รายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศ พ.ศ. 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 20 September 2022 23:16
- Hits: 1566
รายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศ พ.ศ. 2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอรายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศ พ.ศ. 2564 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 มาตรา 9 (7) ที่บัญญัติให้คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติเสนอรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง] ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มีมติเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 เห็นชอบ (ร่าง) รายงานฯ และมอบหมายให้ ทส. นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. สถานภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่ง
1.1 สถานภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ทรัพยากร |
สถานภาพ |
|
1. ปะการัง |
- โดยภาพรวมของประเทศมีแนวปะการังทั้งสิ้นประมาณ 149,182 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในสถานภาพสมบูรณ์ดี ร้อยละ 52.3 สมบูรณ์ปานกลาง ร้อยละ 23.7 และเสียหายร้อยละ 24 โดยมีแนวโน้มสมบูรณ์ขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 - สถานการณ์ปะการังฟอกขาว1 พบเกิดขึ้นเล็กน้อยบริเวณปะการังน้ำตื้นส่งผลให้ปะการังส่วนที่โผล่พ้นน้ำตายบางส่วน |
|
2. หญ้าทะเล |
พบหญ้าทะเลเนื้อที่รวม 99,325 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 62 ของพื้นที่ศักยภาพเป็นแหล่งหญ้าทะเล โดยลดลงจากปี 2563 (104,778 ไร่) จำนวน 5,453 ไร่ หรือลดลงคิดเป็น ร้อยละ 5.2 |
|
3. สัตว์ทะเลหายาก : เต่าทะเล พะยูน โลมาและวาฬ และ ปลากระดูกอ่อน |
- จากการสำรวจพบว่า ในส่วนของการวางไข่ของเต่าทะเล จำนวนครั้งการวางไข่ของ เต่าตนุมีแนวโน้มลดลง ขณะที่เต่ากระและเต่ามะเฟืองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจำนวนพะยูน ทั้งพื้นที่ฝั่งทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามันประมาณประชากรจากข้อมูลการสำรวจในพื้นที่สำคัญได้ประมาณ 261 ตัว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากอดีตแต่ยังพบการเกยตื้นหรือ การตายของพะยูนที่มีอยู่ทุกปี จำนวนโลมาและวาฬมีจำนวน 2,273 ตัว โดยมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จึงไม่สามารถดำเนินการสำรวจได้อย่างเต็มที่ รวมถึงสำรวจพบปลากระดูกอ่อน ได้แก่ ฉลามวาฬ จำนวน 21 ตัว และกระเบนแมนต้า จำนวน 18 ตัว - ในอนาคตคาดว่าแต่ละปีจะมีแนวโน้มสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่มีความเสื่อมโทรมลง รวมถึงปัจจัยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และกิจกรรมการใช้ประโยชน์ทางทะเลของมนุษย์ เช่น การติดพันหรือ ถูกรัดด้วยขยะทะเลจำพวกอวน การติดเครื่องมือประมง และการโดนใบพัดเรือ |
|
4. ป่าชายเลน |
จากข้อมูลการแปลภาพถ่ายดาวเทียมพบว่า ในปี 2563 มีพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพทั้งหมดประมาณ 1.74 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ถึง 2.02 แสนไร่ เนื่องจากมีเทคโนโลยีการแปลภาพถ่ายที่แม่นยำมากขึ้น และเป็นผลจากมาตรการป้องกัน การบุกรุกทำลายป่า มีการรณรงค์ สนับสนุนปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ การดำเนินการทวงคืนผืนป่าจากผู้บุกรุกเพื่อนำพื้นที่กลับมาปลูกฟื้นฟูจึงทำให้ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นและสมบูรณ์ |
|
5. ป่าชายหาด |
มีพื้นที่ป่าชายหาด จำนวน 47,149.30 ไร่ (จากข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ปี 2563) กระจายอยู่ในพื้นที่ 18 จังหวัดชายฝั่งทะเล โดยจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าชายหาดมากที่สุด คือ จังหวัดพังงา รองลงมา คือ จังหวัดกระบี่ ทั้งนี้ป่าชายหาดในประเทศไทยส่วนใหญ่ถูกทำลายจนเหลือเป็นผืนเล็กผืนน้อย เนื่องจากยังไม่ได้รับการอนุรักษ์ |
|
6. ป่าพรุ |
มีพื้นที่ป่าพรุ จำนวน 37,139.56 ไร่ (จากข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ปี 2563) กระจายอยู่ในพื้นที่ 12 จังหวัดชายฝั่งทะเล โดยจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าพรุมากที่สุด คือ จังหวัดสงขลา รองลงมา คือ จังหวัดนราธิวาส |
1.2 สถานภาพด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง
สิ่งแวดล้อม |
สถานภาพ |
|
1. คุณภาพน้ำทะเล |
คุณภาพน้ำทะเลส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 75 เกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 22 และเกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 3 ทั้งนี้ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง ปี พ.ศ. 2557-2564 พบว่า โดยรวมคุณภาพน้ำทะเลมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคงที่ |
|
2. น้ำมันรั่วไหล และก้อนน้ำมันดิน2 |
เกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลและก้อนน้ำมันดิน รวม 44 ครั้ง โดยจากการติดตามตรวจสอบ และเฝ้าระวังสถานภาพของน้ำมันรั่วไหลในช่วงที่ผ่านมาพบว่า จังหวัดระยองและชลบุรีเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงของการเกิดน้ำมันรั่วไหลในทะเลจากการเดินเรือ เข้าออก เรือขนส่งสินค้า เรือประมง และเรือท่องเที่ยว รวมถึงการเดินเรือเพื่อขนส่งน้ำมัน |
|
3. น้ำทะเลเปลี่ยนสี3 |
พบปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยรวม 25 ครั้ง (ส่วนใหญ่เกิดในจังหวัดชลบุรี) ส่วนในพื้นที่ชายฝั่งอันดามันไม่พบน้ำทะเลเปลี่ยนสี |
|
4. แมงกะพรุนพิษ |
พบการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่อง ระหว่างปี 2542-2564 รวม 46 ราย (ผู้เสียชีวิต จำนวน 10 ราย และบาดเจ็บรุนแรง จำนวน 36 ราย) ทั้งนี้ ในปี 2564 มีผู้เสียชีวิต จำนวน 1 ราย ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี |
|
5. ขยะทะเล |
ในปี 2564 สามารถจัดเก็บขยะที่ตกค้างออกจากระบบนิเวศชายฝั่งรวมทั้งสิ้น 443,987 กิโลกรัม ขยะที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ ขวดเครื่องดื่มพลาสติก ถุงพลาสติก เศษโฟม ขวดเครื่องดื่มแก้ว นอกจากนี้ พบขยะที่ไหลผ่านทางแม่น้ำเจ้าพระยามากที่สุด จำนวนเฉลี่ย 52.65 ล้านชิ้น/ปี ซึ่งมีปริมาณเพิ่มมากกว่าในช่วงปี 2563 เนื่องด้วยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการใช้บริการสั่งอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการเพิ่มปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้นด้วย และส่งผลให้จำนวนชิ้นขยะลอยน้ำในภาพรวมจากทุกปากแม่น้ำมีปริมาณสูงกว่าปี 2563 |
1.3 สถานการณ์ด้านการกัดเซาะชายฝั่ง จากการวิเคราะห์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งทะเลพบว่า ปี 2563 ประเทศไทยมีความยาวชายฝั่งทะเล 3,151.13 กิโลเมตร มีชายฝั่งทะเลที่ประสบปัญหาถูกกัดเซาะระยะทาง 822.81 กิโลเมตร เช่น จังหวัดสงขลา ปัตตานี ตราด และเพชรบุรี และพื้นที่ชายฝั่งที่ไม่มีการกัดเซาะระยะทาง 2,328.32 กิโลเมตร แต่กลับพบปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ และการใช้ประโยชน์ที่ดินงอกใหม่หลังแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเป็นปัญหาร่วมของหลายจังหวัดในอ่าวไทยตอนใน ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ซึ่งการแก้ปัญหาต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือในระดับพื้นที่และระดับนโยบายรวมถึงต้องมีการบูรณาการด้านข้อกฎหมายร่วมกันของทุกหน่วยงาน
2. สถานการณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของ 24 จังหวัดชายทะเล พบว่า สถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น การขึ้นวางไข่ของเต่าทะเลที่มีจำนวนครั้งมากขึ้น อาจเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้กิจกรรมท่องเที่ยวทางทะเลและชายหาดชะลอตัว ปราศจากการรบกวนสถานภาพแนวปะการังที่มีแนวโน้มสมบูรณ์ดีขึ้นจากการฟื้นตัวตามธรรมชาติ การเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งสะท้อนถึงการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีสถานการณ์ที่ต้องให้ความสำคัญรวมถึงได้รับการป้องกันและแก้ไข ได้แก่ การเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องแทบทุกพื้นที่ ปัญหาขยะทะเลที่ยังคงเป็นประเด็นสำคัญในหลายจังหวัด ปัญหาน้ำมันรั่วไหลและ ก้อนน้ำมันดิน ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี และแมงกะพรุนพิษ
3. สาเหตุความเสื่อมโทรมและผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่ง เกิดจาก 2 สาเหตุสำคัญ คือ (1) จากธรรมชาติ เช่น คลื่น ลมและมรสุม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (2) จากกิจกกรมการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ ได้แก่ ปัญหาขยะทะเล การท่องเที่ยว และขยะจากประมงที่ถูกทิ้งลงทะเลโดยตรง ปัญหาจากการทำประมง เช่น การทำประมงด้วยเครื่องมือผิดกฎหมาย/ทำลายล้าง และการระบายน้ำทิ้งทางทะเลจากชุมชนชายฝั่ง รวมถึงการใช้ประโยชน์ที่ทำลายระบบนิเวศ เช่น การตัดต้นไม้ และการจับสัตว์น้ำบางชนิดในป่าชายเลน ทั้งนี้ สาเหตุดังกล่าวยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเลที่สำคัญและส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตในทะเล ความหลากหลายทางชีวภาพ ห่วงโซ่อาหาร การสูญเสียพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำชายฝั่งทะเล รวมถึงอาจส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านอาหารทะเลตามมาตลอดจนผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของชุมชนและประเทศ
4. ผลการดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในระหว่างปี 2563-2564 เช่น การปลูกปะการัง จำนวน 240,000 กิ่ง ครอบคลุมเนื้อที่ 150 ไร่ พบว่ามีอัตรารอด โดยเฉลี่ยร้อยละ 94 การดำน้ำเก็บขยะในแนวปะการังและในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลสามารถเก็บขยะได้มากกว่า 27,700 กิโลกรัม ซึ่งขยะที่พบส่วนใหญ่ เช่น อวน เชือก เอ็นตกปลา และขวดพลาสติก การกำหนดแผนเผชิญเหตุในการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน และแผนเผชิญเหตุกรณีเกิดมลพิษและภัยพิบัติทางทะเลที่เป็นภัยต่อทรัพยากรทางทะเล การติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ขั้นตอนการปฐมพยาบาลเมื่อถูกแมงกะพรุนพิษและท่อบรรจุน้ำส้มสายชูในพื้นที่ชายหาดท่องเที่ยวบริเวณพื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญ 7 จังหวัด และการดำเนินงานทวงคืนผืนป่าจากกลุ่มนายทุนที่ครอบครองพื้นที่ป่าแบบผิดกฎหมาย โดยสามารถทวงคืนผืนป่าชายเลน จำนวน 114 คดี ผู้ต้องหา 26 ราย เนื้อที่รวม 2,578.10 ไร่
5. สรุปประเด็นสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญ และแนวทางการแก้ไขปัญหา
ปัญหา |
แนวทางการแก้ไขปัญหา เช่น |
|
1. มลพิษทางทะเล |
- ทบทวนสภาพปัญหา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการมลพิษในทะเลและชายฝั่ง - จัดทำระบบการตรวจสอบและติดตามคราบน้ำมันครบวงจรและทันต่อเหตุการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พื้นที่อ่าวไทยตอนในและในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลทุกแห่ง - จัดทำระบบตรวจสอบ/ติดตาม/แจ้งเตือนมลพิษทางทะเลและสัตว์ทะเลมีพิษ |
|
2. ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ อันเกิดจากการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง |
- ทบทวนสภาพปัญหา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งเขต การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งสรุปผลการดำเนินการและรายงานความก้าวหน้า - ศึกษาแนวทางการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตามแนวคิดการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล และรวบรวมฐานข้อมูลการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ต่างๆ - จัดทำร่างเขตการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตามหลักการทางวิชาการ |
6. ประเด็นปัญหาระดับประเทศที่ต้องเร่งดำเนินการ ดังนี้
6.1 ประเด็นเร่งด่วน
ประเด็น |
การดำเนินงาน |
|
1. ด้านมลพิษทางทะเล |
บูรณาการบริหารจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษ แหล่งที่มีจุดกำเนิดแน่นอน ได้แก่ แหล่งชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม และแหล่งที่มีจุดกำเนิดไม่แน่นอน เช่น การเกษตร |
|
2. ด้านพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและการวางแผนเชิงพื้นที่ |
เร่งขับเคลื่อนการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเล รวมทั้งเร่งดำเนินการวางแผน เชิงพื้นที่ของทะเลของประเทศไทย |
|
3. ด้านการกัดเซาะชายฝั่ง |
เร่งการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างบูรณาการในระดับจังหวัดและพื้นที่ |
|
4. ด้านการบริหารจัดการทางทะเลอย่างยั่งยืน |
สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและสร้างกลไกการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง |
6.2 มาตรการและแผนงานจัดการทรัพยากรธรรมชาติและชายฝั่ง (ระยะยาว) เช่น
มาตรการ |
แผนงาน |
|
1. สร้างองค์ความรู้และติดตามการเปลี่ยนแปลงสถานภาพทรัพยากร |
ศึกษาวิจัย ติดตามการเปลี่ยนแปลงสถานภาพทรัพยากร รวมถึงประเมินผลการฟื้นฟูระบบนิเวศ และจัดทำสื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาครัฐ |
|
2. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคธุรกิจ |
จัดตั้งเครือข่ายประชาชน สนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และจัดทำข้อตกลงชุมชนเพื่ออนุรักษ์และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน |
|
3. อนุรักษ์และเฝ้าตรวจตราทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน |
ตรวจตรา เฝ้าระวังเชิงพื้นที่แนวปะการัง หญ้าทะเล ป่าชายเลน และป่าชายหาด รวมถึงสัตว์ทะเลหายาก และจัดทำแนวเขตพื้นที่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง |
_____________________
1ปะการังฟอกขาวเป็นปรากฏการณ์ที่เนื้อเยื่อปะการังมีสีซีดหรือจางลงจากการสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี (Zooxanthellae) ซึ่งเกิดจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลสูงเกินไป และความเค็มของน้ำทะเลลดลง
2ก้อนน้ำมันดิน คือ การแปรสภาพตามธรรมชาติของน้ำมันหรือคราบน้ำมันที่รั่วไหลลงสู่ทะเลจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การขนถ่ายของเรือบรรทุกน้ำมัน การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องของเรือเดินสมุทร หรือการรั่วไหลโดยธรรมชาติใต้ ท้องทะเล เมื่อเวลาผ่านไปคราบน้ำมันที่กระจายตัวอยู่บนผิวน้ำจะเปลี่ยนสภาพเป็นก้อนน้ำมันดิน ซึ่งมีลักษณะเหนียวนุ่ม มีความหนืดสูง เนื่องจากองค์ประกอบส่วนเบาได้ระเหยไปบางส่วน เหลือส่วนหนักที่มีองค์ประกอบคล้ายยางมะตอย
3น้ำทะเลเปลี่ยนสีเป็นปรากฏการณ์ที่แพลงก์ตอนพืชเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำทะเลมีสีเปลี่ยนไปตามสีของแพลงก์ตอนพืชที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศทางทะเล เช่น ออกซิเจนและความเข้มของแสงที่ส่องผ่านในน้ำลดลง บางกรณีจำนวนแพลงก์ตอนที่เพิ่มขึ้นสามารถสร้างสารพิษที่อาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสัตว์น้ำและถ่ายทอดผ่านมาถึงมนุษย์ซึ่งเป็นผู้บริโภคลำดับสุดท้าย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 20 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9746