สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 20 September 2022 23:09
- Hits: 2096
สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอสรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และแนวทางในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเพื่อขอความร่วมมือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน และการบริหารจัดการเรื่องร้องทุกข์ต่อไป [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (29 พฤศจิกายน 2548) ที่รับทราบแนวทางการจัดระเบียบของระบบกระบวนการแก้ไขปัญหาตามข้อร้องเรียนของประชาชนและมอบหมายให้ทุกกระทรวงดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว โดยให้ สปน. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการติดตามผลการดำเนินการและสรุปรายงานผลความคืบหน้าในการดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบทุก 3 เดือน] สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชนในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (เดือนมกราคม-มีนาคม 2565)
1.1 สถิติการแจ้งเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นของประชาชนที่ยื่นเรื่องผ่านช่องทางการ ร้องทุกข์ 1111 รวมทั้งสิ้น 19,193 เรื่อง สามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติ 17,070 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 89 และรอผลการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2,123 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 11
1.2 หน่วยงานที่ได้รับการประสานงานเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นมากที่สุด 5 ลำดับแรก ดังนี้
(1) ส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1,033 เรื่อง กระทรวงสาธารณสุข 749 เรื่อง กระทรวงการคลัง 571 เรื่อง กระทรวงแรงงาน 403 เรื่อง และกระทรวงคมนาคม 350 เรื่อง
(2) รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 224 เรื่อง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 108 เรื่อง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 108 เรื่อง ธนาคารออมสิน 89 เรื่อง การไฟฟ้านครหลวง 88 เรื่อง และการประปานครหลวง 64 เรื่อง
(3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 971 เรื่อง จังหวัดสมุทรปราการ 239 เรื่อง นนทบุรี 227 เรื่อง ชลบุรี 209 เรื่อง และปทุมธานี 189 เรื่อง
2. การประมวลผลและวิเคราะห์เรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็น ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สรุปได้ ดังนี้
2.1 สถิติจำนวนเรื่องร้องทุกข์เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณที่ผ่านมา โดยในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีเรื่องร้องทุกข์ 35,945 เรื่อง ซึ่งน้อยกว่าในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 7,510 เรื่อง (มีเรื่องราวร้องทุกข์ 43,455 เรื่อง)
2.2 ประเด็นเรื่องร้องทุกข์ที่ประชาชนยื่นเรื่องมากที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่
(1) การเสนอและตรากฎหมาย เช่น ขอคัดค้านการจัดตั้งศาลอิสลามในประเทศไทย และขอให้มีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการห้ามจุดพลุและดอกไม้ไฟในช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมทั้งขอให้เพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้จุดพลุและดอกไม้ไฟ ดำเนินการจนได้ขอยุติ 2,390 เรื่อง (ร้อยละ 99.71)
(2) การรักษาพยาบาล เช่น ขอให้มีความเข้มงวดในการปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาล และขอให้จัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รวมทั้งขอให้กำหนดมาตรการในการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงและบุคคลใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,957 เรื่อง (ร้อยละ 92.22)
(3) เสียงรบกวน/สั่นสะเทือน โดยขอให้แก้ปัญหามลภาวะทางเสียงจากสถานบันเทิง สถานประกอบการ ร้านอาหาร บ้านเรือน และวัยรุ่นมั่วสุมรวมกลุ่มแข่งขันรถจักรยานยนต์ส่งเสียงดังรบกวน ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,194 เรื่อง (ร้อยละ 96.14)
(4) ไฟฟ้า เช่น ขอให้แก้ไขปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้อง และซ่อมแซมไฟฟ้าส่องสว่างริมทาง หม้อแปลงไฟฟ้า สายไฟฟ้า และเสาไฟฟ้า รวมทั้งขอให้ขยายเขตการให้บริการไฟฟ้า ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 646 เรื่อง (ร้อยละ 93.76)
(5) โทรศัพท์ โดยขอให้ปรับปรุงระบบการให้บริการทางโทรศัพท์หมายเลขสายด่วน 1422 ของกรมควบคุมโรค หมายเลขสายด่วน 1506 ของสำนักงานประกันสังคมและหมายเลขโทรศัพท์พื้นฐานของสำนักงานเขตและหน่วยงานอื่นๆ ในส่วนภูมิภาค ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 586 เรื่อง (ร้อยละ 90.57)
(6) น้ำประปา เช่น ขอให้แก้ไขปัญหาน้ำประปาไม่ไหล ไหลอ่อน และไม่มีคุณภาพ และขอให้ขยายเขตการให้บริการน้ำประปา ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 430 เรื่อง (ร้อยละ 92.67)
(7) ถนน เช่น ขอให้ปรับปรุงซ่อมแซม/ก่อสร้างถนน พื้นผิวถนน สะพานกลับรถ บาทวิถี ตีเส้นแบ่งช่องการจราจร ขยายช่องทางจราจร ไฟฟ้าส่องสว่างริมทาง และติดตั้งป้ายสัญลักษณ์จราจร รวมทั้งขอให้ปรับปรุงถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางแอสฟัลต์หรือถนนคอนกรีต ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 395 เรื่อง (ร้อยละ 89.16)
(8) ประเด็นเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และเสรีภาพ เช่น ขอความเป็นธรรมในการดำเนินคดีกรณีการเสียชีวิตของนางสาวภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ และขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับการถูกข่มขู่คุกคามและทำร้ายร่างกาย ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 337 เรื่อง (ร้อยละ 85.75)
(9) ประเด็นเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น ขอให้แก้ไขปัญหากลุ่มมิจฉาชีพโทรศัพท์หลอกลวงประชาชน (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) และขอให้ตรวจสอบ ระงับ ตัดสายกรณีเป็นสายโทรศัพท์จากต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเป็นการโทรศัพท์แอบอ้างจากกลุ่มมิจฉาชีพ ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 285 เรื่อง (ร้อยละ 69.54)
(10) บ่อนการพนัน โดยมีการแจ้งเบาะแสการลักลอบเปิดบ่อนและเล่นการพนันประเภทไพ่ ไฮโล ตู้ม้า ตู้สล๊อต บาคาร่า ถั่ว ไก่ชน โต๊ะสนุ๊กเกอร์ การพนันทายผลฟุตบอล หวยจับยี่กี และสลากกินรวบ ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 348 เรื่อง (ร้อยละ 95.60)
2.3 รายงานสรุปการสอบถามข้อมูล แจ้งเหตุ ร้องขอความช่วยเหลือและเสนอข้อคิดเห็น ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ผ่านสายด่วน 1111 (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2565) ซึ่งส่วนใหญ่ประเด็นที่ประชาชนสอบถามข้อมูลและเสนอข้อคิดเห็นมากที่สุดเกี่ยวกับข้อปฏิบัติในการป้องกันการติดเชื้อ และมาตรการในการช่วยเหลือด้านต่างๆ และประเด็นที่ประชาชนขอความช่วยเหลือมากที่สุดเกี่ยวกับการกำหนดแนวทางและมาตรการป้องกัน ช่วยเหลือ เยียวยา สรุปได้ ดังนี้
หน่วย : เรื่อง
ลำดับที่ |
ประเภทเรื่อง |
จำนวน |
ดำเนินการ จนได้ข้อยุติ |
รอผล การพิจารณา |
1 |
การสอบถามข้อมูลและเสนอข้อคิดเห็น |
37,791 |
37,791 |
- |
2 |
ขอความช่วยเหลือและแจ้งเหตุ |
3,488 |
3,142 |
346 |
รวมทั้งสิ้น |
41,279 |
40,933 |
346 |
2.4 การแจ้งเบาะแสการกระทำผิดกฎหมายและการร้องเรียนซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดขอโรคโควิด-19 ผ่านสายด่วน 1111 (ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2564-31 มีนาคม 2565) สรุปได้ ดังนี้
หน่วย : เรื่อง
ลำดับที่ |
ประเภทเรื่อง |
จำนวน |
ดำเนินการ จนได้ข้อยุติ |
รอผล การพิจารณา |
1 |
แจ้งเบาะแสการกระทำผิดกรณีบ่อนการพนัน |
1,228 |
840 |
388 |
2 |
แจ้งเบาะแสการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และแจ้งเบาะแสแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย |
312 |
517 |
195 |
รวมทั้งสิ้น |
1,940 |
1,357 |
583 |
3. ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์
สปน. พบว่า ปัญหาความเดือดร้อนขอประชาชนในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 แม้ว่าจำนวนเรื่องร้องทุกข์จะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 แต่ผลการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับลดลง โดยอาจมีสาเหตุมาจาก (1) ประชาชนไม่ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เช่น กรณีการปรับเปลี่ยนมาตรการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการจัดตั้งศาลอิสลาม (2) หน่วยงานของรัฐขาดการทำงานเชิงรุกในการบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเสนอรูปแบบการประชาสัมพันธ์ที่ขาดความน่าสนใจและยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย (3) ปัญหาเหตุเดือดร้อนรำคาญและการถูกรบกวนจากเสียงของกลุ่มวัยรุ่น ร้านอาหารหรือจากสัตว์เลี้ยงบ่อยครั้ง ซึ่งการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาเป็นเพียงการระงับเหตุเป็นรายกรณีเท่านั้นแต่ยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ และ (4) ประชาชนขอให้หน่วยงานมีการแจ้งผลให้ทราบเป็นระยะรวมทั้งต้องการทราบกรอบระยะเวลาดำเนินการแก้ไขปัญหาและต้องการติดตามผลได้ด้วยตนเอง
4. ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ/การปฏิบัติงาน ดังนี้
4.1 ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ข้อบังคับ ตลอดจนพิจารณาแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับปัญหาหรือสถานการณ์ปัจจุบันรวมถึงสร้างการรับรู้และสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง
4.2 ขอให้ทุกหน่วยงานมุ่งเน้นการทำงานเชิงรุก และนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง ทันสมัย ตรงประเด็น เข้าใจง่าย รวมทั้งประชาสัมพันธ์เน้นย้ำอย่างต่อเนื่อง
4.3 ควรมีการบูรณาการการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากเหตุเดือดร้อนรำคาญเรื่องเสียงดังรบกวนตั้งแต่การระงับเหตุ การบังคับใช้กฎหมาย และการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
4.4 ขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่มีความพร้อมและมีระบบสารสนเทศเรื่องร้องทุกข์บูรณาการฐานข้อมูลเรื่องร้องทุกข์กับ สปน. และให้หน่วยงานกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องทุกข์ รวมทั้งรายงานความคืบหน้าให้ประชาชนทราบเป็นระยะ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 20 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9745