แผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 - 2570)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 21 September 2022 00:03
- Hits: 1733
แผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 - 2570)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (แผนการส่งเสริม SMEฯ) ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 - 2570) ซึ่งเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม [Small and Medium Enterprises (SME)] ของประเทศ และให้ใช้แผนการส่งเสริม SMEฯ เป็นแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (แผนปฏิบัติการฯ) และการจัดทำงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งเสริม SME โดยบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. ให้ สสว. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ประจำปี และงบประมาณ เพื่อการขับเคลื่อน โดยให้หน่วยงานต่างๆ ที่ประสงค์ขอรับจัดสรรงบประมาณได้มีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการฯ ก่อนจะนำเข้าสู่ขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณ
3. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ต่อ สสว. โดยใช้หนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ1 ในการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบการ SME ที่เข้าร่วมโครงการและเข้ารับการบริการเป็นประจำทุกปี
_______________________________
1 หนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ หรือ ONE Identification : ID One SMEs หมายถึง การบูรณาการความช่วยเหลือและการออกแบบมาตรการส่งเสริม SME ให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมจากการมีข้อมูลเชิงลึกของ SME โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดใช้รหัสผู้ประกอบการ SME เดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐมีข้อมูลประวัติโดยรวมของผู้ประกอบการที่ครบถ้วนสำหรับนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการบริหารจัดการ SME ที่เข้าร่วมโครงการหรือรับบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้จัดทำร่างแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ร่างแผนการส่งเสริม SMEฯ) ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 - 2570) เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางกำหนดนโยบาย มาตรการ โครงการต่างๆ ในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม [Small and Medium Enterprises (SME)] ของประเทศในระยะ 5 ปีข้างหน้า โดยแผนฉบับนี้ให้ความสำคัญกับ การเร่งสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในมิติต่างๆ ด้วยการพัฒนาศักยภาพและการสร้างรายได้ของธุรกิจ SME โดยส่งเสริมให้ SME มีการพัฒนาผลิตภาพ พัฒนาทักษะความชำนาญของแรงงาน สามารถเข้าถึงนวัตกรรมและองค์ความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโตทางธุรกิจ รวมทั้งเข้าถึงโอกาสด้านการค้าและ การลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการประชุมครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) ในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ได้ให้ความเห็นชอบต่อร่างแผนดังกล่าวแล้ว โดยสภาพัฒนาฯ ให้ สสว. รับความเห็นไปพิจารณาเพิ่มเติมรายละเอียดของแผน และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป ซึ่ง สสว. ได้ดำเนินการปรับปรุงร่างแผนการส่งเสริม SMEฯ ตามความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาพัฒนาฯ เรียบร้อยแล้ว
แผนการส่งเสริม SMEฯ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 - 2570) มีเนื้อหาสาระที่เปลี่ยนแปลงจากแผนการส่งเสริม SMEฯ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2560 - 2564 ดังนี้
หัวข้อ |
แผนการส่งเสริม SMEฯ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2560 - 2564 |
แผนการส่งเสริม SMEฯ ฉบับที่ 5 (ที่ สสว. เสนอในครั้งนี้) |
||
วิสัยทัศน์ |
SME ไทยเติบโตแข่งขันได้ในระดับสากล เพื่อเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ |
ไทยมี SME ที่เข้มแข็ง มีศักยภาพ และสามารถแข่งขันได้ |
||
เป้าหมาย/ตัวชี้วัด ของแผนการ ส่งเสริม SMEฯ |
มูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมของ SME ต่อมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2564 |
SME มีบทบาททางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งมากขึ้นในทุกระดับ สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ โดยสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของ SME ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทั้งหมดไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ในปี 2570 |
||
ยุทธศาสตร์/ประเด็น การส่งเสริม SME |
3 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย (1) ส่งเสริมและพัฒนา SME (2) เสริมสร้างขีดความสามารถของ SME เฉพาะกลุ่ม และ (3) พัฒนากลไกเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริม SME อย่างเป็นระบบ |
3 ประเด็นการส่งเสริม SME ประกอบด้วย (1) สร้างการเติบโตที่ครอบคลุมทุกกลุ่ม (2) สร้างการเติบโตแบบมุ่งเป้า และ (3) พัฒนาสภาพแวดล้อมให้สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ (ในครั้งนี้ สสว. เปลี่ยนคำจากยุทธศาสตร์เป็นประเด็นการส่งเสริม SME) |
||
กลยุทธ์และแนวทาง การขับเคลื่อน SME |
มีกลยุทธ์และแนวทางการขับเคลื่อน SME 13 กลยุทธ์และแนวทาง ประกอบด้วย (1) พัฒนาธุรกิจในระยะเริ่มต้นให้เริ่มธุรกิจได้อย่างมั่นคง (2) ยกระดับธุรกิจที่มุ่งเติบโตให้มีศักยภาพในการแข่งขัน (3) ยกระดับธุรกิจสู่การแข่งขันระดับโลก (4) ฟื้นฟูธุรกิจที่ประสบปัญหาให้ฟื้นตัว (5) ช่วยเหลือธุรกิจยังชีพให้สามารถอยู่รอด (6) สร้างส่วนแบ่งตลาดในประเทศให้เพิ่มขึ้น (7) ส่งเสริมการเข้าสู่สากล (8) สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน (9) สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (10) มีศูนย์กลางในการให้ข้อมูลองค์ความรู้และบริการ (11) สร้างความพร้อมของบุคลากรและแรงงาน (12) ปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ (13) พัฒนาระบบข้อมูลเพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบาย |
เพิ่มเติมกลยุทธ์และแนวทางการขับเคลื่อน SME จากแผนการส่งเสริม SMEฯ ฉบับที่ 4 (13 กลยุทธ์และแนวทาง) จำนวน 2 กลยุทธ์และแนวทาง ประกอบด้วย (1) สนับสนุนผู้ประกอบการสูงอายุในการดำเนินธุรกิจ (2) ส่งเสริมเกษตรกรสู่การทำธุรกิจแบบมืออาชีพ |
หมายเหตุ : ระหว่างปี พ.ศ. 2564 - 2565 สสว. ได้จัดทำแผนการส่งเสริม SMEฯ พ.ศ. 2564 - 2565 ซึ่งเป็นแผนระยะสั้นที่จัดทำขึ้นเป็นกรณีพิเศษเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนงานส่งเสริม SME ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และในช่วงที่อยู่ระหว่างเตรียมการจัดทำแผนการส่งเสริม SMEฯ ฉบับที่ 5
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 20 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9757