ขออนุมัติโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ระยะที่ 2
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 20 September 2022 23:53
- Hits: 1641
ขออนุมัติโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ระยะที่ 2
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ระยะที่ 2
2. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินการโครงการ โดยมีงบประมาณค่าใช้จ่าย ในการชดเชยเรือประมง จำนวน 59 ลำ เป็นเงิน 287.18 ล้านบาท โดยขอใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ในปี 2558 ประเทศไทยได้รับการแจ้งเตือนจากสหภาพยุโรปว่า กิจกรรมการประมงของประเทศไทยไม่เป็นไปตามกฎระเบียบคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ว่าด้วยการจัดตั้งระบบประชาคมยุโรปในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (การทำการประมง IUU) ดังนั้น รัฐบาลจึงได้กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น การแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับกฎระเบียบสากล การจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมง IUU และแผนบริหารจัดการประมงทะเลของไทย การกำหนดให้เรือประมงติดตั้งระบบติดตามเรือประมง การกำหนดเครื่องมือต้องห้ามในการทำการประมง การควบคุมปริมาณการจดทะเบียนเรือประมง เป็นต้น ซึ่งหนึ่งในมาตรการสำคัญ คือ การลดปริมาณเรือประมงให้เหมาะสมกับปริมาณสัตว์น้ำ อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2558 - 2564 จำนวนเรือประมงที่ได้รับใบอนุญาตการทำการประมงพาณิชย์ยังมีจำนวนที่มากเกินค่าเป้าหมาย 1
2. ด้วยเหตุดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) จึงได้จัดทำโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนขึ้น โดยนำเรือประมงที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ (1) เรือที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐตั้งแต่ปี 2558 ที่ไม่สามารถทำการประมงได้ และ (2) เรือที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์แล้ว แต่เจ้าของเรือมีความประสงค์จะเลิกอาชีพทำการประมง ซึ่ง กษ. จะจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับเจ้าของเรือดังกล่าวเพื่อนำเรือดังกล่าวไปทำลาย โดยที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (5 มีนาคม 2562) เห็นชอบให้ดำเนินโครงการฯ ในระยะที่ 1 โดยดำเนินการในส่วนของเรือที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐตั้งแต่ปี 2558 ก่อน (ในส่วนของเรือที่เจ้าของเรือประสงค์จะเลิกอาชีพทำการประมง จำนวน 2,513 ลำ จะดำเนินการต่อไปในภายหลัง) โดยในโครงการฯ ระยะที่ 1 ได้ดำเนินการกับเรือประมงจำนวน 305 ลำ (กษ. แจ้งว่า ภายหลังมีเรือที่โดนตัดสิทธิในการเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 1 ลำ จึงมีเรือที่เข้าร่วมโครงการฯ ระยะที่ 1 ทั้งสิ้น จำนวน 304 ลำ) จากเรือที่แจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 570 ลำ ในส่วนโครงการระยะที่ 2 ที่ กษ. เสนอมาในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการกับเรือประมงส่วนที่เหลือ จำนวน 263 ลำ (เจ้าของเรือประมงยกเลิกความประสงค์เข้าร่วมโครงการ 2 ลำ จึงทำให้เรือประมงส่วนที่เหลือลดลงจาก 265 ลำ เป็น 263 ลำ) ซึ่งในจำนวนนี้มีเรือประมงที่ผ่านเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 59 ลำ คิดเป็นงบประมาณ 287.18 ล้านบาท ส่วนที่เหลือที่ไม่เข้าข่ายเข้าร่วมโครงการฯ ระยะนี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 จำนวน 171 ลำ ไม่ผ่านเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการฯ และโดนตัดสิทธิการเข้าร่วมโครงการแล้ว และกลุ่มที่ 2 จำนวน 33 ลำ เป็นกลุ่มเรือที่ไม่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งและมาตรการของรัฐแต่สมควรที่จะได้รับการชดเชย เยียวยาในระยะต่อไป ซึ่งกลุ่มที่ 2 อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะทำงานและคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. กษ. แจ้งว่า การดำเนินการเพื่อทำลายเรือประมง จำนวน 570 ลำ ตามโครงการฯ ร่วมกับการทำลายเรือประมงที่มีใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์แต่เจ้าของเรือมีความประสงค์จะเลิกอาชีพทำการประมง จำนวน 2,513 ลำ จะทำให้สัดส่วนเรือประมงพาณิชย์ในน่านน้ำไทยอยู่ในระดับที่เหมาะสม (ต่ำกว่า 8,517 ลำ) ซึ่งจะส่งผลให้ชาวประมงที่ยังประกอบอาชีพอยู่สามารถทำการประมงได้มากขึ้น ในขณะที่ปริมาณสัตว์น้ำที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน (Maximum Sustainable Yield: MSY) ยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสม
โครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ระยะที่ 2 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
|
1. วัตถุประสงค์ |
1) เพื่อบริหารจัดการกองเรือประมงพาณิชย์ โดยรักษาความสมดุลของจำนวนเรือประมงพาณิชย์กับปริมาณสัตว์น้ำที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน 2) เพื่อชดเชยเยียวยาและบรรเทาผลกระทบให้กับเจ้าของเรือประมงจากมาตรการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายของภาครัฐ 3) เพื่อให้ชาวประมงที่ไม่สามารถประกอบอาชีพทำการประมงได้มีโอกาสประกอบอาชีพอื่น 4) เพื่อนำเรือที่ได้รับค่าชดเชยเยียวยาออกนอกระบบอย่างถาวร |
|
2. เป้าหมาย |
เรือประมงกลุ่มที่เหลือจากการชดเชยเยียวยาในระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน) ที่ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบและพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย คณะทำงานตรวจสอบประวัติ ความถูกต้อง และคุณสมบัติ เรือประมงและเจ้าของเรือและคณะทำงานประเมินราคาเรือประมง ซึ่งตรวจสอบแล้วไม่พบการกระทำความผิดตามกฎหมาย และผ่านการประเมินราคาค่าชดเชย จำนวน 59 ลำ |
|
3. วิธีดำเนินงาน |
คณะทำงานจ่ายเงินเยียวยาเรือประมง โดยกรมประมงดำเนินการจ่ายเงินค่าชดเชย โดยนำฝากเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของรัฐให้แก่เจ้าของเรือประมงตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ดังนี้ 1) งวดที่ 1 จ่ายเงินจำนวนร้อยละ 30 ของจำนวนเงินค่าชดเชย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแยกชิ้นส่วนเรือหรือทำลายเรือประมง 2) งวดที่ 2 จ่ายเงินจำนวนร้อยละ 70 ของจำนวนเงินค่าชดเชย หลังจากเจ้าของเรือประมงได้ดำเนินการแยกชิ้นส่วนเสร็จหรือทำลายเรือประมงเสร็จเรียบร้อยแล้ว |
|
4. ระยะเวลาดำเนินงาน |
ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี (งบประมาณปี 2565) |
|
5. งบประมาณ |
งบประมาณค่าใช้จ่ายในการชดเชยเรือประมง จำนวน 59 ลำ งบประมาณ 287.18 ล้านบาท โดยขอใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (การจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวไม่ได้ใช้อัตราการชดเชยแบบคงที่ โดยเรือแต่ละลำได้รับการชดเชยตามราคาประเมิน ซึ่งผ่านการเห็นชอบของคณะทำงานประเมินราคาเรือประมงภายใต้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายแล้ว) |
|
6. หน่วยงานรับผิดชอบ |
1) กรมประมง กษ. 2) กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม (คค.) |
______________________________
1 ปัจจุบัน เรือประมงไทยยังคงมีจำนวนที่มากเกินกว่าประมาณที่เหมาะสม โดยในรอบปีการประมง 2565 - 2566 มีเรือที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ จำนวน 9,608 ลำ จากจำนวนเรือที่เหมาะสมในน่านน้ำไทย จำนวน 8,517 ลำ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 20 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9755