ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับจัดทำโครงการจัดเก็บข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลพ้นโทษ พักโทษจากเรือนจำและทัณฑสถาน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 20 September 2022 23:24
- Hits: 1583
ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับจัดทำโครงการจัดเก็บข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลพ้นโทษ พักโทษจากเรือนจำและทัณฑสถาน
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน 137,941,800 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับจัดทำโครงการจัดเก็บข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลพ้นโทษ พักโทษจากเรือนจำและทัณฑสถาน ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ตช. รายงานว่า
1. ตช. (สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ) เป็นหน่วยงานหลักของ ตช. ที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุ รวบรวมพยานหลักฐาน และตรวจพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งมีหน่วยงานและนักวิทยาศาสตร์ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยปัจจุบันผู้กระทำความผิด/ผู้ต้องขังจะถูกเก็บข้อมูลลายพิมพ์นิ้วมือ 10 นิ้ว ในฐานข้อมูลในทะเบียนประวัติอาชญากรเท่านั้นเนื่องจากเป็นวิธีที่ประหยัดงบประมาณ แต่ก็มีข้อจำกัดหลายประการ เช่น ในที่เกิดเหตุไม่พบรอยลายนิ้วมือแฝง หรือรอยแฝงที่พบเป็นรอยฝ่ามือ/สันมือ ทำให้ไม่สามารถตรวจพิสูจน์และจับกุมผู้กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็วเท่าที่ควร
2. ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 - 2562 สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจได้รับการจัดสรรงบประมาณลักษณะบูรณาการด้านปฏิรูปกฎหมายและพัฒนากระบวนการยุติธรรม เพื่อพัฒนาและยกระดับห้องปฏิบัติการด้านนิติวิทยาศาสตร์รวมถึงฐานข้อมูลนิติวิทยาศาสตร์ให้ได้มาตรฐานและมีความทันสมัย โดยมีการฝึกอบรมให้ความรู้และการปฏิบัติในการตรวจเก็บดีเอ็นเอและลายพิมพ์นิ้วมือ 10 นิ้ว ฝ่ามือ สันมือ ของบุคคลให้แก่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจและเจ้าหน้าที่ประจำสถานีตำรวจ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลดังกล่าวของบุคคลกลุ่มเสี่ยง (ผู้ที่ถูกดำเนินการจับกุมในคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน และบุคคลพ้นโทษ พักโทษ) และถึงแม้ว่าการจัดทำฐานข้อมูลนิติวิทยาศาสตร์เพื่อยืนยันตัวบุคคลด้วยการเก็บข้อมูลดีเอ็นเอจะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่การเก็บฐานข้อมูลดีเอ็นเอบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่ผ่านมาทำให้มีการจับกุมผู้กระทำความผิดทั้งคดีค้างเก่าและคดีที่เกิดขึ้นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การเก็บฐานข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลกลุ่มเสี่ยงของบุคคลพ้นโทษและพักโทษจึงเป็นยุทธศาสตร์และเครื่องมือที่สำคัญของ ตช. ในการป้องกัน ปราบปรามอาชญากรรมเพื่อสร้างความสงบสุขให้กับสังคม และคาดว่าจะสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการกระทำความผิดและการกระทำผิดซ้ำลดลง
3. ตช. ได้จัดทำโครงการจัดเก็บข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลพ้นโทษ พักโทษจากเรือนจำและทันฑสถาน (โครงการจัดเก็บข้อมูลดีเอ็นเอฯ) โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
รายละเอียด |
||||||||||||
วัตถุประสงค์ |
1. เพื่อให้ ตช. มีฐานข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลพ้นโทษและพักโทษ จากเรือนจำ และทัณฑสถานเพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวนและเชื่อมโยงคดี 2. เพื่อให้ ตช. เป็นศูนย์กลางฐานข้อมูลดีเอ็นเอแห่งชาติ สามารถสืบค้นหาผู้กระทำความผิดทางคดีอาญาทั้งอาชญากรรมในประเทศและอาชญากรรมระหว่างประเทศ 3. เพื่อเพิ่มศักยภาพระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอให้สามารถรองรับฐานข้อมูลดีเอ็นเอซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเชื่อมโยงฐานข้อมูลกลางและฐานข้อมูลส่วนภูมิภาคด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง |
||||||||||||
กิจกรรม |
|
||||||||||||
ระยะเวลาดำเนินการ |
เดือนกรกฎาคม 2565 – เดือนกันยายน 2565 |
||||||||||||
งบประมาณ |
137,941,800 บาท |
||||||||||||
การประเมินผล |
1. ประเมินผลจากจำนวนข้อมูลดีเอ็นเอที่เก็บในฐานข้อมูลดีเอ็นเอ 2. ประเมินผลจากร้อยละการเชื่อมโยงคดีค้างเก่าและคดีค้างใหม่ |
||||||||||||
ผลที่คาดว่าจะได้รับ |
1. สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง 2. อัตราการกระทำผิดและการกระทำผิดซ้ำจะลดลง |
4. โดยที่โครงการจัดเก็บข้อมูลดีเด็นเอดังกล่าวต้องใช้วงเงินงบประมาณสำหรับจัดทำโครงการฯ เป็นจำนวนมาก และเงินงบประมาณของ ตช. มีไม่เพียงพอสำหรับการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อมาดำเนินโครงการจัดเก็บข้อมูลดีเด็นเอฯ ดังนั้น ตช. จึงได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งสำนักงบประมาณ (สงป.) ได้แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้ ตช. ประสานและบูรณาการข้อมูล นิติวิทยาศาสตร์กับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์และกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม กรณีฐานข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลพ้นโทษ พักโทษจากเรือนจำ และทัณฑสถานดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งประเด็นการจัดเก็บและการตรวจดีเอ็นเอของผู้ต้องขังให้ได้ข้อยุติก่อน โดยขอให้ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรฐานของทางราชการให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการ
5. ต่อมา ตช. ได้มีการประชุมหารือในเรื่องดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานข้างต้น (ตามข้อ 4) โดยได้ข้อสรุปว่าทั้ง 3 หน่วยงาน ไม่ขัดข้องในการบูรณาการความร่วมมือจัดเก็บข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลพ้นโทษ พักโทษจากเรือนจำและทัณฑสถาน โดยจะมีการแบ่งพื้นที่ดำเนินการให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนและสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลนิติวิทยาศาสตร์ร่วมกันได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้เกิดประโยชน์ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและลดการกระทำผิดซ้ำด้วย ส่วนกรณีการจัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการประสานด้านระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลพ้นโทษ พักโทษในเรือนจำและทัณฑสถาน และใช้ประโยชน์จากข้อมูลด้านนิติวิทยาศาสตร์ ระหว่าง ตช. กรมราชทัณฑ์ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เนื่องจากมีหลายขั้นตอนจึงยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินการ จึงจะจัดเก็บข้อมูลดีเอ็นเอคู่ขนานไปกับการดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าว
6. สงป. แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้ ตช. ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นภายในกรอบวงเงิน 137,941,800 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการจัดเก็บข้อมูลดีเอ็นเอฯ ทั้งนี้ ขอให้ ตช. เร่งดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลงฯ (ตามข้อ 5) โดยปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรฐานของทางราชการให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอนและคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการ ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับและหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญด้วย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 20 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9747