความสะดวกในการดำเนินกระบวนการเข้าเป็นภาคีสมาชิก WTO การดำเนินงาน - หารือกับประเทศสมาชิก WTO เพื่อให้มีกลไกระบข้อพิพาทที่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพภายในปี 2567 - ทำงานร่วมกับประเทศสมาชิก WTO ภายใต้คณะกรรมการด้านการค้าและการพัฒนาในการปรับปรุงการบังคับใช้หลักการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง |
กต. พณ. |
3. ที่ประชุมได้ร่วมรับรองแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ ครั้งที่ 42 โดยมีสาระสำคัญ เช่น (1) เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อให้มีความคืบหน้าไปสู่ระบบการค้าขายสินค้าเกษตรที่เป็นธรรมและเป็นไปตามกลไกตลาดด้วยการลดการอุดหนุนและปกป้องการค้าสินค้าเกษตร และ (2) เน้นย้ำในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ความขัดแย้ง และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งขอให้ประเทศสมาชิกแก้ไขปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตร
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 27 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A91024